สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ขนาดเล็กทรงกลมปลายแหลม ผลแก่มีสีแดง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การรับประทานสตรอว์เบอร์รี่อาจช่วยบำรุงหัวใจ และรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคมะเร็ง
สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี โดยสามารถรับประทานผลสดหรือนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนูทั้งคาวและหวาน เช่น รับประทานกับสลัดผัก อาหารเช้าซีเรียล โยเกิร์ต แพนเค้ก หรือนำไปทำขนมหวาน สมูทตี้ และแยม
8 ประโยชน์ของสตรอว์เบอร์รี่
สตรอว์เบอร์รี่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน และอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น
1. อุดมไปด้วยสารอาหาร
สตรอว์เบอร์รี่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักกว่า 90 เปอร์เซนต์ โดยสตรอว์เบอร์รี่ 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 7 กรัม โปรตีน 0.6 กรัม และไขมันเพียง 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่ในสตรอว์เบอร์รี่ได้จากใยอาหาร (Fiber) 2 กรัม และน้ำตาล เช่น กลูโคส และฟรุกโตส แต่เป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) เพียง 40 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ สตรอว์เบอร์รี่มีวิตามินซีสูง และเป็นแหล่งของโฟเลต โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส และฟอสฟอรัส รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ เช่น แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) โปรไซยานิดิน (Procyanidin) และแอลลาจิกแทนนิน (Ellagitannins) อีกด้วย
2. บำรุงหัวใจ
การรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ช่วยในการทำงานของหัวใจ ช่วยลดการอักเสบ และช่วยในการทำงานของหลอดเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสตรอว์เบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินซี และโฟเลต ซึ่งช่วยในการทำงานของหัวใจ สตรอว์เบอร์รี่ถือเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สตรอว์เบอร์รี่มีใยอาหารสูง การรับประทานเป็นประจำอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งหากสะสมในร่างกายมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อีกทั้งสารฟลาโวนอยด์ และโพแทสเซียมในสตรอว์เบอร์รี่ยังช่วยลดระดับความดันโลหิตได้อีกด้วย
3. รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ค่าดัชนีน้ำตาลเป็นค่าที่บอกระดับน้ำตาลในเลือดหลังการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และผู้ป่วยเบาหวาน
สตรอว์เบอร์รี่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงทำให้น้ำตาลถูกปล่อยเข้าไปในกระแสเลือดอย่างช้า ๆ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะเพิ่มขึ้นช้า อีกทั้งมีใยอาหารสูง ซึ่งช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้
4. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
วิตามินซีมีส่วนช่วยในการทำงานองระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการสร้างคอลลาเจน ช่วยฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากติดเชื้อ เช่น โรคหวัด และไข้หวัดใหญ่ได้ การขาดวิตามินซึจึงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยง่ายและหายช้า เกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน และฟกช้ำง่าย
ปริมาณของวิตามินซีที่ควรได้รับต่อวันในผู้ใหญ่อยู่ที่ 85–100 มิลลิกรัมต่อวัน การรับประทานสตรอว์เบอร์รี่เพียง 100 กรัม ให้วิตามินซีสูงถึง 60 มิลลิกรัม ซึ่งเกือบเทียบเท่าปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับต่อวัน
5. ช่วยลดน้ำหนัก
สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะให้พลังงาน ไขมัน และน้ำตาลต่ำ อีกทั้งมีใยอาหารสูง จึงช่วยให้อิ่มนาน ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ลดคอเลสเตอรอล และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยรับประทานสตรอว์เบอร์รี่สดแทนขนมหวานในระหว่างวัน หรือรับประทานกับนมพร่องมันเนย สลัดผัก และโยเกิร์ตไขมันต่ำ ทำให้รับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักขึ้น
6. เสริมการทำงานของสมอง
สตรอว์เบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ฟลาโวนอยด์ และแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidins) ซึ่งช่วยปกป้องความเสียหายเซลล์ ลดการอักเสบในร่างกาย ชะลอความเสื่อมของความคิดและความจำ รวมทั้งช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
7. ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
ผลการวิจัยพบว่าสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) และแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโพรไบโอติก (Probiotics) เช่น บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ โดยช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ การรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระยังช่วยต้านการอักเสบในลำไส้ได้ด้วย
8. ป้องกันมะเร็ง
มะเร็งคือโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์จนกลายเป็นก้อนเนื้อ โดยเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การมีอนุมูลอิสระสะสมในร่างกายปริมาณมาก และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์ ผลการวิจัยพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในสตรอว์เบอร์รี่มีส่วนช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ ช่วยป้องกันการเกิดและยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อควรระวังในการรับประทานสตรอว์เบอร์รี่
คนทั่วไปมักรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ได้ตามปกติโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่คนที่มีอาการแพ้สตรอว์เบอร์รี่ และอาการแพ้ข้ามกลุ่มระหว่างละอองเกสรพืชและอาหาร (Pollen-Food Allergy) จำพวกผักผลไม้ และถั่ว ควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังการรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ เนื่องจากทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหลังรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ ทำให้มีอาการคันและชาบริเวณลิ้น คอบวม ผื่นขึ้น ไอ หายใจลำบาก และอาเจียน
การเลือกและรับประทานสตรอว์เบอร์รี่
สตรอว์เบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร โดยมีไขมันและน้ำตาลต่ำ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับเหมาะกับคนรักสุขภาพที่มองหาผลไม้ที่รับประทานง่าย รสชาติอร่อย และดีต่อสุขภาพ สำหรับการเลือกและรับประทานสตรอว์เบอร์รี่อาจใช้แนวทางดังต่อไปนี้
- ควรเลือกซื้อสตรอว์เบอร์รี่ที่ผลเต่ง เนื้อแน่น ผิวสีแดงสดทั้งผล ไม่ควรซื้อสตรอว์เบอร์รี่ที่มีสีขาวรอบ ๆ ขั้วด้านบน เพราะเป็นการการเก็บก่อนที่สตรอว์เบอร์รี่จะสุก ทำให้มีรสเปรี้ยว และเมื่อเก็บจากต้นมาแล้วจะไม่สุกงอมต่อ
- ควรเลือกสตรอว์เบอร์รี่ที่ปลูกด้วยวิธีออร์แกนิก (Organic) เพื่อป้องกันการได้รับสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง
- ก่อนรับประทานสตรอว์เบอร์รี่หรือนำมาประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาด แล้วจึงรับประทานผลสด หรือนำไปประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ เช่น โรยหน้าอาหารเช้าซีเรียล โยเกิร์ต และสลัด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปทำขนมหวาน เช่น เค้ก ไอศกรีม พาย พุดดิ้ง สมูทตี้ หรือแยมก็ได้
- หากรับประทานไม่หมด ควรเก็บสตรอว์เบอร์รี่ในกล่องหรือถุงที่ปิดได้มิดชิด โดยวางผลสตรอว์เบอร์รี่ลงบนแผ่นรองอบขนมหรือกระดาษอเนกประสงค์ที่ใช้ในห้องครัว และนำไปแช่ตู้เย็นหรือเก็บในช่องแช่แข็ง ซึ่งจะช่วยยืดอายุให้สตรอว์เบอร์รี่ไม่เน่าเสียเร็ว
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสตรอว์เบอร์รี่แปรรูป เช่น สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง และสตรอว์เบอร์รี่กระป๋อง ซึ่งมักจะมีสารอาหารน้อยกว่าการรับประทานผลสด และมีน้ำตาลสูงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ