สะเก็ดแผล คือสะเก็ดแห้งสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้มที่เกิดจากการแข็งตัวของเลือดหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง โดยสะเก็ดแผลอาจช่วยหยุดการไหลของเลือด และป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเลือดมากเกินไป นอกจากนี้ สะเก็ดแผลอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บ แสบ หรือคันบริเวณบาดแผล
การมีสะเก็ดแผลมักเป็นสัญญาณดีที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังฟื้นฟูบาดแผลบนผิวหนัง โดยสะเก็ดแผลอาจอยู่บนผิวหนังจนกว่าร่างกายจะฟื้นฟูบาดแผลสำเร็จ หลังจากนั้นสะเก็ดแผลอาจดีขึ้นได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากมีสะเก็ดแผลเกิดขึ้น ไม่ควรแกะสะเก็ดแผล เพราะอาจทำให้ผิวหนังได้รับความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้แผลหายช้าลงกว่าเดิม
ประโยชน์ของสะเก็ดแผล
เมื่อผิวหนังได้รับบาดเจ็บที่อาจทำให้มีเลือดออก เช่น รอยถลอก แมลงกัดหรือต่อย แผลไหม้ หรือการติดเชื้อต่าง ๆ เลือดที่ไหลออกมาอาจแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดภายในร่างกาย เมื่อลิ่มเลือดบริเวณบาดแผลแห้งอาจกลายเป็นสะเก็ดแผลได้
นอกจากช่วยหยุดการไหลของเลือดแล้ว สะเก็ดแผลอาจมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อร่างกาย เช่น
- หยุดการไหลของเลือด
- ปกป้องบาดแผลจากสิ่งสกปรกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ป้องกันผิวหนังใต้สะเก็ดแผลจากการขาดความชุ่มชื้น
- ช่วยปกคลุมผิวหนังใต้สะเก็ดแผลที่กำลังฟื้นฟู โดยร่างกายอาจสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่เพื่อมาซ่อมแซมผิวหนังบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บ
วิธีรักษาสะเก็ดแผลให้เห็นผลเร็ว
สะเก็ดแผลอาจก่อตัวขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการได้รับบาดเจ็บที่ผิวหนัง และอาจหายได้เองตามธรรมชาติ โดยการรักษาสะเก็ดแผลอาจใช้เวลานาน ซึ่งมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลบนผิวหนัง อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาแผลด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้สะเก็ดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น โดยวิธีการต่าง ๆ อาจมีดังนี้
1. รักษาความสะอาดของสะเก็ดแผล
การรักษาความสะอาดของสะเก็ดแผลจากเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้บาดแผลฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการติดเชื้ออาจนำไปสู่ความเสียหายต่อผิวหนังเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้แผลหายช้าลง
โดยการทำความสะอาดบริเวณสะเก็ดแผล ควรใช้สบู่สูตรอ่อนโยนและน้ำเพื่อทำความสะอาด อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการขัดแผล เพราะอาจทำให้แผลเกิดการระคายเคือง เลือดออก สะเก็ดแผลกลับมาเป็นซ้ำ และอาจส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นได้
2. รักษาความชุ่มชื้นบริเวณสะเก็ดแผล
การรักษาความชุ่มชื้นให้แก่บาดแผลอาจช่วยให้สะเก็ดแผลหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ การรักษาความชุ่มชื้นยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้สะเก็ดแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันแผลและรอยแผลเป็นอีกด้วย โดยอาจทาปิโตรเลียมเจลลีทุกวันเพื่อให้สะเก็ดแผลชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้สะเก็ดแผลเปียกหรือชุ่มชื้นมากเกินไป เพราะอาจทำให้สะเก็ดแผลหลุดออกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
3. หลีกเลี่ยงการแกะสะเก็ดแผล
การเกาหรือแกะสะเก็ดแผลอาจทำให้เกิดแผลเพิ่มเติม และส่งผลให้สะเก็ดแผลหายช้ามากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็น หรืออาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นบริเวณสะเก็ดแผล เช่น บวม หรือปวดแผลเป็นอย่างมาก โดยอาการเหล่านี้มักเป็นสัญญาณหรืออาการของแผลติดเชื้อ
4. ประคบร้อนและประคบเย็น
การประคบเย็นที่บริเวณบาดแผลอาจช่วยลดอาการคัน อาการบวมหรือปวดบริเวณแผลได้ นอกจากนี้ อาจใช้การประคบร้อนร่วมด้วยเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูบาดแผล ทำให้สะเก็ดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้แผลแห้งเกินไป
อย่างไรก็ตาม การประคบร้อนไม่ควรใช้กับแผลเปิด และไม่ควรประคบร้อนภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดอาการบาดเจ็บ เพราะอาจทำให้เลือดกลับมาไหลอีกรอบได้
5. ปิดบริเวณสะเก็ดแผล
หากต้องทำกิจกรรมหรือเพิ่งมีสะเก็ดแผลเกิดขึ้น ควรปิดสะเก็ดแผลด้วยผ้าพันแผลเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่สะเก็ดแผลเพิ่มเติม เนื่องจากอาจทำให้สะเก็ดแผลหายช้า และอาจทำให้เลือดไหลและเกิดอาการบวมได้ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกครั้งเพื่อรักษาความสะอาดของแผล
6. กินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ
ในระหว่างการรักษาสะเก็ดแผล ควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และสังกะสี เพราะสารอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูบาดแผล
ถึงแม้ว่าการมีสะเก็ดแผลเกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังฟื้นฟูบาดแผล อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ หากมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นร่วมกับสะเก็ดแผล เช่น มีหนองไหล มีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกเมื่อสัมผัสโดนแผล หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณที่เกิดสะเก็ดแผลโต เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้