สมุนไพรแก้หวัด บรรเทาอาการป่วยด้วยวิธีธรรมชาติ

สมุนไพรแก้หวัดที่ขึ้นชื่ออย่างกระเทียม หอมแดง ฟ้าทะลายโจร และมะนาว เป็นการรักษาทางเลือกที่หลายคนเชื่อว่าอาจช่วยรักษาหวัดได้ โดยโรคหวัดเป็นการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีไข้ และรู้สึกไม่สบายตัว

Herbs for Common Cold

แม้จะมีการใช้สมุนไพรบางชนิดเพื่อรักษาหวัดมาอย่างยาวนาน แต่ในทางการแพทย์ มีงานค้นคว้าบางส่วนศึกษาสรรพคุณและความปลอดภัยของการใช้สมุนไพรต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคหวัดไว้ ดังนี้

กระเทียม เป็นพืชที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดอย่างยาวนาน เพราะเชื่อว่ากระเทียมอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารชีวภาพหลากชนิด เช่น อาร์จีนีน (Arginine) โอลิโกแซ็คคาไรด์ (Oligosaccharides) ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) ซีลีเนียม (Selenium) และอัลลิซิน (Allicin) ที่อาจช่วยรักษาหวัดได้

จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 146 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมชนิดเม็ดที่ทำจากกระเทียมซึ่งประกอบไปด้วยสารอัลลิซินปริมาณ 180 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เป็นหวัดทั้งหมด 24 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารเสริมจากกระเทียมที่เป็นหวัดทั้งสิ้นถึง 65 ครั้ง ทั้งยังมีระยะเวลาในการเป็นหวัดสั้นกว่าด้วย แต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากอาการหวัดของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงถึงแนวโน้มที่ดีในการรักษาหวัดด้วยกระเทียม แต่หลักฐานการทดลองต่าง ๆ ยังคงมีจำกัด จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมในด้านนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบริโภคกระเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากเหม็น มีกลิ่นตัว แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง โดยเฉพาะการบริโภคกระเทียมสดอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัดควรระมัดระวังในการบริโภคกระเทียมเป็นพิเศษ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้มีเลือดออกมากขึ้น ส่วนผู้ที่กำลังใช้ยาประเภทอื่น ๆ เช่น ยาซาควินาเวียร์ที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี กระเทียมอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตน รวมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาและอาหารเสริมต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการบริโภคกระเทียม

หอมแดง เป็นสมุนไพรที่คนเฒ่าคนแก่นิยมนำมาทุบให้แตกแล้ววางไว้ใกล้ ๆ ศีรษะเพื่อให้เด็กสูดดมตามความเชื่อว่าช่วยรักษาหวัดได้ ในทางวิทยาศาสตร์หอมแดงมีสารประกอบกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) เช่น ไดแอลลิลไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulphide) ไดแอลลิลไตรซัลไฟด์ (Diallyl Trisulfide) เอสอัลลิลซิสเทอีน (S-Allyl Cysteine) และอัลลิซิน (Allicin) ที่เชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจช่วยรักษาโรคหวัดได้

จากการศึกษาโดยให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปีที่เป็นหวัดสูดดมไอระเหยของหอมแดงที่ทุบอย่างหยาบ ๆ ในตอนนอน พบว่าหอมแดงสามารถช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ดี เป็นวิธีที่สะดวกเพราะเป็นพืชที่หาได้ง่าย ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยทั่วไปจึงสามารถรับประทานหอมแดงเป็นอาหาร นำมาทา หรือสัมผัสกับผิวหนังได้อย่างปลอดภัย แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคหอมแดงเสมอ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรด้วย

ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรพื้นบ้านรสขมที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดตั้งแต่โบราณ ซึ่งประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลากชนิด เช่น ไดเทอร์ปีนอยด์ (Diterpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและการติดเชื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

จากการศึกษาในอดีตที่ให้ผู้ป่วยโรคหวัดจำนวน 158 คน รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรชนิดแห้งวันละ 1,200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการป่วยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรับประทานฟ้าทะลายโจรเพียง 2 วัน เช่น อาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล โดยอาการทั้งหมดลดลงภายในวันที่ 4 และอาการที่ลดลงมากที่สุด คือ อาการเจ็บคอ ตามด้วยอาการน้ำมูกไหล และปวดหู ซึ่งไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ จากการใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร

แม้ฟ้าทะลายโจรอาจช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ และการรับประทานฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่เหมาะสมนั้นค่อนข้างปลอดภัยในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ด้วย เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นคันตามร่างกาย ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล เมื่อยล้าตามร่างกาย หากใช้ในปริมาณมากและเป็นเวลานานจะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต เอนไซม์ในตับเพิ่มสูงขึ้น หรือเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยก่อนบริโภคฟ้าทะลายโจรเสมอ เช่น ผู้ที่มีปัญหาในระบบสืบพันธุ์ ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร และทารกแรกเกิด

มะนาว ผลไม้รสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี และสารอาหารอืื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน หลายคนเชื่อว่ามะนาวสามารถบรรเทาอาการจากหวัดได้ โดยเฉพาะอาการเจ็บคอ โดยต่างประเทศมีการใช้มะนาวเหลืองหรือเลมอนเป็นยาพื้นบ้านในการแก้หวัดด้วย แต่การศึกษาในด้านนี้ยังคงมีจำกัด จึงยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ามะนาวจะช่วยรักษาหวัดได้

นอกจากนี้ อาจบรรเทาอาการหวัดได้ด้วยการดื่มน้ำผึ้งผสมกับน้ำมะนาว เพราะช่วยเพิ่มรสชาติให้รับประทานได้ง่ายขึ้น และยังมีสารอาหารบางอย่างในน้ำผึ้งที่อาจช่วยบรรเทาอาการไอจากโรคหวัดได้ด้วย เช่น กรดอะมิโน สารฟลาโวนอยด์ และวิตามินต่าง ๆ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการรับประทานน้ำผึ้งอาจช่วยบรรเทาอาการไอได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

แม้การบริโภคมะนาวเป็นอาหารในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับการบริโภคเป็นปริมาณมาก และการบริโภคในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคมะนาวในปริมาณมาก เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์ถึงการบริโภคมะนาวอย่างเหมาะสม หากกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือมีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่

การรักษาหวัดด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

โดยทั่วไป โรคหวัดสามารถหายเองได้เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสไปจนหมด ส่วนการรักษาเป็นเพียงการบรรเทาให้อาการป่วยของโรคดีขึ้น เช่น อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ และมีไข้ โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาต่อไปนี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

  • ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ และลดไข้
  • ยาแก้คัดจมูก เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกและทำให้หายใจสะดวกขึ้น
  • ยาลดน้ำมูก อาจใช้ร่วมกับยาแก้ปวดลดไข้และยาแก้คัดจมูก เพื่อช่วยให้หายจากหวัดได้เร็วขึ้น
  • ยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการไอและช่วยขับเสมหะที่ทำให้เกิดอาการไอ

นอกจากนี้ การดูแลตนเองให้กลับมามีสุขภาพดีในเร็ววันก็อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัดได้ เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนมาก ๆ กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เสมอ เป็นต้น