สะระแหน่และคุณประโยชน์ทางการแพทย์

สะระแหน่ (Peppermint/Mint) เป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีการนำใบและน้ำมันมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้หลายคนอาจคุ้นเคยกับรสหรือกลิ่นของสะระแหน่จากยาสีฟัน ขนม อาหารจานต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอางอีกด้วย

สะระแหน่

สะระแหน่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม โฟลิค วิตามินซี วิตามินเอ เป็นต้น และในน้ำมันสะระแหน่ยังมีเมนทอล (Menthol) และเมนโทน (Menthone) เป็นส่วนประกอบหลักอีกด้วย นอกจากนี้ ประโยชน์อื่น ๆ ของสะระแหน่ที่ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้ในทางการแพทย์ยังมีอีกมากมาย โดยที่หลายคนเชื่อว่าการรับประทานสะระแหน่อาจช่วยบรรเทาอาการหวัด อาการไอ การอักเสบของปากและลำคอ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้แปรปรวน รวมถึงน้ำมันสะระแหน่ยังนำไปใช้ทาที่ผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ รักษาอาการแพ้ ผื่นคัน หรือแม้กระทั่งใช้ไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ แต่ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานสะระแหน่ น้ำมันสะระแหน่ หรือการใช้น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

การรักษาด้วยสะระแหน่ที่อาจได้ผล

ลำไส้แปรปรว สะระแหน่ได้ชื่อว่าเป็นยาแก้ปวดเกร็งท้องจากธรรมชาติ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยคลายตัวให้กล้ามเนื้อในลำไส้และอาจช่วยบรรเทาอาการของลำไส้แปรปรวนได้ในระยะสั้น ๆ โดยมีการทดลองทางคลินิกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ในการรักษาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 72 คนที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี รับประทานน้ำมันสะระแหน่หรือยาหลอกวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานน้ำมันสะระแหน่มีอาการดีขึ้นในหลายด้านเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก รวมถึงความรุนแรงของอาการก็บรรเทาลง มีความปลอดภัย ทนต่ออาการข้างเคียงได้ดี และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างรวดเร็

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric-Coated) ต่อโรคลำไส้แปรปรวน โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 90 คนรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้ 1 แคปซูลหรือยาหลอกวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีการประเมินและติดตามผลในสัปดาห์ที่ 1, 4 และ 8 พบว่าความรุนแรงของอาการปวดท้องลดลงและไม่พบผลข้างเคียงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้มีความปลอดภัยในการนำไปใช้และมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดท้องและไม่สบายตัวจากโรคลำไส้แปรปรวน

ถึงแม้ว่าการศึกษา 2 ชิ้นข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงระสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ในการบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน แต่มีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงผลการทดลองที่ต่างออกไป โดยให้ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน 65 คน ที่กำลังมีอาการถ่ายเหลว รับประทานน้ำมันสะระแหน่วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่ามีเพียงอาการปวดท้องที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก แต่หลังจากสิ้นสุดการทดลองไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลับมามีอาการปวดอีกครั้ง รวมถึงอาการอื่น ๆ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าน้ำมันสะระแหน่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้เพียงอย่างเดียว

เจ็บหัวนมในขณะให้นมลูก เกิดจากการดูดหรือกัดซ้ำ ๆ ของทารก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนหยุดให้นม ในน้ำมันสะระแหน่จะมีสารเมนทอลซึ่งมีในปริมาณไม่มาก มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งงานวิจัยอ้างว่ามีการใช้น้ำมันสะระแหน่อย่างแพร่หลายสำหรับอาการไหม้ อาการคัน และอาการอักเสบทางผิวหนัง อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อระบบทางเดินอาหารของทารกเมื่อใช้ในปริมาณเล็กน้อย จากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้น้ำสะระแหน่ในการป้องกันอาการหัวนมแตก โดยสุ่มให้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมลูกและตั้งครรภ์ลูกคนแรกจำนวน 196 คน ใช้น้ำสะระแหน่ทาที่บริเวณหัวนม และมีการติดตามผลในช่วง 14 วันแรกและช่วงสัปดาห์ที่ 6 จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทาน้ำสะระแหน่เป็นประจำทุกวันมีโอกาสเกิดหัวนมแตกและมีอาการเจ็บน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทา และอาจกล่าวได้ว่าน้ำสะระแหน่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการเจ็บหัวนม แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำสะระแหน่ร่วมกับเทคนิคการให้นมลูกที่ถูกวิธี

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองเกี่ยวกับการใช้เจลสะระแหน่ในการป้องกันอาการหัวนมแตก โดยสุ่มให้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกจำนวน 216 คน ใช้เจลสะระแหน่ ขี้ผึ้งลาโนลิน หรือเจลยาหลอกทาบริเวณหัวนมทั้ง 2 ข้าง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และมีการติดตามผลในช่วง 14 วันแรกและช่วงสัปดาห์ที่ 6 พบว่ากลุ่มที่ใช้เจลสะระแหน่มีอาการหัวนมแตกน้อยกว่าในกลุ่มที่ใช้ขี้ผึ้งลาโนลินและเจลยาหลอก ซึ่งอาจแนะนำให้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกและอยู่ในช่วงให้นมใช้เจลสะระแหน่เพื่อป้องกันหัวนมแตก

อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารขณะส่องกล้อง หากไม่ใช้ยาสลบร่วมด้วยอาจทำให้เกิดการเกร็งหรือบีบตัวของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร แพทย์มักใช้ยาแก้ปวดเกร็ง เช่น ยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ (Pyoscine-N-Butylbromide) เพื่อลดอาการดังกล่าว แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งการใช้น้ำมันสะระแหน่มีความปลอดภัยและทำหน้าที่ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร จากการทดลองชิ้นหนึ่งได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีดยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ทางกล้ามเนื้อและการใช้สารละลายน้ำมันสะระแหน่ขณะส่องกล้อง ในผู้ป่วยจำนวน 100 คน พบว่ากลุ่มที่ใช้น้ำมันสะระแหน่มีอาการเกร็งน้อยกว่าและไม่เกิดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการใช้สารละลายน้ำมันสะระแหน่ในขณะส่องกล้อง อาจมีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารได้ดีกว่ายาไฮออสซิน เอ็น บูติลโบรมายด์ และไม่มีผลข้างเคียงที่พบหลังการใช้ที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ปวดศีรษะจากความเครียด เป็นการปวดศีรษะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่งผลให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณศีรษะและลำคอ สามารถรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อระงับอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นจากการทาน้ำมันสะระแหน่จะช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้บางส่วน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา จากการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ต่ออาการปวดศีรษะจากความเครียด โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวน 41 คน อายุตั้งแต่ 18-65 ปี รับประทานพาราเซตามอลขนาด 1,000 มิลลิกรัมหรือยาหลอก และใช้น้ำมันสะระแหน่ความเข้มข้น 10% ในสารละลายเอทานอลหรือยาหลอก ทาให้ทั่วบริเวณหน้าผากและทาซ้ำหลังจากเวลาผ่านไป 15 และ 30 นาที โดยตรวจอาการปวดหลังทาน้ำมันสะระแหน่ไปแล้วทุก 15 นาทีจำนวน 4 ครั้ง พบว่าหลังเวลาผ่านไป 15 นาทีผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันสะระแหน่มีอาการปวดศีรษะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของพาราเซตามอลขนาด 1,000 มิลลิกรัมแล้วไม่พบความแตกต่างแต่อย่างใด และไม่พบการรายงานของผลข้างเคียงจากการรักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียดด้วยน้ำมันสะระแหน่

การรักษาด้วยสะระแหน่ที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ

กลิ่นปาก เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทันตกรรมและอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ มักมีสาเหตุมาจากการสะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ฟันและลิ้น สุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี หรือผลจากโรคในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น ซึ่งการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่อาจมีส่วนช่วยรักษาอาการดังกล่าว จากงานวิจัยทางคลินิกโดยให้นักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 14-18 ปีที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก จำนวน 84 คน กลุ่มหนึ่งใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่ 1% และอีกกลุ่มใช้ยาหลอก โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มใช้น้ำยาบ้วนปากปริมาณ 15-20 มิลลิลิตร เป็นเวลา 30 วินาที และงดรับประทานอาหารหลังบ้วนปาก 30 นาที วันละ 3 ครั้งหลัง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากผลการทดลองพบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสะระแหน่อาจช่วยลดกลิ่นปาก แต่ด้วยระยะเวลาการทดลองเพียง 1 สัปดาห์อาจไม่เพียงพอต่อการสรุปประสิทธิภาพของสะระแหน่ได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไปโดยใช้เวลาในการทดลองที่นานขึ้น

อาการคันในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะเริ่มมีอาการคันบริเวณท้องในช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 จนถึงช่วงต้นของไตรมาสที่ 3 แล้วลุกลามไปที่หน้าอก ปลายแขนและปลายขา บรรเทาได้ด้วยครีมหรือโลชั่นทาผิวที่มีส่วนผสมของเมนทอล แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือสารเคมีดังกล่าวได้  สะระแหน่เป็นพืชสมุนไพรที่มีเมนทอลเป็นส่วนประกอบหลักซึ่งหลายคนเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยลดความร้อนทางผิวหนัง รวมถึงบรรเทาอาการคันที่มีสาเหตุมาจากฮีสตามีนซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในร่างกาย จากการศึกษาทางคลินิกโดยสุ่มให้หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 และมีอาการคันจำนวน 96 คน ทาน้ำมันสะระแหน่ 0.5% ในน้ำมันงาหรือยาหลอก วันละ 2 ครั้งในบริเวณที่มีอาการคัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าน้ำมันสะระแหน่อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการคันในหญิงตั้งครรภ์และไม่ผลข้างเคียง ถึงแม้ว่าผลการทดลองจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ แต่หลักฐานสนับสนุนยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อาการปวดประจำเดือน จากการหดตัวของมดลูก รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติแพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน และเมนทอลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของสะระแหน่ก็อาจมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบด้วยเช่นกัน จากการศึกษาโดยสุ่มให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 18-25 ปี จำนวน 144 คน กลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วันหลังมีประจำเดือน และรับประทานเมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid) ชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันเมื่อมีประจำเดือนในรอบถัดไป และอีกกลุ่มสลับกันโดยรับประทานเมเฟนามิค แอซิด ชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันหลังมีประจำเดือน และรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วันเมื่อมีประจำเดือนในรอบถัดไป การทดลองนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 เดือน พบว่าการรับประทานน้ำมันสะระแหน่ทำให้ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนลดลงเช่นเดียวกับการรับประทานและเมเฟนามิค แอซิด อีกทั้งการรับประทานน้ำมันสะระแหน่ยังพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย รวมถึงเกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่า ถึงแม้ว่าผลการทดลองจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของน้ำมันสะระแหน่ แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป โดยเพิ่มขนาดของน้ำมันสะระแหน่ หรือรับประทานในช่วงหลังระยะตกไข่ด้วย

การรักษาด้วยสะระแหน่ที่อาจไม่ได้ผล

อาการหลังการผ่าตัด การดมยาสลบก่อนการผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนหลังการผ่าตัดได้ประมาณร้อยละ 20-30 และการใช้ยาแผนปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอหรืออาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารระเหยที่มีกลิ่นหอมหรืออะโรมาเทอราพี (Aromatherapy) เป็นทางเลือกในการรักษาถึงแม้หลักฐานสนันสนุนประสิทธิภาพของอะโรมาเทอราพีจะยังไม่เพียงพอก็ตาม มีการศึกษา 6 ชิ้นจาก 9 ชิ้นและผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 402 คน โดยให้สูดดมไอระเหยของไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวฆ่าเชื้อทางผิวหนังทั่วไป พบว่าอาจส่งผลให้อาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัดลดลง แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยาจากการรักษาหลัก และปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้จากการนำน้ำมันหอมระเหยของสะระแหน่มาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าว

อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสะระแหน่ต่อการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดแสดงให้เห็นว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์จากสะระแหน่ชนิดหนึ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 วันหลังการผ่าตัดไม่ส่งผลให้อาการท้องอืดหรือแสบรอนกลางอกดีขึ้น หรือการรับประทานน้ำมันสะระแหน่แบบแคปซูลไม่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดหรือปวดท้องหลังการผ่าตัด

ความปลอดภัยในการรับประทานสะระแหน่

การรับประทานสะระแหน่และน้ำมันสะระแหน่โดยทั่วไปแล้วค่อนข้างปลอดภัยหากใช้รับประทานหรือใช้ทาที่บริเวณผิวหนังในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น แสบร้อนกลางอก มีอาการแพ้ หน้าแดง ปวดศีรษะ เป็นแผลในปาก เป็นต้น

ข้อควรระวังในการรับประทานสะระแหน่โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานสะระแหน่ในรูปแบบอาหารเสริม ยารักษาโรค ในปริมาณที่มากกว่าปกติ จะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในระหว่างนี้จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
  • ผู้ที่มีภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Achlorhydria) ไม่ควรรับประทานน้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้เพราะอาจเกิดการแตกตัวก่อนในระหว่างการย่อยอาหาร
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสีย น้ำมันสะระแหน่ชนิดแตกตัวในลำไส้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่บริเวณทวารหนัก
  • ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้เป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์หากรับประทานน้ำมันสะระแหน่ร่วมกับการใช้ยาดังต่อไปนี้
    • ยาที่เปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ที่ตับ (P450) เนื่องจากการรับประทานน้ำมันสะระแหน่อาจลดประสิทธิภาพการทำงานของยาและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันสะระแหน่ร่วมกับยาดังต่อไปนี้
      • อะมิทริปไทลีน ฮาโลเพอริดอล ออนแดนเซทรอน โพรพราโนลอล ทีโอฟิลลีน เวอราปามิล เป็นต้น
      • โอเมพราโซล, แลนโซพราโซล, แพนโทพราโซล ไดอะซีแพม เนวฟิรนาเวียร์ เป็นต้น
      • ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน  มีลอกซีแคม ไพร็อกซิแคม เซเลโคซิบ วาร์ฟาริน เป็นต้น
      • โลวาสแตติน คีโตโคนาโซล ไอทราโคนาโซล เฟกโซเฟนาดีน ไตรอาโซแลม 
    • ยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรด เนื่องจากวัสดุที่เคลือบผิวเม็ดน้ำมันสะระแหน่บางชนิดอาจเกิดการแตกตัวก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือคลื่นไส้ ดังนั้น ควรเว้นเวลารับประทานยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรดอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำมันสะระแหน่