สะเดา หวานเป็นลม ขมเป็นยา จริงหรือไม่

สะเดา พืชยืนต้นที่นอกจากประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารแล้ว ยังนิยมนำแทบทุกส่วนมาใช้เป็นยารักษาโรคมาอย่างช้านาน ทั้งเปลือกไม้ ใบ กิ่ง ก้าน ดอก ผล เมล็ด หรือแม้แต่รากของสะเดาก็ตาม โดยสรรพคุณทางยาของสะเดาที่เชื่อกันนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันมะเร็ง รักษาโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร โรคมาลาเรีย โรคเหงือกและฟัน รักษาเหา ตลอดจนประโยชน์ในการไล่แมลงต่าง ๆ แต่สรรพคุณที่กล่าวอ้างเหล่านี้มีประสิทธิผลจริงหรือไม่ มีการวิจัยใดที่ยืนยันได้บ้าง คุณประโยชน์ที่พอจะมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน มีดังนี้

สะเดา

ดีต่อสุขภาพฟัน ด้วยคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ป้องกันฟันผุและการเกิดคราบหินปูนที่คาดว่าอาจได้จากสะเดา ทำให้ประโยชน์ในด้านนี้ได้รับความสนใจและเริ่มมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสะเดาต่อการบำรุงสุขภาพฟันอย่างหลากหลาย แต่งานวิจัยที่มีล้วนยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ผู้ใช้ไม่ควรคาดหวังผลจากการใช้มากนัก

สำหรับผู้ที่จัดฟันซึ่งมักเผชิญปัญหาในการดูแลความสะอาดของช่องปากนั้น การศึกษาชี้ว่ากรดของสารสกัดเอทานอลจากใบสะเดามีคุณสมบัติช่วยยับยั้งกำจัดเชื้อแบคทีเรียหลาย ๆ ชนิดในช่องปากที่สามารถผลิตกรดและก่อเกิดคราบหินปูนบริเวณซอกฟันที่ติดเครื่องมือทันตกรรมจัดฟันชนิดติดแน่นได้

ส่วนประโยชน์ด้านการป้องกันโรคทางปริทันต์ต่าง ๆ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมหลักเป็นสารสกัดจากสะเดาอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติที่ให้ผลการป้องกันและรักษาโรคเหงือก รวมถึงปัญหากลิ่นปากได้ดี ดังการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยที่มีโรคเหงือกอักเสบอันเกิดจากคราบหินปูนใช้น้ำยาบ้วนปากสะเดา 15 มิลลิลิตร บ้วนปากวันละ 2 ครั้ง นานกว่า 21 วัน ปรากฏว่าน้ำยาบ้วนปากสะเดาให้ผลดีเทียบเท่ากับน้ำยาบ้วนปากคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) โดยช่วยลดเหงือกอักเสบ การมีเลือดออกตามไรฟัน คราบหินปูนสะสม และยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ที่น้อยกว่า

นอกจากนี้ ปัญหาการติดเชื้อระหว่างการรักษารากฟันถือเป็นภาวะที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่ด้วยน้ำยาล้างรากฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium Hypochlorite) นั้นสามารถส่งผลข้างเคียงให้เนื้อฟันบางและอ่อนแอลงได้ จึงมีการศึกษาสมุนไพรทางเลือกธรรมชาติอย่างสะเดา ซึ่งก็มีงานวิจัยที่เป็นเพียงแค่ในห้องทดลองที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบสารสกัดจากใบสะเดากับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ โดยผลลัพธ์พบว่าสะเดามีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญและเทียบเคียงกันได้

กำจัดเหา วิธีกำจัดเหาด้วยสมุนไพรต่าง ๆ เป็นที่นิยมกันอย่างมาก สะเดาเป็นหนึ่งในพืชที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณข้อนี้และถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นใบสะเดาโขลกละเอียดผสมน้ำหรือใช้น้ำมันสะเดาผสมกับแชมพูสระผม แต่ว่าด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นส่วนใหญ่จะใช้แชมพูสะเดาที่สกัดจากเมล็ดสะเดาเป็นส่วนใหญ่

การทดลองหนึ่งในเด็กชายหญิงจำนวน 60 คนที่มีเหาบนศีรษะ และใช้แชมพูเมล็ดสะเดาสกัดปริมาณ 20-30 มิลลิลิตรชโลมให้ทั่วศีรษะเปียกน้ำ พร้อมนวดจนซึมไปถึงหนังศีรษะแล้วล้างออก จากนั้นใช้หวีสางตาม พบว่าให้ผลลัพธ์ต่อการกำจัดเหาที่มีประสิทธิภาพสูงในทุกระยะของการติดเชื้อเหา ตั้งแต่ไข่เหา ตัวอ่อน หรือเหาโตเต็มวัยแล้ว โดยที่ไม่ว่าจะชโลมทิ้งไว้ 10, 15 หรือ 30 นาที ก็ให้ผลไม่แตกต่างกัน ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างการระคายเคือง แสบร้อน หรือมีจุดแดงที่หนังศีรษะ หน้าผาก ลำคอ ตรงบริเวณที่ถูกแชมพูนี้ด้วย

ด้านการทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของแชมพูเพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งเป็นตัวยากำจัดเหา หิด โลน หมัด และแมลงโดยเฉพาะนั้น ยังแสดงให้เห็นว่าแชมพูที่มีส่วนผสมหลักจากเมล็ดสะเดาช่วยฆ่าเหาได้มากอย่างเห็นผลชัด ทั้งยังมีประสิทธิภาพดีกว่าแชมพูขจัดเหาอย่างเพอร์เมทริน ด้วยเหตุนี้สะเดาจึงอาจเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรกำจัดเหาที่น่าลองใช้ เพราะอาจให้ผลดีและไม่เป็นอันตรายเหมือนยากำจัดเหาสารเคมีทั้งหลายที่ผู้ใช้อาจเกิดความระคายเคือง

รักษาเบาหวาน อีกหนึ่งคุณประโยชน์อันเป็นที่นิยมของสะเดาก็คือการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการทดลองกับมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัติข้อนี้ การศึกษาหนึ่งที่ทดลองใช้สารสกัดจากใบสะเดาและน้ำมันเมล็ดสะเดานาน 4 สัปดาห์กับกระต่ายที่เป็นเบาหวานจากตัวขัดขาวในแป้ง พบว่าสะเดาให้ผลใกล้เคียงกับการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) โดยมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวาน

เช่นเดียวกับอีกการทดลองที่เผยว่าการรับประทานสารละลายสกัดจากเปลือกและรากของสะเดา 250 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดสารยูเรีย ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล กลูโคส ไขมัน และสารครีเอตินิน (Creatinine) ในหนูที่มีโรคเบาหวานเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น

ทั้งนี้ แม้ประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสะเดาจะยังไม่อาจระบุได้แน่ชัด แต่เพื่อความปลอดภัยผู้ที่ต้องการลองใช้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดเสมอ เพราะหากการใช้สะเดาได้ผลจริง เมื่อรับประทานควบคู่กับยารักษาเบาหวานหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์เดียวกัน อาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเป็นอันตรายได้

รักษาแผลในกระเพาะ มีการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาจากกรดในกระเพาะอาหารและแผลในกระเพาะอาหาร รับการรักษาด้วยสารละลายที่สกัดจากเปลือกสะเดาที่ถูกแช่แข็งจนแห้ง วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 มิลลิกรัม ผลพบว่าเมื่อรับประทานติดต่อกัน 10 วัน จะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีประสิทธิภาพรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นได้เกือบสมบูรณ์หากรับประทานนาน 10 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สรรพคุณในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารของสะเดายังคงต้องมีการพิสูจน์เพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันระดับประสิทธิภาพในการใช้ได้แน่ชัดกว่านี้

โรคสะเก็ดเงิน ยาโคลทาร์ (Coal Tar) หรือน้ำมันดิบที่เป็นยาสำหรับรักษาโรคผิวหนังภายนอก รวมถึงโรคสะเก็ดเงินนั้น งานวิจัยหนึ่งพบว่าหากนำมาใช้ร่วมกับสารละลายที่สกัดจากใบสะเดา จะส่งผลลัพธ์การรักษาที่รวดเร็วและเห็นผลดีขึ้นได้เมื่อเทียบกับการใช้โคลทาร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่ปรากฏผลข้างเคียงในทางที่ไม่ดีระหว่างการรักษา ทว่าก็เป็นการศึกษาทดลองกับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดไม่ซับซ้อนจำนวน 50 รายเท่านั้น คงต้องรอให้มีงานวิจัยที่ครอบคลุมและการสรุปที่บ่งบอกประสิทธิภาพได้อย่างน่าเชื่อถือกว่านี้ ถึงเวลานั้นสะเดาก็อาจเป็นอีกทางเลือกการบรรเทาอาการจากโรคผิวหนังที่รุนแรงชนิดนี้ได้

โรคมาลาเรีย คุณประโยชน์ต่อการรักษาโรคมาลาเรียที่เราเคยได้ยินกันมานั้น ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยในคนที่สนับสนุนด้านนี้ จึงยังนับว่าคลุมเครืออยู่มาก มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่น่าจะเป็นแนวทางสำคัญต่อการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เช่น การวิจัยในหนูที่ติดเชื้อมาลาเรียแล้วพบว่าสารสกัดจากใบและเปลือกลำต้นของสะเดาช่วยลดจำนวนเม็ดเลือดที่ติดเชื้อได้ หรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่ชี้ว่าสารอะซาไดแรคติน (Azadirachtin) ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มลิโมนอยด์ (Limonoids) รวมถึงสารลิโมนอยด์ชนิดอื่น ๆ ในสารสกัดจากสะเดานั้นอาจมีฤทธิ์ทางชีวภาพต่อยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย

นอกจากการวิจัยในสัตว์ ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของสารสกัดจากใบสะเดาต่อเชื้อปรสิตของโรคมาลาเรีย ซึ่งก็พบว่าจำนวนปรสิตลดลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงอัตราของเซลล์สืบพันธ์ุที่น้อยลงด้วย ซึ่งหากมีการศึกษาเพิ่มเติมในคนที่พบว่าได้ประสิทธิผลเช่นเดียวกันนี้และมีความปลอดภัย สะเดาก็อาจจะเป็นประโยชน์ทางยาต่อการควบคุมการสืบพันธ์ุของเชื้อมาลาเรียและช่วยรักษาโรคสำคัญที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยโรคนี้

โรคหัวใจ มีการกล่าวถึงสรรพคุณของผลสะเดาต่อการรักษาโรคหัวใจว่าทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติในอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก ทว่าไม่ปรากฏที่มาหรือหลักฐานที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัด และปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ด้านนี้ของผลสะเดา มีก็แต่การศึกษาประสิทธิภาพของสารละลายสกัดจากสะเดาซึ่งไม่ได้พิสูจน์กับคนโดยตรง ทว่าใช้หัวใจของกบและกระต่าย โดยพบว่าส่งผลให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจลดลง เพิ่มการไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจ ผลแตกต่างกันตามปริมาณของสารสกัดจากสะเดา ซึ่งจากผลที่พบนี้ หากยืนยันแล้วว่าใช้ได้ปลอดภัยและได้ผลกับคนจริง สะเดาก็อาจเป็นประโยชน์ต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้

ต้านมะเร็ง ประโยชน์ด้านนี้ของสะเดามีให้ได้ยินเช่นกัน แต่ก็ไม่พบข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการศึกษากับมนุษย์ เท่าที่พบยังมีเพียงการทดสอบกับเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการหรือการทดลองในสัตว์เท่านั้น โดยบางงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารนิมโบลิดี (Nimbolide) ในสะเดา เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันมะเร็ง รวมถึงฤทธิ์ในการต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์และการเร่งการตายของเซลล์ที่อาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคมะเร็ง

โรคผิวหนังต่าง ๆ งานวิจัยหลายงานชี้ว่าสารบางชนิดที่พบในสะเดาอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ลดการอักเสบ เป็นที่มาของความเชื่อว่าหากนำส่วนต่าง ๆ ของสะเดามาต้มน้ำอาบ บดใบสะเดาผสมน้ำ หรือใช้น้ำมันสะเดาทาที่ผิวหนังจะช่วยรักษาโรคผิวหนังหลากหลายชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ หูด กลาก รวมถึงสิว แต่จะช่วยได้จริงและปลอดภัยมากน้อยเพียงใดก็ยังต้องรอผลการทดสอบที่เฉพาะเจาะจงในเชิงปฏิบัติกับคนที่อาจมีขึ้นในอนาคตมายืนยัน การจะทดลองทำตามสูตรต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างควรทำอย่างระมัดระวังและเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย

ไล่ยุงและแมลง เป็นอีกหนึ่งสรรพคุณของสะเดานอกเหนือจากด้านสุขภาพที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็มีบางงานวิจัยที่กล่าวว่าการใช้น้ำมันสะเดาทาปกป้องผิวหนังจากยุง หรือการใช้สารสกัดจากใบหรือรากสะเดาเป็นส่วนผสมหลักในยาไล่ริ้นดำนั้นให้ผลค่อนข้างสูง ทว่าบางการทดลองที่ให้ผลตรงกันข้ามก็มีเช่นกัน ซึ่งผลที่ขัดแย้งนี้อาจเป็นเพราะขั้นตอนการทำและตัวทำสารละลายที่แตกต่างกัน ปัจจุบันจึงยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าสะเดาจะมีคุณประโยชน์ในแง่นี้มากน้อยเพียงใด และควรใช้อย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด นอกจากนี้ยังควรระวังในการใช้ เพราะแม้สะเดาจะมีความเป็นพิษต่อผิวหนังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีการศึกษาพบว่าอาจทำให้ระคายเคืองจนเกิดภาวะผิวหนังอักเสบได้

ความปลอดภัยของการใช้สะเดารักษาโรค

สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีสุขภาพดี การใช้สะเดาโดยหวังประโยชน์ด้านการรักษาโรคต่าง ๆ อาจไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากรับประทานติดต่อกันไม่เกิน 10 สัปดาห์ ใช้ทาภายในปากไม่เกิน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากปัจจุบันมีงานวิจัยที่ทดลองโดยใช้เวลาสูงสุดเพียงเท่านี้ และยังไม่พบว่ามีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่หากนำมาใช้ในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานก็อาจไม่ปลอดภัย โดยอาจทำอันตรายต่อตับและไตได้ อีกทั้งยังควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษหากมีภาวะต่อไปนี้

  • แม้ว่าการรับประทานเมล็ดหรือน้ำมันสะเดาจะค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่การให้ทารกหรือเด็กเล็กรับประทานน้ำมันสะเดาอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ง่วงซึม เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง อาการชัก หมดสติ โคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การรับประทานน้ำมันสะเดาและเปลือกของต้นสะเดาค่อนข้างไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
  • เพื่อความปลอดภัย หญิงที่ต้องให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะเดา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าควรจะรับประทานมากน้อยแค่ไหนจึงจะปลอดภัย
  • ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคแอลเอสดีหรือลูปัส โรคข้อรูมาตอยด์ หรือโรคอื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สะเดา เพราะสะเดาอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น ทำให้ยิ่งมีอาการของโรคเหล่านี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการใช้ โดยหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพราะมีงานวิจัยชี้ว่าการรับประทานสะเดาอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเกินไปหากมีการใช้ยาสำหรับโรคเบาหวานอยู่แล้ว ผู้ป่วยอาจต้องปรับลดปริมาณยารักษาโรคเบาหวานที่กำลังใช้
  • งานวิจัยบางงานเผยว่าสะเดาอาจเป็นอันตรายต่ออสุจิ รวมถึงลดโอกาสในการมีบุตรในทางอื่น ๆ ผู้ที่ต้องการมีบุตรจึงควรหลีกเลี่ยง
  • เนื่องจากสะเดาอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและเป็นไปได้ว่าอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงระหว่างหรือหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหยุดใช้สะเดาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
  • ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับสะเดาและส่งผลข้างเคียงรุนแรงตามมา หากกำลังรับประทานยาลิเทียม ยารักษาโรคเบาหวาน หรือยากดระบบภูมิค้มกันต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจลองใช้สะเดา