สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ ช่วยได้จริงหรือไม่ ?

โรคกระเพาะเป็นโรคที่พบได้บ่อยและหายได้ในระยะเวลาสั้นสำหรับคนที่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไปพบแพทย์หรือซื้อยามารับประทาน และหลายคนนิยมใช้สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะเป็นทางเลือกในการรักษาควบคู่ไปด้วย เพราะสมุนไพรหลายตัวถูกกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติทางยาในการรักษาตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา ทำให้เกิดความสงสัยว่าสมุนไพรรักษาโรคกระเพาะสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน มีความปลอดภัยหรือไม่ในทางการแพทย์

Herbs for Gastritis

โรคกระเพาะ เป็นคำเรียกรวมของกลุ่มโรคที่เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยทั่วไปมักจะหมายถึงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยเกิดจากการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) และการใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ส่วนสาเหตุอื่นอาจมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณ ความเสื่อมของร่างกายจากอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น หากปล่อยไว้เรื้อรังอาจเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงเกิดวิธีการรักษาหลากหลายนอกจากการใช้ยาและแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งสมุนไพรก็เป็นอีกวิธีที่ได้รับความสนใจและนำมาใช้บรรเทาอาการจากโรคกระเพาะอาหาร

ชะเอม เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้เป็นสารให้ความหวานในลูกอมและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังถูกกล่าวถึงฤทธิ์ทางยาที่ใช้สืบทอดกันมายาวนานในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากมีสารสำคัญในชะเอมหลายชนิด โดยเฉพาะ สาร Glycyrrhizin ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการแสบร้อนกลางทรวงอกให้หายไวมากขึ้น

สำหรับข้อสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณสมบัติของชะเอมในการรักษาโรคกระเพาะมีอยู่มากมาย จากการศึกษาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรับประทานชะเอมผสมยาลดกรดในรูปแบบเม็ด จำนวน 6-12 เม็ด ต่างยี่ห้อติดต่อกันทุกวันนาน 4-16 สัปดาห์ พบว่า แผลในกระเพาะหายไวขึ้นหลังจากการรับประทาน แต่เมื่อเปลี่ยนให้รับประทานชะเอมรูปแบบเม็ดที่ไม่มีส่วนผสมของยาลดกรด กลับให้ผลในทางตรงข้ามว่าแผลในกระเพาะอาหารไม่มีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการทดลองอีกชิ้นให้ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร จำนวน 60 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานชะเอม ยาอะมอกซิซิลลิน ยาเมโทรนิดาโซล และยาโอเมพราโซล ส่วนกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มควบคุมเปลี่ยนจากชะเอมมาเป็นยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต จากนั้นตรวจพิสูจน์เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ด้วยวิธี Rapid Urease Test (RUT) เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ผลพบว่าชะเอมช่วยยับยั้งเชื้อได้ดีเช่นเดียวกับยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต จึงอาจเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตอีกทาง    

อย่างไรก็ตาม การศึกษาคุณสมบัติทางยาของชะเอมในการรักษาโรคกระเพาะยังไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัด การรับประทานชะเอมจากอาหารหรือเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ค่อนข้างปลอดภัย หากต้องการลองรับประทานชะเอมก็อาจเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรระมัดระวังในการใช้บางประการตามคำแนะนำ ดังนี้

  • การรับประทานชะเอมปริมาณมากติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์ หรือรับประทานปริมาณน้อย แต่เป็นระยะเวลานาน (5 กรัมต่อวันขึ้นไป) อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง เช่น เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ ประจำเดือนขาด ภาวะคั่งน้ำและเกลือ ความต้องการทางเพศในผู้ชายลดลง ความดันโลหิตสูง ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานชะเอมเกิน 250 กรัมต่อสัปดาห์ เพราะอาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือเกิดภาวะแท้ง รวมถึงคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเช่นกัน เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยต่อทารก
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะคั่งน้ำ ซึ่งส่งผลให้อาการแย่ลง หัวใจเต้นผิดปกติ และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย
  • การรับประทานชะเอมอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่มาจากเหง้าหรือราก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรืออยู่ในช่วงที่รับประทานยาควบคุมความดันเลือดควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน และผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้สมุนไพรชนิดนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัย

ขมิ้น เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่ายอีกชนิด มักถูกนำไปใช้เป็นเครื่องเทศช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันในอาหารหลายประเภทโดยใช้ส่วนของเหง้า อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์จากขมิ้นในรูปแบบของสารสกัด ชา และอาหารเสริมอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ขมิ้นยังมีสารสำคัญที่ชื่อว่า เคอร์คูมิน (Curcumin) และสารต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง และช่วยให้ระบบย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นปกติ

จากการศึกษาถึงคุณสมบัติของขมิ้นกับการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยให้รับประทานขมิ้นทุกวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ กลับไม่ค่อยพบการเปลี่ยนแปลงของแผลในกระเพาะอาหาร และยังมีการทดลองให้รับประทานขมิ้นผงทุกวัน แบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก็ยังให้ผลที่คล้ายคลึงกัน และอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการรักษาด้วยการใช้ยาลดกรด ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมในการรักษาโรค นอกจากนี้ งานทดลองเกี่ยวกับการใช้ชะเอมเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร เพื่อดูประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร โดยในการทดลองให้ผู้ป่วยรับประทานขมิ้น 500 มิลลิกรัมต่อวันหรือยาหลอก ควบคู่กับยาที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม วันละ 2 ครั้ง ได้แก่ ยาคลาริโธรมัยซิน 500 มิลลิกรัม ยาอะมอกซิซิลลิน 1,000 มิลลิกรัม  และยาแพนโทพราโซล 40 มิลลิกรัม หลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ จึงตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในกระเพาะอาหารด้วยวิธี Urea Breath Test (UBT) ผลพบว่าขมิ้นสามารถลดอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย รวมถึงมีความปลอดภัยในการรับประทาน แต่ไม่ช่วยกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

จากข้อมูลในงานวิจัยเกี่ยวกับขมิ้น พบทั้งข้อสนับสนุนที่ช่วยยืนยันคุณสมบัติการรักษาโรคกระเพาะและขัดแย้งบางส่วน จึงยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดถึงผลในการรักษาโรคกระเพาะ ผู้ที่สนใจรับประทานขมิ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคควรทราบข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

  • การรับประทานขมิ้นที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานขมิ้นปริมาณมากหรือมีความเข้มข้นสูง  
  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขมิ้นในรูปของยาที่มีความเข้มข้นสูง หากต้องการรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ช่วยยืนยันความปลอดภัยของการใช้ขมิ้นระหว่างการตั้งครรภ์หรือเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์เสมอ เพราะขมิ้นมีฤทธิ์ลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกหรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย รวมถึงผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้ขมิ้นก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กควรรับประทานขมิ้นด้วยความระวัง เพราะการรับประทานขมิ้นในปริมาณสูงอาจขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • การรับประทานขมิ้นอาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือโรคกรดไหลย้อนมีอาการแย่ลง
  • สารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน

กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรพื้นฐานที่ใช้เป็นส่วนผสมในเมนูอาหาร และยังเชื่อกันว่าอาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อภายในร่างกาย

จากการศึกษานำร่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรับประทานน้ำมันกระเทียมสกัดแคปซูลในผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และตรวจหาแบคทีเรียในกระเพาะอาหารด้วยวิธีเป่าลมหายใจ กลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วย ซึ่งอาจชี้ว่ากระเทียมไม่มีผลต่อการกำจัดหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการรับประทานน้ำมันกระเทียมสกัดในปริมาณเข้มข้นขึ้นและมีระยะเวลานานขึ้นอาจช่วยบรรเทาอาการได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ให้ทดลองรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิดรวมทั้งผสมสารสกัดจากกระเทียมทุกวัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6 เดือน พบว่าระบบการย่อยดีขึ้น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร และยังลดความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังไม่ได้ศึกษาครอบคลุมถึงประสิทธิภาพของกระเทียมเพียงอย่างเดียวต่อการรักษาโรคกระเพาะ แม้ว่าจะมีงานศึกษาอีกหลายชิ้นถึงคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและสารอนุมูลอิสระ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการวิจัยในห้องทดลองและยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ จีงยังไม่สามารถสรุปผลของกระเทียมต่อการรักษาโรคกระเพาะได้

การรับประทานกระเทียมที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่หากสนใจในการรับประทานกระเทียมรักษาโรคก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานและทราบผลข้างเคียงบางประการ ดังนี้

  • การรับประทานกระเทียมอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยในบางราย โดยเฉพาะการรับประทานกระเทียมสด เช่น แสบร้อนภายในช่องปาก กลิ่นปาก กลิ่นตัว แสบร้อนกลางทรวงอก มีแก๊สในท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
  • การรับประทานกระเทียมอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดออกได้สูงขึ้น การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรือผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด อาจได้รับผลกระทบจากการรับประทานกระเทียม จึงควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • กระเทียมอาจลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดลง เช่น ยาซาควินาเวียร์ที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี
  • หญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงกำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียมเป็นปริมาณมากหรือสารสกัดจากกระเทียมที่มีความเข้มข้นสูงทุกรูปแบบ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ยืนยันถึงความปลอดภัย

การรักษาโรคกระเพาะด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

แนวทางในการรักษาโรคกระเพาะจะพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นหลัก ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงส่วนใหญ่หายได้เอง แต่ผู้ที่ปล่อยให้อาการเรื้อรังอาจต้องไปพบแพทย์ การรักษาในเบื้องต้น แพทย์มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น โรคกระเพาะที่เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดหรือมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรหยุดการใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคไม่ให้รุนแรงด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีปัญหาในการย่อยอาหารควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ จะลดอาการจากกรดในกระเพาะอาหารให้น้อยลง
  • หลีกเลี่ยงอาหารทอดหรือไขมันสูง รสจัด หรือมีความเป็นกรดสูง เพราะจะยิ่งสร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองได้ง่ายขึ้น
  • การรับประทานยาแก้ปวดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ และไม่ควรใช้ยาเกินความจำเป็น เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะยาแอสไพรินและยาเอ็นเสด

หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น บางรายจะต้องรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปด้วย ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะมีอยู่หลายตัว เช่น ยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาเคลือบกระเพาะอาหาร

ความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรทางเลือกรักษาโรคกระเพาะ

สมุนไพรบางชนิดอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคกระเพาะเมื่อใช้ควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในทางการแพทย์ การรับประทานสมุนไพรชนิดใด ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยแนะนำปริมาณที่ควรรับประทานและระยะเวลาเหมาะสมในการใช้ โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ หญิงตั้งครรภ์ คุณแม่กำลังให้นมบุตร หรือเด็กเล็ก แต่ทั่วไปการรับประทานสมุนไพรในรูปแบบของอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย สำหรับสมุนไพรในรูปแบบอาหารเสริมควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่รับประทาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย