แพ้ขนแมว เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับบางคน หลังจากได้สัมผัส ลูบไล้พุง เกาคาง หรืออุ้มเจ้าแมวเหมียวที่แสนจะน่ารักไว้แนบตัว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอาจเข้าใจผิดว่าขนแมวเป็นสารแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อสารดังกล่าว ทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา
อันที่จริง แพ้ขนแมวนั้นไม่ได้หมายถึงการแพ้เส้นขนของแมวโดยตรง แต่เป็นการแพ้โปรตีนที่พบได้ในขนสัตว์ สะเก็ดผิวหนัง น้ำลาย หรือปัสสาวะของแมว ยิ่งไปกว่านั้นขนแมวยังอาจเป็นแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา และละอองเกสรดอกไม้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการแพ้ได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจหรือสัมผัสกับผิวหนัง
อาการแพ้ขนแมวเป็นแบบไหน
ทาสแมวหรือคนที่เลี้ยงแมวแต่ละคนอาจไวต่อสารก่อภูมิแพ้และมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งหากคนที่แพ้ขนแมวสูดดมหรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากแมวเพียงไม่นานอาจเผชิญกับอาการในระบบทางเดินหายใจและผิวหนังต่าง ๆ ได้ดังนี้
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ปวดแน่นบริเวณใบหน้า
- ไอ จาม น้ำมูกไหลลงคอ มีเสมหะในลำคอ
- น้ำตาไหล ตาแดง คันตา ใต้ตาบวมคล้ำ
- คันบริเวณจมูก เพดานปาก หรือในลำคอ
- คันผิวหนัง เกิดผื่นที่ผิวหนัง หรือผื่นลมพิษ
- ตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง
- หากเป็นเด็กอาจขยี้จมูกบ่อยครั้ง
การแพ้แมวอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อโรคหอบหืดและอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการในระยะยาว เช่น มีปัญหาในการหายใจ แน่นหรือเจ็บหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม ไอ และอาจส่งผลให้มีปัญหาในการนอนหลับได้ด้วย
หากอาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนทางเดินหายใจอุดตัน นอนหลับยาก หรือหายใจมีเสียงหวีด ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ในกรณีที่ปัญหาหายใจมีเสียงหวีดและหายใจไม่อิ่มมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่มแม้เพียงทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำเพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีแก้แพ้ขนแมวง่าย ๆ ที่ได้ผล
เราสามารถปรับพฤติกรรมตนเองบางอย่าง เพื่อลดการสัมผัสหรือสูดดมสารก่อภูมิแพ้จากแมว ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการและหายได้เร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- พยายามรักษาระยะห่างกับแมว งดการสัมผัส กอด คลอเคลียกับแมวให้ได้มากที่สุด และหากต้องสัมผัสตัวแมว ควรล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสทุกครั้ง
- เลี้ยงแมวในระบบเปิดหรือเลี้ยงแมวภายนอกตัวบ้าน โดยจำกัดพื้นที่ไม่ให้แมวเข้ามาได้ เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้จากแมวติดตามที่นอน ข้าวของเครื่องใช้ หรือเฟอร์นิเจอร์
- หมั่นทำความสะอาดบ้าน ชุดเครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงใช้เครื่องดูดฝุ่นและขนแมวเป็นประจำ โดยควรสวมหน้ากากอนามัยขณะทำความสะอาดด้วย
- ใช้เครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA (High–Efficiency Particulate Absorption Filter) ซึ่งจะช่วยดักจับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศได้
- อาบน้ำและหวีขนให้แมวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการหลุดร่วงของขนแมวและการสะสมของไรฝุ่น เชื้อรา หรือละอองเกสรจากตัวแมว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ทางอ้อมได้
- เลิกเลี้ยงแมวถาวรหากการแพ้ขนแมวส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองหรือคนในครอบครัวอย่างมาก
หากมีประวัติแพ้ขนแมวหรือสงสัยว่าตัวเองแพ้ขนแมว แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ล้างจมูกและใช้ยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก ยาหยอดตา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ไปจนถึงยาขยายหลอดลม ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแพ้ขนแมวในระยะยาว โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผลหรือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ยาก แต่การฉีดวัคซีนก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น การรักษากินเวลานานหลายปี ไม่อาจรับประกันได้ว่าโรคภูมิแพ้จะหายไป 100% หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีไม่ควรฉีด ผู้ป่วยแต่ละคนจึงต้องปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนเสมอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบสัญญาณของการแพ้ขนแมวหรือสัตว์ชนิดอื่น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเข้ารับการรักษาหรือข้อคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงของโรคหอบหืด รวมถึงอาการแพ้อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้