4 สมุนไพรลดความดัน คุณประโยชน์ที่ควรรู้

สมุนไพรลดความดันเป็นพืชที่หลายคนเชื่อว่าช่วยลดระดับความดันโลหิต และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น กระเทียม กะเพรา ขิง หรือแม้แต่โกโก้ที่คนนิยมนำมาแปรรูปบริโภคเป็นเครื่องดื่มหรือขนมหวาน  แต่การรับประทานสมุนไพรแต่ละชนิดมีข้อควรระวังที่ควรทราบก่อนการรับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีแรงดันขณะหัวใจบีบและคลายตัวสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เมื่อวัดความดันโลหิตแล้วจะมีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจตามมา ซึ่งนอกจากการรักษาทางการแพทย์ การรับประทานพืชสมุนไพรอาจช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตได้เช่นกัน

herbs for decreasing blood pressure

รู้จักสมุนไพรลดความดัน

พืชสมุนไพรลดความดันที่ควรรู้จัก มีดังนี้

1. กระเทียม

กระเทียมเป็นพืชที่มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว มักใช้ในการประกอบอาหารเพื่อปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในเมนูต่าง ๆ หลายคนเชื่อว่าสารอัลซิลิน (Allicin) ที่เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในกระเทียมอาจช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลดีทางการรักษาต่อภาวะความดันโลหิตสูง และโรคอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น

มีงานวิจัยที่ศึกษาผลทางการรักษาของกระเทียมในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูง พบว่าค่าเฉลี่ยความดันโลหิตทั้งตัวบนและตัวล่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว 

แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดว่ากระเทียมช่วยลดอัตราการพัฒนาโรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะความดันโลหิตสูง หรือช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิผลทางการรักษาที่แน่ชัดของกระเทียมในอนาคต อาจเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป

ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียม

การรับประทานกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสม มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น มีกลิ่นปาก มีกลิ่นตัว รู้สึกแสบร้อนในปากหรือในช่องท้อง แสบร้อนกลางอก มีแก๊สในกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง โดยเฉพาะกระเทียมดิบอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออก

บางคนอาจอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น มีผดผื่นคัน ปากบวม หน้าบวม หายใจไม่ออก หลังรับประทานกระเทียมได้ สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร อาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ต่อเมื่อบริโภคกระเทียมเป็นยาและอาหารเสริม

2. โกโก้

โกโก้เป็นพืชที่คนนำมาทำเป็นช็อคโกแลต หรือเป็นส่วนผสมในขนมหวานต่าง ๆ แต่เดิมโกโก้จะมีรสขม แต่ถูกปรุงแต่งภายหลังด้วยการผสมเข้ากับน้ำตาลหรือนม และในโกโก้ก็มีสารคาเฟอีนเช่นเดียวกับในกาแฟ

โกโก้มีสารต้านอนุมูลอิสระชื่อฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่เชื่อว่าอาจจัดเป็นสมุนไพรลดความดัน เนื่อง

จากช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว อาจส่งผลต่อการลดระดับความดันโลหิตได้เล็กน้อยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางรักษาและป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผลการทดลองที่แน่ชัดว่าโกโก้จะมีผลต่อการลดระดับความดันโลหิตในระยะยาว หรือในผู้ที่มีระดับความดันโลหิตปกติ จึงควรมีการศึกษาทดลองในอนาคตต่อไป

ข้อควรระวังในการรับประทานโกโก้

โกโก้มีสารคาเฟอีนและสารเคมีอื่น ๆ ดังนั้น การบริโภคโกโก้ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กระวนกระวาย ปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ ใจสั่น ใจเต้นแรง ท้องร่วง 

สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่รับประทานโกโก้ปริมาณมาก จะทำให้ได้รับคาเฟอีนเกินขนาด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เข่น การคลอดก่อนกำหนด เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย หรือแท้งบุตร และอาจคาเฟอีนอาจส่งผลไปถึงทารกสำหรับผู้ที่ให้นมบุตรด้วย

การรับประทานโกโก้อาจทำให้บางคนมีอาการท้องผูก เสี่ยงต่ออาการปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ รู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน รวมถึงเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

3. กะเพรา

กะเพราเป็นพืชสมุนไพรที่คนมักนำไปใช้ประกอบอาหารอย่างหลากหลาย มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะเพราในหลากหลายรูปแบบ ทั้งยา อาหารเสริม กะเพรามีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็ก

นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว จึงมีความเชื่อว่ากะเพราจัดเป็นสมุนไพรลดความดันด้วย โดยมีผลการวิจัยในสัตว์ พบว่าน้ำมันสกัดจากใบกระเพราช่วยขยายหลอดเลือด ลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด และลดความดันโลหิตได้

ข้อควรระวังในการรับประทานกะเพรา

การบริโภคกะเพราที่มีสารเอสทราโกล (Estragole) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ หากรับประทานกะเพราดิบหรือน้ำมันที่สกัดจากกะเพราติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร

น้ำมันและสารสกัดจากกะเพราอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าจนเสี่ยงทำให้เกิดภาวะมีเลือดออกมากเกินไป และอาจทำให้ความดันโลหิตในเลือดต่ำลงไปอีกในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว

4. ขิง

ขิงเป็นสมุนไพรลดความดันที่มีรสเผ็ดร้อน ส่วนเหง้าจะถูกนำมาประกอบอาหารและสกัดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยา อาหารเสริม สบู่ และเครื่องสำอาง หลายคนเชื่อว่าสารเคมีที่อยู่ในขิงอาจช่วยควบคุมความดันโลหิต รักษาปัญหาในระบบไหลเวียนของเลือด หรือช่วยให้กล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบเส้นเลือดคลายตัวลง 

โดยอาจฝานขิงบาง ๆ ต้มในน้ำร้อน หรือใช้ขิงผงชงดื่ม อาจช่วยลดความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมที่สกัดจากขิงอาจช่วยลดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการรับประทานขิง

โดยทั่วไป การรับประทานขิงในปริมาณที่พอดีไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ในบางรายอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แสบร้อนกลางอก ท้องร่วง อึดอัดไม่สบายท้อง หรืออาจมีความเสี่ยงประจำเดือนมามากกว่าปกติ

การบริโภคขิงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออก เพิ่มระดับอินซูลิน หรือลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ การรับประทานขิงในรูปแบบยาในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีทางการรักษา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนใช้เสมอ

ส่วนผลข้างเคียงของขิงต่อผู้ที่กำลังให้นมบุตรยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การบริโภคขิงอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออก จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเช่นกัน

ข้อคววรู้สำหรับผู้ที่รับประทานสมุนไพรลดความดัน

หลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิผลทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น นอกจากการประทานสมุนไพรลดความดัน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรรับการรักษาจากแพทย์และปฏิบัติตามแนวทางการรักษาอย่างเคร่งครัด หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือกำลังตัดสินใจใช้พืชสมุนไพร อาหารเสริม หรือยาชนิดใดในการรักษาอาการป่วย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

โดยวิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงทางการแพทย์ ได้แก่ การใช้ยาควบคุมระดับความดันโลหิต เช่น ยาเบต้า บล็อคเกอร์ (Beta Blockers) ยาต้านแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (Angiotensin-converting Enzyme Inhibitors) ยาปิดกั้นแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) เป็นต้น

รวมทั้งปรับแนวทางการใช้ชีวิต เช่น จำกัดปริมาณเกลือในอาหารที่รับประทาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่พอดี ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี หากผู้ป่วยมีอาการป่วยที่เป็นสัญญาณอันตราย ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือทันที เช่น ปวดหัวรุนแรง วิตกกังวล หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม เลือดกำเดาไหล