สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงที่อาจมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพ

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้หลายคนล้มป่วยอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งการขาดเรียน ลางาน หรือการเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยบทความนี้ได้รวบรวมโรคที่มักพบเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งวิธีการรับมือและการดูแลตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้มากขึ้น

อากาศเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น หรือสภาพแวดล้อม โดยแต่ละสภาพอากาศก็ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่แตกต่างกันไป โรคที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยตรง อย่างโรคลมแดดหรือภาวะขาดน้ำ รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อม อย่างโรคฉี่หนู ตาแดง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งถ้าหากไม่เตรียมร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอก็อาจทำให้ล้มป่วยได้

สภาพอากาศ

สภาพอากาศที่อาจมาพร้อมความเจ็บป่วย

การเปลี่ยนแปลงของอากาศหลากหลายรูปแบบส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกัน ดังนี้

อากาศร้อน
ประเทศไทยมีอากาศร้อนแทบทั้งปี โดยความร้อนหรืออากาศร้อนอาจส่งผลกระทบ ดังนี้

  • โรคผดร้อน
    โรคนี้เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนที่มีสาเหตุมาจากเหงื่อที่ออกมากเกินไป พบมากในเด็ก มีอาการ คือ ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย พบมากบริเวณข้อพับแขน รักแร้ ขาหนีบ คอ และหลัง โดยอาจมีอาการคันเกิดขึ้นร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดบวมได้
  • โรคลมแดดและโรคเพลียแดด
    ทั้งสองโรคนี่มีสาเหตุมาจากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมภายในร่างกาย โรคเพลียแดดจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผิวหนังเปียกชุ่ม ตัวเย็น และขนลุกเมื่อเจอความร้อน โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งสองโรคมีลักษณะอาการที่คล้ายกันแต่โรคลมแดดจะรุนแรงกว่ามาก ดังนั้น หากเกิดอาการของโรคเพลียแดดหรือพบอาการเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน พูดไม่ชัด หายใจถี่ ชักเกร็ง ตัวแดง ตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอาการของฮีทสโตรค ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
  • ภาวะขาดน้ำ
    เมื่ออุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เหงื่อออกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้แรงหรือออกกำลังกาย ภาวะขาดน้ำอาจส่งผลให้รู้สึกกระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะสีเข้ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และรู้สึกสับสน
  • โรคท้องร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ
    ทั้งสองโรคนี้เป็นผลกระทบทางอ้อมจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งเร่งให้อาหารเน่าเสียเร็วขึ้น รวมทั้งผู้ค้าอาหารสดบางรายอาจใส่สารเคมีเพื่อถนอมอาหารทำให้เกิดโรคท้องร่วงและโรคอาหารเป็นพิษได้
  • โรคพิษสุนัขบ้า
    โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้บ่อยในช่วงที่อากาศร้อนจัดของปี เป็นผลทางอ้อมจากความร้อน โรคนี้เกิดการติดเชื้อไวรัสผ่านการโดนสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ผู้ที่ถูกกัดจะมีไข้ ปวดตามเนื้อตัว น้ำลายไหล และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต โดยเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจโดนสุนัขกัดมากที่สุด ดังนั้น ผู้ปกครองควรระวังและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านเนื่องมีความเสี่ยงที่จะโดนสัตว์อื่นกัดและติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
  • ภาวะทางอารมณ์
    ความร้อนสามารถส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกทำให้หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนง่าย นอนไม่หลับ และอาจทำให้เกิดโรคเครียด จึงควรอยู่ในที่ที่เย็นและหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด 

วิธีการรับมือกับอากาศร้อนสามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่สด สะอาด มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ อยู่ในที่เย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก สวมเสื้อผ้าที่บาง ระบายอากาศ และมีสีอ่อน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและการสัมผัสกับแดดหรือความร้อนโดยตรง รวมถึงการสวมหมวก พกร่ม แว่นตากันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงเพียงพอต่อการปกป้องผิว

อากาศเย็นหรืออากาศหนาว

สภาพอากาศที่หนาวเย็นจะมาพร้อมกับความชื้นในอากาศที่ต่ำหรือที่เรียกกันว่าอากาศแห้ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย ดังนี้

  • โรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่
    สองโรคนี้ทำให้เกิดอาการที่คล้ายกัน เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ และหนาวสั่น เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงกว่า อย่างไอแห้ง ตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนซึ่งกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ควรกังวลคือการติดต่อของโรค โรคนี้สามารถติดต่อผ่านทางการหายใจ สัมผัสน้ำลาย น้ำมูกของผู้ที่มีเชื้อ จึงควรระมัดระวังการติดต่อภายในครอบครัว และผู้ใกล้ชิด
  • โรคหัด
    พบมากในเด็กเล็กช่วง 1-6 ปี โรคหัดนั้นมี 4 ระยะ ระยะแรกคือช่วงฟักตัวของไวรัส ระยะที่สองคือช่วงที่แสดงอาการ อย่างมีไข้สูง จาม หรือตาแดง ระยะที่สามไข้จะค่อย ๆ ลดลงและเกิดผื่นแดงลามไปทั่วตัว โดยในช่วง 4 วันก่อนและหลังเกิดผื่นเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ดูแลและคนรอบข้างจึงควรระมัดระวังเชื้อแพร่กระจาย ระยะสุดท้ายคือระยะผื่น ร่างกายจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ สังเกตได้จากผื่นที่ลดลง นอกจากนี้ โรคหัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างหูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ท้องร่วง และอาจเสียชีวิตได้ในบางราย ดังนั้น เมื่อลูกมีอาการควรรีบพาไปพบแพทย์

วิธีการป้องกันการเจ็บป่วยในหน้าหนาวสามารถทำได้ด้วยการเลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปตามสถานที่สาธารณะเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสการอากาศที่เย็นจัดหรือตากลมนานเกินไป นอกจากนี้ การทาครีมบำรุงผิว งดการอาบน้ำอุ่น และลดจำนวนครั้งในการอาบน้ำในช่วงที่มีอากาศเย็นจัดอาจช่วยป้องกันผิวแห้งลอกได้

ฝน

ฝนตกส่งผลให้มีความชื้นในอากาศสูง อุณหภูมิลดต่ำลง รวมถึงสร้างความชื้นให้สิ่งก่อสร้างและธรรมชาติ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหน้าฝนเช่นกัน ส่วนโรคอื่น ๆ ที่อาจพบเมื่อฝนตกอาจมี ดังนี้

  • โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
    โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ใช่แค่หนูเท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรค แต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างแมวและสุนัขด้วย เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มักติดต่อสู่คนผ่านทางผิวหนังเมื่อย่ำหรือสัมผัสกับพื้นดิน พื้นถนนที่เปียกแฉะมีน้ำขังซึ่งอาจปะปนไปด้วยปัสสาวะและมูลสัตว์ โรคฉี่หนูอาจทำให้ตาแดง ปวดศีรษะ เป็นไข้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อน อย่างไตวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเสียชีวิต
  • ตาแดง
    ตาแดงเป็นภาวะที่ดวงตาติดเชื้อเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้ตาแดง คัน แสบร้อนในดวงตา ตาบวมทั้งด้านในดวงตาและเปลือกตา มีน้ำตาหรือของเหลวไหลออกมา ตาแดงจากการติดเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายและรวดเร็ว หากพบอาการตาแดงในเด็กทารกควรพาไปพบแพทย์ทันที
  • โรคไข้เลือดออก
    โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เชื้อไข้เลือดออกหรือเชื้อเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก แต่กว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์มักไม่แสดงอาการ ไข้เลือดออกนั้นเกิดจากการติดเชื้อครั้งที่สอง หากการติดเชื้อครั้งที่สองไม่ใช่เชื้อเดงกี่สายพันธุ์เดียวกับครั้งแรกอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ไข้เลือดออกแบ่งได้ 3 ระยะ

    ระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีผื่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ระยะที่สองคือระยะช็อกเป็นระยะที่เป็นอันตราย ไข้จะเริ่มลดลง มีเหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปัสสาวะน้อย เลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ความดันโลหิตต่ำ และรุนแรงจนถึงขั้นช็อกและเสียชีวิต ระยะพักฟื้น ในระยะนี้อาการป่วยจะค่อย ๆ ทุเลาลง รู้สึกอยากอาหาร ความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
  • โรคไข้มาลาเรีย
    โรคไข้มาลาเรียหรือโรคไข้จับสั่นมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค มักพบในพื้นที่ธรรมชาติ อย่างป่าทึบ ภูเขาสูง หรือลำธาร โดยในช่วงแรกผู้ป่วยจะเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียนหรือเบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อ่อนเพลีย อาการจับสั่นอาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย โรคไข้มาลาเรียอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

วิธีการรับมือการเจ็บป่วยในฝนนั้นสามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นที่ชื้นแฉะ สวมรองเท้าหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสกับพื้น สวมเสื้อกันฝนหรือร่มเพื่อป้องกันร่างกายชื้น พักผ่อนให้เพียงพอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ทำลายแหล่งน้ำขังเพื่อกำจัดแหล่งการเพาะพันธุ์ยุงหรือเชื้อโรค ทาโลชั่นสำหรับป้องกันยุง และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด

นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรดูแลตนเองเป็นอย่างดีไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงอาการของโรคไม่ให้เกิดหรือรุนแรงขึ้น โดยเฉาพะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มักมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

วิธีดูแลรักษาตนเองเมื่ออากาศเปลี่ยน

เมื่ออากาศเปลี่ยนการดูแลตนเองอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและอาการเจ็บ ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสะอาด
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  4. หมั่นล้างมือเป็นประจำ
  5. เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ รวมถึงการสวมเครื่องป้องกัน อย่างเสื้อกันฝน หน้ากากอนามัย รองเท้ากันน้ำ ถุงมือ หรือแว่นตากันแดด
  6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือพูดคุยในขณะที่ตนเองหรือผู้อื่นมีโรคติดเชื้อ
  7. เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจึงควรได้รับการดูแลอยู่เสมอ
  8. รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามสถานพยาบาล

แม้ว่าสภาพอากาศจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่การดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ว่าอากาศจะเปลี่ยนหรือไม่ หากเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือไม่สามารถรักษาด้วยการดูแลตนเองได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง