รู้หรือไม่ ตุ่มหรือก้อนเจ็บ ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณรักแร้และสร้างความรำคาญให้แก่เรานั้น อาจไม่ได้เป็นแค่สิวอักเสบทั่วไป แต่อาจเป็นฝีที่รักแร้ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจกลายเป็นแผลเป็น เกิดฝีซ้ำที่เดิม การติดเชื้อลุกลาม หรือกรณีร้ายแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ฝีที่รักแร้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขน ส่วนมากจะเป็นเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝีที่รักแร้ได้มากขึ้น ได้แก่ โกนขนรักแร้บ่อย เหงื่ออกมากและไม่ได้รักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม หรือมีภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือโรคภูมิแพ้บางชนิด
อาการของฝีที่รักแร้เป็นอย่างไร
ลักษณะของฝีที่รักแร้ที่พบได้บ่อย คือ
- มีตุ่มหรือก้อนที่มีหนองสีเหลืองหรือสีขาวบวมนูนขึ้นมาจากผิวหนังบริเวณรักแร้ ส่วนผิวหนังบริเวณโดยรอบที่เกิดฝีอาจมีสีแดงหรือสีชมพู
- มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่เกิดฝีและบริเวณโดยรอบ อาจมีอาการคันร่วมด้วย
- หากฝีเกิดขึ้นหลายอันในบริเวณใกล้เคียงกัน จะรวมเป็นฝีอันใหญ่ที่เรียกว่าฝีฝักบัว (Carbuncles)
- เป็นไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัวหรือรู้สึกปวดเนื้อเมื่อยตัว
แม้ว่าลักษณะของฝีจะใกล้เคียงกับสิวและอาจทำให้เกิดความสับสนได้ แต่สามารถแยกได้โดยการสังเกตว่าสิวจะเล็กกว่าฝี เนื่องจากสิวเป็นการติดเชื้อที่ต่อมไขมันที่อยู่บนสุดของชั้นผิวหนัง ส่วนฝีเป็นการติดเชื้อภายในรูขุมขนที่อยู่ลึกกว่า ทำให้มีขนาดใหญ่กว่า
นอกจากนี้ ยังมีการอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa) ที่ทำให้เกิดตุ่มบวมและมีอาการเจ็บปวดคล้ายกับฝี ถึงแม้จะไม่ใช่ฝี แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถนำไปสู่การเกิดฝีได้เช่นกัน
เป็นฝีที่รักแร้ ควรทำอย่างไร
หากฝีที่รักแร้มีขนาดเล็กและอาการไม่รุนแรง สามารถใช้สบู่ที่มีฤทธิ์กำจัดแบคทีเรียทำความสะอาดบริเวณที่เป็นฝี หลีกเลี่ยงการสัมผัส กด บีบฝี หรือพยายามระบายหนองออกเอง เพราะอาจทำให้อาการติดเชื้อแย่ลงกว่าเดิม หรือเชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ
นอกจากนี้ อาจประคบร้อนเพื่อให้หนองที่อยู่ภายในฝีระบายออกมา โดยนำผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณฝีนานประมาณ 30 นาที วันละ 4 ครั้ง ซึ่งหากหนองระบายออกก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น และหายได้ภายใน 2–3 วัน
ป้องกันการเกิดฝีที่รักแร้ได้อย่างไร
สิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดฝีที่รักแร้ได้ดีคือ การรักษาสุขอนามัยที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของฝีนั่นเอง เบื้องต้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอด้วยการอาบน้ำให้สะอาด โดยเฉพาะหลังจากเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก เพื่อป้องกันการหมักหมมของแบคทีเรียใต้วงแขน
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว มีดโกน และผลิตภัณฑ์ทารักแร้
- หลีกเลี่ยงการโกนขนรักแร้ เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลที่รักแร้ได้ง่าย หากจำเป็นต้องกำจัดขนรักแร้ ควรระมัดระวังไม่ให้โดนใบมีดบาด หรือใช้วิธีกำจัดขนวิธีอื่น
- หากมีบาดแผลที่รักแร้ ควรรักษาบาดแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดฝีตามมา
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน 5 หมู่ เพราะอาจช่วยเสริมภูมิต้านทานภายในร่างกาย ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ยากมากขึ้น
หากดูแลตัวเองแล้วอาการของฝีที่รักแร้ไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ฝีมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการเจ็บปวด บวม หรือแดงมากขึ้น เกิดฝีหลายจุดในบริเวณใกล้เคียงกันที่เรียกว่าฝีฝักบัว เกิดริ้วสีแดงขึ้นรอบผิวหนังบริเวณที่เป็นฝี ไข้ขึ้น มีอาการหนาวสั่น และไม่สบายตัว ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม