อาการปวดท้องมักเป็นอาการที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก และยังเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็กที่พบได้บ่อย โดยสาเหตุอาจมาจากลูกน้อยรับประทานอาหารมากเกินไปหรืออยากเข้าห้องน้ำ แต่อาการบางอย่างจากระบบย่อยอาหารในเด็กก็อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติและเรียนรู้ว่าสัญญาณเหล่านั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งจะช่วยให้ง่ายต่อการดูแลลูกน้อยให้กลับมามีสุขภาพดีได้เร็วขึ้น โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็กที่พบได้บ่อยมาให้ได้ศึกษากัน
4 สัญญาณเตือนปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็ก
โดยทั่วไป อาการที่บ่งบอกถึงปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็กอาจจะไม่รุนแรงและหายไปได้เอง ซึ่งสัญญาณหรืออาการที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยบ่อยครั้งมีดังนี้
อาเจียน
อาเจียนในเด็กอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อไวรัส เมารถ อาหารเป็นพิษ มีไข้ ไอมากเกินไป รับประทานอาหารมากเกินไป ตื่นเต้น ประหม่าหรือกังวลมากเกินไป เป็นต้น บางครั้งก็อาจเกิดได้จากโรครุนแรง อย่างเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ หรือลำไส้อุดตันได้อีกด้วย ซึ่งเด็กที่อาเจียนมักจะท้องเสีย ปวดท้อง หรือมีไข้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าลูกอาเจียนบ่อยครั้ง อาเจียนปนเลือดหรือน้ำดี ไม่สามารถดื่มน้ำได้ พบสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างปัสสาวะน้อยลง ริมฝีปากแห้ง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือดูรู้สึกไม่สบาย นี่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ปวดท้อง
ปวดท้องเป็นอาการที่อาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพมากมาย ส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากภาวะท้องผูก ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ไวรัสลงกระเพาะ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และการรับประทานอาหารมากจนเกินไป นอกจากนี้ เด็กยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยในบางสาเหตุ เช่น เรอ ปวดเกร็งหน้าท้อง คลื่นไส้ หรือรู้สึกไม่สบายตัว ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจอธิบายไม่ถูกว่าปวดท้องเพราะต้องการขับถ่าย ผู้ปกครองอาจลองพาลูกไปเข้าห้องน้ำดูก่อนและคอยสังเกตอาการเป็นระยะ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือปวดท้องนานกว่า 1 วัน ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ท้องผูก
เหตุผลที่ทำให้เด็กเกิดการท้องผูกอาจมาจากความเครียดเมื่อต้องฝึกขับถ่าย รู้สึกอายเมื่อต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ รู้สึกกลัวว่าจะเจ็บขณะขับถ่าย ไม่อยากเลิกเล่นสนุก รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารน้อย หรือใช้ยาบางชนิด แต่คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการขับถ่ายของลูก โดยเด็กที่มีอาการท้องผูกมักจะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้อุจจาระแข็งเป็นก้อน ถ่ายยาก และรู้สึกเจ็บหรือมีเลือดปนขณะขับถ่าย
ท้องเสีย
เด็กที่มีอาการท้องเสียจะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาหารเป็นพิษ ภูมิแพ้อาหาร ปัญหาลำไส้ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายของเด็กขาดน้ำหรือดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้
อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนอาจจะอธิบายความผิดปกติหรืออาการที่ตนเองรู้สึกได้ไม่ถูก แต่หากผู้ปกครองรู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ก็สามารถพาลูกไปพบแแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดได้ แม้ว่าเด็กจะมีอาการของระบบย่อยอาหารไม่ชัดเจน อาการยังไม่รุนแรง มีอาการเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ตาม
เคล็ดลับการดูแลปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็ก
ปัญหาระบบย่อยอาหารในเด็กจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่ผู้ปกครองอาจลดบรรเทาอาการได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้
อาเจียน
คำแนะนำในการดูแลเมื่อเด็กอาเจียนมีดังนี้
- ให้เด็กดื่มน้ำสะอาดทีละนิด หากดื่มแล้วอาเจียนออกมา ควรรอประมาณ 20-30 นาที แล้วลองให้ดื่มน้ำอีกครั้ง หากอาเจียนเกิน 2 ครั้ง คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ หรืออาจจะให้ดื่มน้ำเกลือแร่ในปริมาณที่แพทย์แนะนำ
- เด็กวัยกำลังหัดเดินควรรับประทานเกลือแร่ 1 ช้อนชา น้ำผลไม้แบบเจือจาง หรือน้ำซุปใสทุก ๆ 15 นาที
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากพบสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา เด็กไม่ปัสสาวะหรือปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเข้ม กระหม่อมบุ๋ม เป็นต้น
- หลังผ่านไปแล้ว 3-4 ชั่วโมง หากเด็กไม่อาเจียนซ้ำ ควรให้ดื่มน้ำในปริมาณมากขึ้น
- หากไม่อาเจียนซ้ำหลังจากผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมง ควรให้เด็กดื่มนมแม่หรือนมผงตามปกติ เด็กวัยหัดเดินควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารรสจัด ของทอด หรือของมัน
- เด็กสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติหากหยุดอาเจียนไปแล้ว 1 วัน
ปวดท้อง
คำแนะนำในการดูแลเมื่อเด็กปวดท้องมีดังนี้
- คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามให้ดื่มน้ำมาก ๆ โดยอาจจะเป็นน้ำสะอาดหรือน้ำผลไม้ก็ได้
- ไม่ควรบังคับให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณมากหากเด็กรู้สึกไม่สบาย
- หากเด็กรู้สึกหิว ควรเลือกอาหารอ่อนที่ย่อยได้ง่ายให้เด็กรับประทาน เช่น แครกเกอร์ ข้าว กล้วย หรือขนมปัง เป็นต้น
- ควรอาบน้ำอุ่นให้เด็กหรือประคบหน้าท้องด้วยถุงน้ำร้อน แต่ไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนจนเกินไป เพราะอาจลวกผิวหนังได้
- โน้มน้าวให้เด็กพยายามขับถ่ายบ่อย ๆ
- หากเด็กมีอาการปวดท้องมาก ควรรับประทานยาพาราเซตามอล โดยคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านฉลากยาประกอบด้วย เพื่อให้เด็กได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสม แต่ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้ เช่น ปวดท้องด้านขวาที่อาจเป็นอาการของไส้ติ่ง ปวดช่องท้องด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะอาการปวดรุนแรง แย่ลง หรือไม่หายไปภายใน 1 วัน ปวดหรือแน่นเมื่อกดช่องท้อง ท้องบวมหรือแข็ง ขาหนีบหรืออัณฑะบวม เจ็บบริเวณอัณฑะ มีไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้ อาเจียนหรือท้องเสียบ่อย ๆ เลือดออกบริเวณทวารหนัก อาเจียนหรืออุจาระปนเลือด บาดเจ็บที่ท้อง เป็นต้น
ท้องผูก
คำแนะนำในการดูแลเมื่อเด็กท้องผูกมีดังนี้
- คุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีใยอาหารสูงให้เด็กรับประทาน เช่น ผัก ผลไม้ ซีเรียลที่มีใยอาหารสูง ขนมปังธัญพืช ถั่วชนิดต่าง ๆ ป๊อปคอร์น หรืออาหารที่มีโพรไบโอติกอย่างโยเกิร์ต เป็นต้น
- พยายามให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ ร่วมกับการดื่มนม รวมทั้งไม่ให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป โดยเด็กเล็กไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 120 มิลลิลิตรต่อวัน ขณะที่เด็กโตไม่ควรเกิน 180 มิลลิลิตรต่อวัน
- ใช้ยาช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม โดยให้เด็กรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันท้องผูกซ้ำ
- ฝึกให้เด็กขับถ่ายให้เป็นวลา ทั้งในตอนเช้าหรือหลังมื้ออาหาร
ท้องเสีย
คำแนะนำในการดูแลเมื่อเด็กท้องเสีย มีดังนี้
- เด็กที่ท้องเสียควรดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่หรืออาจนำน้ำเกลือแร่เด็กมาดัดแปลงทำเป็นไอศกรีม เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น โดยให้รับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็กวัยหัดเดินควรรับประทานอาหารอ่อน และเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดหรือของทอด หากอาการท้องเสียของเด็กดีขึ้น จึงค่อย ๆ ให้กลับมารับประทานอาหารตามปกติ
- ห้ามให้เด็กรับประทานยาแก้ท้องเสียจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากแพทย์
- หากพบสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที