สะดือจุ่นคืออะไรและรักษาอย่างไร

สะดือจุ่น (Umbilical Hernia) หรือไส้เลื่อนที่บริเวณสะดือ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวออกมาอยู่ที่สะดือและทำให้สะดือยื่นหรือบวมออกมา โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเด็กร้องไห้ หัวเราะ ไอ หรือขับถ่าย และจะหดตัวลงเมื่ออยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายหรือนอนลง

สะดือจุ่นเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป มักเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก และยังสามารถเกิดกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยเป็นภาวะที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถแก้ไขได้

Umbilical Hernia

สะดือจุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โดยปกติ ทารกที่อยู่ในครรภ์จะมีสายสะดือที่เชื่อมต่อบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังจากที่คลอดแล้วบริเวณดังกล่าวก็จะสมานปิดตามปกติโดยธรรมชาติ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถสมานปิดได้ตามปกติ ก็จะทำให้ผนังหน้าท้องบริเวณสะดือมีจุดที่มีความอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้เกิดไส้เลื่อนที่สะดือหรือสะดือจุ่นได้ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่

สาเหตุของการเกิดสะดือจุ่นหรือไส้เลื่อนที่สะดือในวัยผู้ใหญ่ อาจเกิดจากแรงดันบริเวณหน้าท้องที่มากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ ได้แก่

  • ผู้เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • มีของเหลวในช่องท้องหรือท้องมาน
  • มีประวัติเคยผ่าตัดช่องท้อง
  • มีการล้างไตทางหน้าท้อง
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีปัญหาในการปัสสาวะเนื่องจากต่อมลูกหมากโตมาก 
  • ผู้ที่ยกของหนัก หรือผู้ที่ร่างกายกำลังเบ่งหรือเกร็ง

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสะดือจุ่นมากขึ้น ได้แก่

  • ทารก โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินจะพบว่ามีโอกาสเกิดสะดือจุ่นมากขึ้น
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝดหรือตั้งครรภ์หลายครั้ง อาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นสะดือจุ่นเพิ่มขึ้น

สะดือจุ่นมีอาการอย่างไร ?

อาการสะดือจุ่น จะมีก้อนบวมนูนบริเวณสะดือ โดยจะสามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อเด็กทารกร้องไห้ ไอ หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายกำลังเบ่งหรือเกร็ง และเมื่อเด็กอยู่ในภาวะสงบลง นอนหงายหรือผ่อนคลาย ส่วนที่บวมนูนออกมาก็จะหดเล็กลง โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่หากเกิดในวัยผู้ใหญ่ก็อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องได้ และมีอาการเช่นเดียวกันกับในเด็ก คือมีก้อนบวมนูนบริเวณสะดือและอาจมีอาการเจ็บมาก ซึ่งส่วนใหญ่ควรได้รับการรักษา

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?

เด็ก ส่วนใหญ่จะสามารถหายเองตามธรรมชาติก่อนอายุประมาณ 2-3 ปี โดยหากพบว่าเด็กมีอาการสะดือจุ่นอยู่หลังจากอายุ 2 ปี ก็ควรได้รับการพิจารณาเพื่อผ่าตัดแก้ไข และหากก้อนที่สะดือมีอาการเจ็บ ตึง บวมหรือแดง รวมไปถึงอาเจียน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

ผู้ใหญ่ หากพบว่าไส้เลื่อนที่สะดือมีแนวโน้มว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะในรายที่มีอาการเจ็บร่วมด้วยและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) หรือไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดขาดเลือด (Strangulated Hernia) ซึ่งไส้เลื่อนบางส่วนจะติดค้างอยู่โดยไม่มีเลือดหล่อเลี้ยง จะทำให้เกิดอาการเจ็บมาก ซึ่งในกรณีนี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว นอกจากนั้น หากพบว่าส่วนที่บวมออกมามีอาการบวมมากขึ้น เจ็บ นิ่มลง และมีสีผิวที่เปลี่ยนแปลงไป ควรไปพบแพทย์ทันที

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างไร ?

แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการตรวจดูที่สะดือ และอาจทดสอบดูว่าสามารถผลักกลับเข้าไปในโพรงช่องท้องได้หรือไม่ หรืออาจตรวจสอบว่ามีภาวะไส้เลื่อนติดค้างหรือไม่ เนื่องจากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เพราะอาจทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างขาดเลือดได้

นอกจากนั้น แพทย์อาจทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ช่องท้องเพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจให้มีการตรวจเลือดเพื่อตรวจการติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีภาวะไส้เลื่อนติดค้าง

สะดือจุ่นจำเป็นต้องรักษาหรือไม่ และรักษาได้อย่างไร ?

ในผู้ใหญ่ การผ่าตัดจะมีความจำเป็นเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ส่วนในเด็กส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง โดยในรายที่อาจต้องผ่าตัด แพทย์จะรอดูอาการก่อนตัดสินใจผ่าตัดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • มีอาการเจ็บ
  • มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าครึ่งนิ้วหรือ 1.5 เซนติเมตร
  • เมื่อผ่านไป 2 ปี ขนาดไม่เล็กลง
  • ไม่หายไปเองตามปกติเมื่ออายุ 4 ปี ซึ่งปกติจะหายไปเองเมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี
  • มีภาวะไส้เลื่อนติดค้างหรือภาวะลำไส้อุดกั้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

เบื้องต้น ในระหว่างที่ตรวจร่างกาย แพทย์อาจดันลำไส้ให้กลับไปยังที่เดิมได้ โดยผู้ป่วยไม่ควรดันด้วยตนเอง

การผ่าตัดจะเป็นการรักษาเพื่อผลักเอาไส้เลื่อนที่สะดือกลับไปยังที่เดิม และเพื่อแก้ไขผนังหน้าท้องที่มีความอ่อนแอให้แข็งแรงขึ้น และยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสที่สะดือจุ่นจะกลับมาเกิดขึ้นได้อีกครั้งหลังจากการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดจะไม่ซับซ้อน ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเนื่องจากใช้ยาชาในขั้นตอนผ่าตัด เด็กจะสามารถปิดแผลได้โดยการเย็บปิดแผล ส่วนผู้ใหญ่ที่มีไส้เลื่อนขนาดใหญ่ อาจต้องใช้ตาข่ายแบบพิเศษปิดแผล

หลังจากขั้นตอนการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่อาจมีอาการแสบหรือไม่สบายบริเวณแผลในช่วงที่กำลังพักฟื้น ซึ่งผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากในช่วงอาทิตย์แรก ๆ หลังจากการผ่าตัด และอาจต้องลาพักงานหรือเรียนหนังสือในช่วง 1-2 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติภายในเวลา 1 เดือนหลังจากผ่าตัด

การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ ?

ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดจะพบได้น้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น

  • แผลติดเชื้อจากการผ่าตัดและอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • เกิดการกลับมาเป็นซ้ำ
  • รู้สึกไม่สบายและปวดศีรษ หรือมีอาการชาที่ขา หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว
  • ส่วนใหญ่แผลจะหายดูเป็นปกติดี แต่ในบางรายอาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้