เมื่อเกิดอาการสะอึกขึ้น หลายคนคงพยายามหาวิธีที่จะช่วยให้หยุดสะอึก ซึ่งวิธีที่อาจเคยได้ยิน เช่น พยายามกลั้นหายใจ ดื่มน้ำ หรือทำให้ตัวเองตกใจ แต่เคยสงสัยไหมว่าการสะอึกนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และหากต้องการหายสะอึกเราควรใช้วิธีใดดี บทความนี้จะอธิบายกลไกและสาเหตุของการสะอึก และบอกเคล็ดลับในการทำให้หายสะอึกอย่างง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้
การสะอึกเป็นอาการทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว โดยเกิดจากการหดตัวอย่างฉับพลันของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง ทำให้เกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว แต่อากาศที่ถูกหายใจเข้ามานั้นถูกกักโดยเส้นเสียงที่ปิดลงทันทีทันใดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ส่งผลให้เกิดอาการสะอึกตามมาในที่สุด
รู้หรือไม่ การสะอึกมีหลายประเภท
การสะอึกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การสะอึกระยะสั้นและการสะอึกต่อเนื่อง โดยอาจแบ่งตามระยะเวลาในการเกิดอาการสะอึกและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึก ซึ่งการสะอึกทั้ง 2 ประเภทจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
การสะอึกระยะสั้น
การสะอึกระยะสั้นหรือการสะอึกแบบทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยและหายได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเกิดขึ้นไม่เกิน 48 ชั่วโมง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่
- ท้องอืด
- รับประทานอาหารรสเผ็ดมากเกินไป
- รับประทานอาหารอย่างรวดเร็วและมากเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม
- กลืนอากาศมากไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม
- อุณหภูมิภายในท้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การรับประทานของร้อนแล้วดื่มน้ำเย็นตาม
- อุณหภูมิภายในห้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
นอกจากนี้ การสะอึกระยะสั้นยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงปัจจัยทางอารมณ์อย่างความเครียด ความตื่นเต้น หรือความกลัวด้วย
การสะอึกต่อเนื่อง
การสะอึกต่อเนื่องหรือการสะอึกแบบเรื้อรัง เป็นอาการสะอึกที่เกิดขึ้นนานกว่า 48 ชั่วโมง มักพบได้ไม่บ่อยแต่เป็นอาการที่ไม่ควรละเลย เพราะอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ควรต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยภาวะสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอาการสะอึกต่อเนื่อง ได้แก่
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ลำไส้เล็กอุดตัน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อในช่องท้อง
- โรคที่กระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกระบังลม เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คอพอก คอหอยอักเสบ
- โรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกที่กระทบสมอง ลมชัก สมองอักเสบหรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน
- โรคที่เกี่ยวกับระบบเผาผลาญ เช่น เบาหวาน
- ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตใจ เช่น ภาวะช็อก ความเศร้า ความตื่นเต้น ความเครียด ความกลัว
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเลือดที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล์ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะขาดแคลเซียมหรือโพแทสเซียมในเลือด
นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการสะอึกต่อเนื่องได้เช่นกัน เช่น ยาชา (Anaesthesia) ยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ยาลดอาการบวมอักเสบกลุ่มคอร์ติโคสเตียร์รอยด์ (Corticosteroids) ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) รวมถึงยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งด้วย
รับมือกับอาการสะอึกอย่างไรให้อยู่หมัด
สำหรับอาการสะอึกระยะสั้น มีวิธีมากมายที่สามารถช่วยให้หายสะอึกได้ ซึ่งแม้ว่าวิธีเหล่านี้จะยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่อันตรายและสามารถทำตามได้ง่าย ดังนี้
- จิบน้ำเย็นจัด
- กลั้วคอด้วยน้ำเย็น
- หายใจในถุงพลาสติก
- กลั้นหายใจระยะสั้นโดยการนับ 1–10 ช้า ๆ
- กลืนน้ำตาลเม็ด กัดมะนาวฝาน หรือใช้ลิ้นแตะน้ำส้มสายชูเบา ๆ
- ทำให้ตกใจหรือทำให้จาม เพื่อให้เกิดการสูดหายใจเข้าอย่างแรง
- ดึงหัวเข่าให้ชิดหน้าอกหรือเอียงตัวไปข้างหน้าเพื่อกดหน้าอกลง
- อุดหูทั้งสองข้างพร้อมกับบีบจมูก แล้วจิบน้ำจากแก้ว 1–2 อึก ซึ่งวิธีนี้อาจต้องให้ผู้อื่นช่วย
อย่างไรก็ตาม หากอาการสะอึกไม่หายไปภายใน 48 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการสะอึกและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะภาวะสุขภาพบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดอาการสะอึก หากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นได้