สมุนไพรแก้ร้อนในได้จริงหรือ

ปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารบำรุงสุขภาพ นอกจากจะเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพื่อให้มีรูปร่างที่ดีและสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังเชื่อกันว่าอาหารมีบทบาทสำคัญในการรักษาปัญหาสุขภาพบางอย่าง สมุนไพรแก้ร้อนในนับเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้คนมักนำมาใช้บรรเทาอาการป่วยดังกล่าว โดยสมุนไพรที่นิยมใช้แก้ร้อนในมีหลายอย่าง อีกทั้งสามารถนำมาประกอบอาหารหรือทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วย

สมุนไพรแก้ร้อนใน

ร้อนในหรือแผลร้อนใน คือแผลที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อเมือก มีลักษณะเป็นแผลวงกลมหรือวงรีอยู่ภายในปากหรือบริเวณที่เป็นเยื่อบุ เช่น ด้านในริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือใต้ลิ้น ทั้งนี้ ร้อนในอาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพสำคัญอย่างอื่น การรักษาร้อนในยังไม่ปรากฏแน่ชัด ส่วนใหญ่แล้วแผลมักหายภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างนำสมุนไพรต่าง ๆ มาใช้รักษาอาการแผลร้อนในให้บรรเทาลง โดยเชื่อว่าสมุนไพรบางอย่างมีสรรพคุณลดอาการป่วยของโรคนี้ได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ทำการศึกษาสมุนไพรแก้ร้อนในหลายชิ้นออกมา ดังจะกล่าวต่อไป

ขิง สมุนไพรเผ็ดร้อนชนิดนี้มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียที่มีภูมิอากาศอบอุ่น ลำต้นเป็นใบ ดอกสีเขียวออกเหลือง รากขิงให้รสเผ็ด ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อใช้เป็นยา โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องร่วง ปวดประจำเดือน และอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงแผลร้อนใน งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของขิงที่มีคุณสมบัติในการรักษาแผลร้อนในที่เกิดขึ้นบ่อย เนื่องจากขิงอาจมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรในการต้านอาการอักเสบ ผู้ป่วยจำนวน 15 รายจะได้รับการตรวจอาการแผลร้อนในก่อนเข้ารับการทดลอง การทดลองนี้จะแบ่งช่วงเวลาในการรับสารชีวภาพเป็น 2 ช่วง โดยครั้งแรกผู้ป่วยจะได้รับสารชีวภาพที่เป็นยาหลอกก่อน และเมื่อผู้ป่วยเกิดแผลร้อนในขึ้นอีกครั้งจะได้รับสารชีวภาพที่ได้จากสารสกัดขิง โดยผู้ป่วยต้องใช้สารชีวภาพหลังมื้ออาหารและก่อนนอน ครั้งละ 20 นาที เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงค่อยเริ่มรับสารชีวภาพที่ได้จากสารสกัดขิง ผลการศึกษาพบว่าขนาดของแผลร้อนในจาการบวมอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันแรกที่รับสารสกัดขิง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนได้รับยาใด ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าสารชีวภาพจากขิงนั้นช่วยบรรเทาอาการบวมอักเสบแผลร้อนในได้

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณในการรักษาร้อนในของขิงยังไม่อาจชี้ชัดได้ เนื่องจากไม่ปรากฏความแตกต่างของผลลัพธ์จากการใช้สารสกัดขิงรักษาแผล บรรเทาเจ็บปวด และระยะเวลาที่แผลหายเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จากการรับยาหลอก จึงยังควรมีการศึกษาวิจัยในด้านนี้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการรับประทานขิงเพื่อบำรุง จำเป็นต้องระวังข้อจำกัดเกี่ยวกับสุขภาพบางประการ ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์สามารถรับประทานขิงได้ แต่ควระวังด้วย เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศของทารกในครรภ์ ทำให้แท้งบุตร หรือเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นพบว่าทารกมีอัตราเสี่ยงร่างกายผิดปกติไม่เกินร้อยละ 1-3 อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าการรับประทานขิงทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำ ส่วนผู้ที่ใกล้ครบกำหนดคลอดควรเลี่ยงรับประทานขิง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงตกเลือด ทั้งนี้ ก่อนรับประทานขิงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งในกรณีที่ใช้ยาอื่นร่วมด้วย
  • ผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงรับประทานขิง เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับประทานขิงระหว่างให้นมบุตร
  • ผู้ที่ประสบภาวะเลือดออกควรเลี่ยงรับประทานขิง เนื่องจากขิงอาจเพิ่มอัตราเสี่ยงเลือดออกได้สูง
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาให้แพทย์จัดยารักษาเบาหวานที่เหมาะสมในกรณีที่รับประทานขิง เนื่องจากขิงอาจเพิ่มระดับอินซูลินและลดน้ำตาลในเลือด
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจควรรับประทานขิงในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากการได้รับขิงมากเกินไปอาจทำให้โรคเกี่ยวกับหัวใจบางโรคแย่ลง

ทับทิม พืชชนิดนี้ได้รับความนิยมในการนำมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างยาวนาน โดยนิยมนำแต่ละส่วนของต้นและผลทับทิมมาใช้เป็นยา ผู้คนเชื่อว่าทับทิมสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร  รวมทั้งอาการบวมของเหงือกหรือในช่องปาก แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์อย่างชัดเจน แต่มีงานวิจัยบางชิ้นที่ทำการศึกษาคุณสมบัติทับทิมในการแก้ร้อนใน งานวิจัยชิ้นหนึ่งวัดประสิทธิภาพของสารสกัดทับทิมที่ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน โดยแบ่งผู้ป่วยร้อนในจำนวน 40 ราย ออกเป็น 2 กลุ่มจำนวนเท่ากัน ได้แก่ กลุ่มยาหลอก และกลุ่มสารสกัดทับทิม ผู้ป่วยต้องทาเจลที่มียาหลอกหรือสารสกัดทับทิมตามที่ได้รับวันละ 3 ครั้ง  โดยนำสำลีสะอาดชุบเจลแล้ววางบนแผลประมาณ 1 นาที และไม่รับประทานอาหารหลังทาเจลอย่างน้อย 30 นาที พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดทับทิมและกลุ่มยาหลอกมีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาที่หายเจ็บแผลและอาการแผลหายสนิทแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดทับทิมมีระดับอาการเจ็บแผลน้อยกว่ากลุ่มยาหลอกตั้งแต่วันที่ 1-7 อาจกล่าวได้ว่าสารสกัดทับทิมที่ผสมในเจลสำหรับทาปาก ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 อาจช่วยลดอาการเจ็บแผลร้อนใน รวมทั้งรักษาแผลร้อนในให้หายได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ยกมาข้างต้นเป็นการศึกษากับผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าทับทิมมีสรรพคุณในการรักษาแผลร้อนในอย่างชัดเจน อีกทั้งการรับประทานทับทิมเป็นยาสำหรับบำรุงสุขภาพสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน รวมทั้งระมัดระวังการรับประทานทับทิมในกรณีที่ประสบภาวะสุขภาพต่อไปนี้

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรสามารถดื่มน้ำทับทิมได้อย่างปลอดภัย แต่ควรเลี่ยงบริโภคทับทิมในรูปแบบอื่น เช่น สารสกัดทับทิม เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคทับทิมรูปแบบอื่น
  • ผู้ที่มีความดันต่ำ ควรเลี่ยงดื่มน้ำทับทิม เนื่องจากน้ำทับทิมมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้เล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงความดันต่ำเกินไป
  • ผู้ที่มีอาการแพ้พืชหรือต้นไม้อื่น ๆ ควรเลี่ยงบริโภคทับทิม เนื่องจากมีแนวโน้มเกิดอาการแพ้ได้
  • ควรหยุดบริโภคทับทิมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากทับทิมอาจส่งผลต่อความดันโลหิต ซึ่งรบกวนการควบคุมความดันโลหิตระหว่างและหลังเข้ารับผ่าตัด
  • ไม่ควรบริโภครากและลำต้นของทับทิมในปริมาณมาก เนื่องจากรากทับทิมมีสารที่เป็นยาพิษ

ชะเอม สมุนไพรชนิดนี้มีกรดกลีซีร์ริซิน (Glycyrrhizin) ซึ่งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในกรณีที่บริโภคในปริมาณมาก ผู้คนเชื่อว่าการรับประทานชะเอมจะช่วยบรรเทาโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หรือแม้แต่รักษาอาการเจ็บคอ ไอ ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งรวมไปถึงแก้ร้อนในด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาแผลร้อนในระหว่างเลเซอร์ไดโอด (Diode Laser) ส่วนผสมสมุนไพรอาคาเชีย (Acacia Nilotica) กับชะเอม และยาแอมเลกซานอกซ์ (Amlexanox) โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีแผลร้อนในจำนวน 60 ราย ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน กลุ่มที่ 1 ได้รับส่วนผสมสมุนไพรอาคาเชียกับชะเอม กลุ่มที่ 2 ได้รับยาแอมเลกซานอกซ์ปริมาณ 2 มิลลิกรัม กลุ่มที่ 3 ได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์ไดโอด และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มยาหลอก ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องได้รับการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของขนาดแผลและระดับอาการเจ็บแผลในวันที่ 1 2 และ 5 ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยส่วนผสมสมุนไพรอาคาเชียกับชะเอมมีอาการเจ็บแผลร้อนในลดลงมาก แต่กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพมากทีสุดในการช่วยลดขนาดแผลและอาการเจ็บแผล

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าชะเอมสามารถแก้ร้อนในได้เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์ที่ใช้ในการทำวิจัย ผู้ที่ต้องการรับประทานชะเอมเพื่อบำรุงสุขภาพ ควรระวังข้อจำกัดบางประการ ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรบริโภคชะเอม เนื่องจากการรับประทานชะเอมสัปดาห์ละ 250 กรัม อาจเสี่ยงแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังไม่ปรากฏข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการรับประทานชะเอมสำหรับผู้ที่ให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจไม่ควรรับประทานชะเอม เนื่องจากชะเอมทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย จึงอาจส่งผลให้อาการหัวใจวายกำเริบ รวมทั้งเสี่ยงเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเนื้องอกในมดลูก ควรเลี่ยงรับประทานชะเอม เนื่องจากชะเอมอาจมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจทำให้อาการป่วยแย่ลง
  • ผู้ที่ความดันโลหิตสูงควรบริโภคชะเอมปริมาณน้อย เนื่องจากชะเอมมีคุณสมบัติเพิ่มความดันโลหิต
  • ผู้ที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวมากและผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ควรเลี่ยงการบริโภคชะเอม เนื่องจากอาจลดโพแทสเซียมในเลือดให้ต่ำเกินไป รวมทั้งทำให้อาการป่วยแย่ลงสำหรับผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวมาก
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตไม่ควรรับประทานชะเอม เนื่องจากการรับประทานชะเอมในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้อาการป่วยแย่ลง
  • ผู้ที่ประสบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรเลี่ยงรับประทานชะเอม เนื่องจากชะเอมจะลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งลดแรงขับทางเพศและทำให้อาการป่วยดังกล่าวแย่ลง
  • ควรหยุดบริโภคชะเอมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมความดันโลหิตระหว่างและหลังผ่าตัด

ความปลอดภัยของการใช้สมุนไพรแก้ร้อนใน

แม้ผู้คนจะนิยมใช้สมุนไพรแก้ร้อนใน โดยนำมาประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อบริโภคแก้อาการร้อนในกันอย่างมาก ผู้บริโภคก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการรับประทานสมุนไพรที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่วมด้วย เนื่องจากสมุนไพรแต่ละอย่างมีฤทธิ์หรือคุณสมบัติอันก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางโรค ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งยังทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางตัว อันก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้บริโภค ผู้ที่รับประทานสมุนไพรแก้ร้อนในจึงควรอ่านรายละเอียดสมุนไพรนั้น ๆ รวมทั้งปรึกษาแพทย์ก่อนใช้สมุนไพรต่าง ๆ ทุกครั้ง

วิธีแก้ร้อนในที่ได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพ

นอกจากการรับประทานสมุนไพรแก้ร้อนในตามที่นิยมกันแล้ว ปัญหาสุขภาพนี้สามารถจัดการได้ด้วยการดูแลรักษาที่ถูกวิธี โดยเลือกรับประทานอาหารอ่อน รสจืด ตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก หรือบดอาหารก่อนรับประทาน รวมทั้งเลี่ยงกาแฟ ช็อกโกแลต อาหารรสจัด ผลไม้ที่มีกรด น้ำผลไม้ ถั่ว และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ค่อย ๆ แปรงฟัน ระวังไม่ให้ขนแปรงสัมผัสโดนแผลร้อนใน รวมทั้งบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว กับเกลือ 1 ช้อนชา หากต้องการใช้ยาสามารถหาซื้อยาสำหรับรักษาแผลร้อนใน โดยใส่ยาวันละ 3-4 ครั้ง หรือรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ผสมสารสเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน ยกเว้นผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน