สับปะรด เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคสับปะรดอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จึงพยายามหาข้อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของสับปะรด เพื่อประสิทธิผลทางสุขภาพและการรักษาอันจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
ลักษณะทางกายภาพที่เด่นชัดของสับปะรด คือ ผลไม้ที่มีตาอยู่รอบผล โดยที่เห็นเป็นตาเหล่านั้นแท้จริงแล้วเป็นดอกเล็ก ๆ ของสับปะรด ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ทำให้สับปะรดแตกต่างจากผลไม้ชนิดอื่น ด้านบนของผลจะมียอดใบเป็นจุกซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่าสับปะรดผลนั้นพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้วหรือไม่ โดยสับปะรดเป็นผลไม้ที่ปลูกได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้งและมีน้ำน้อย และจะโตเต็มที่ในเวลาประมาณ 18 เดือน
ในสับปะรดอุดมไปด้วยกรดซิตริกหรือกรดมะนาว (Citric) และกรดมาลิก (Malic) ที่เป็นสารให้รสเปรี้ยว โดยมีกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic) หรือวิตามินซี ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกายรวมอยู่ด้วย
ส่วนอีกหนึ่งสารสำคัญที่พบในสับปะรด คือ เอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเชื่อกันว่าสารนี้อาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต้านการอักเสบ หรือกระทั่งมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกที่ผิดปกติ รวมถึงอาจช่วยชะลอการแข็งตัวของเลือดได้
ดังนั้น นอกจากการบริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน สับปะรดยังเป็นหนึ่งในผลไม้สำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและศึกษาประสิทธิผลของมัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพ ดังเช่นประเด็นที่สำคัญ ต่อไปนี้
ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตามข้อต่อร่างกายหรือข้อติด ด้วยสมมติฐานที่ว่าสารโบรมีเลนจากสับปะรดอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต้านกระบวนการอักเสบได้ จึงอาจมีประสิทธิผลต่อการรักษาข้อเสื่อมได้ด้วย ทำให้เกิดการทดลองให้สารโบรมีเลนเพื่อการรักษาในผู้ป่วยข้อเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรงเป็นเวลา 12 สัปดาห์ แต่ผลการทดลองพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงและประสิทธิผลทางการรักษาที่ปรากฏขึ้นแต่อย่างใด
ในขณะที่อีกหนึ่งงานทดลองในลักษณะคล้ายกัน ที่มีการใช้สารโบรมีเลนร่วมกับการใช้ยาทริปซิน (Typsin) หรือรูติน (Rutin) เปรียบเทียบกับการใช้ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ในการทดลองกับผู้ป่วยข้อเสื่อมบริเวณสะโพก ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การใช้สารโบรมีเลนร่วมกับการใช้ยาทริปซินหรือรูตินมีผลทางการรักษาเท่ากับการใช้ยาไดโคลฟีแนค
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอจะยืนยันประสิทธิผลทางการรักษาของสารสกัดโบรมีเลนจากสับปะรดต่อภาวะข้อเสื่อมหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป
แผลไฟไหม้ คือ แผลบริเวณผิวหนังและร่างกายที่เกิดจากความร้อนและเปลวไฟเผาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อตามร่างกายบริเวณต่าง ๆ มีงานค้นคว้าหนึ่งที่ทดลองนำสารสกัดโบรมีเลนจากสับปะรดมาทาเพื่อรักษาแผลไฟไหม้ในผู้ป่วย 130 ราย ที่มีแผลรุนแรงในระดับที่ 2-3 เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้ววัดผลจากเนื้อเยื่อตายของบาดแผลที่แพทย์จำเป็นต้องตัดเล็มออก ซึ่งพบว่าสารสกัดโบรมีเลนอาจส่งผลทำให้มีเนื้อเยื่อตายจากแผลไฟไหม้ลดน้อยลงได้
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการทดลองบางส่วนและยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนรองรับการใช้สารสกัดโบรมีเลนเพื่อการรักษาแผลไฟไหม้แต่อย่างใด จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป
Sinusitis เป็นภาวะที่เยื่อบุบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบบวมจากการติดเชื้อ ทำให้มีอาการอย่างคัดจมูก มีน้ำมูกข้น ปวดบริเวณจมูก ตา โหนกแก้ม หน้าผาก ฟัน ไอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีงานทดลองหนึ่งที่นำสารโบรมีเลนที่สกัดจากสับปะรดมาทดสอบประสิทธิภาพทางการรักษาไซนัสอักเสบ ด้วยการให้เด็กที่ป่วยด้วยไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 116 ราย บริโภคสารโบรมีเลน ผลการทดลองพบว่าสารโบรมีเลนช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการต่าง ๆ จากไซนัสอักเสบลงเมื่อเทียบกับการรักษาไซนัสอักเสบโดยทั่วไป
ถึงจะมีผลลัพธ์ที่วัดได้จากบางงานทดลองที่คล้ายกัน แต่ประสิทธิผลของสารโบรมีเลนจากสับปะรดในด้านการรักษาไซนัสอักเสบยังคงไม่ชัดเจนเพียงพอ ควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป และควรเน้นไปที่ประสิทธิผลทางการรักษาบรรเทาอาการเป็นหลัก
มะเร็ง เป็นโรคร้ายซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อที่แบ่งตัวผิดปกติ มีการคาดว่าสารประกอบในสับปะรดอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกที่ผิดปกติอย่างเซลล์มะเร็งได้ จึงมีการศึกษาค้นคว้าในด้านนี้ และพบว่าสารโบรมีเลนลดความเป็นพิษของเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์เพื่อการวางแผนรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อไปในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองอื่น ๆ ที่ศึกษาประสิทธิภาพของสารโบรมีเลนจากสับปะรดในผู้ป่วยมะเร็งไม่อาจแสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจนในด้านคุณประโยชน์ในการรักษา และมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่สำคัญ จึงควรศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดรอบคอบเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดในอนาคต
อาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Soreness หรือ Myalgia) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุ การออกกำลังกายอย่างหนัก หรือมากเกินไป มีความเชื่อที่ว่าสารโบรมีเลนในสับปะรดอาจช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดระบบตามกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายได้ แต่หลังมีการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้กลับพบผลลัพธ์ว่า การบริโภคสารโบรมีเลนทันทีหลังการออกกำลังกายอย่างหนักไม่ได้ช่วยลดอาการเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และไม่ได้มีผลต่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีอีกงานค้นคว้าหนึ่งที่ให้ผู้ร่วมทดลองจำนวน 40 ราย ออกกำลังกายอย่างหนักด้วยแขนข้างที่ไม่ถนัด หลังจากนั้นจึงบำบัดด้วยการให้สารโบรมีเลน ยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน และยาหลอกทันทีหลังการออกกำลังกาย ผลการทดลองกลับพบกว่าไม่มีความแตกต่างทางการรักษาของสารโบรมีเลนและยาไอบูโพรเฟน และสารทั้ง 2 ชนิดนี้ก็ไม่มีผลทางการรักษาต่อปัญหาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ หรือความเจ็บปวดบริเวณข้อพับแขนแต่อย่างใด
ดังนั้น สมมติฐานถึงประสิทธิภาพของสารโบรมีเลนในสับปะรดต่ออาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ ถือได้ว่ายังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่พิสูจน์ได้ในขณะนี้
สับปะรดมีประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่
แม้จะมีข้อมูลด้านการทดลองและงานค้นคว้าวิจัยมากมายเกี่ยวกับสารเคมีในสับปะรด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารโบรมีเลน แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ชัดเจนถึงประสิทธิผลทางสุขภาพต่อการรักษาโรค ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวัง และคำนึงถึงปัจจัยทางสุขภาพของตนก่อนการบริโภค ไม่บริโภคสับปะรดหรือใช้สารสกัดจากสับปะรดเพื่อหวังผลทางการรักษาปัญหาสุขภาพด้วยตนเอง หากไม่มั่นใจหรือมีข้อสงสัยประการใด ควรศึกษาหาข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติมและปรึกษาแพทย์ก่อน
ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคสับปะรด
ปริมาณที่พอดีสำหรับการบริโภคต่อวัน คือ เนื้อสับปะรด 2 ชิ้น ซึ่งจะมีวิตามินซีอยู่ประมาณ 100 มิลลิกรัม ส่วนสับปะรดที่ถูกแปรรูปแล้วอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำสับปะรด ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักมีสารโบรมีเลนอยู่ประมาณ 500 มิลลิกรัม
ส่วนใช้สารโบรมีเลนที่เป็นสารสกัดจากสับปะรดเพื่อผลทางการรักษา ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาปริมาณตามความเหมาะสม โดยปริมาณทั่วไปอยู่ที่ครั้งละ 40 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน
ความปลอดภัยในการบริโภคสับปะรด
ผู้บริโภคทั่วไป
- โดยทั่วไป การบริโภคสับปะรดจะปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่พอดี หรือไม่เกินกว่าปริมาณที่แนะนำ
- สารโบรมีเลนในสับปะรดมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม สารนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ มีผดผื่นคันตามผิวหนัง
- การรับประทานสับปะรดมากจนเกินไปอาจทำให้มีอาการปากบวมหรือแก้มบวม ริมฝีปากหรือมุมปากอักเสบได้
- การรับประทานน้ำสับปะรดที่ยังไม่สุกเต็มที่อาจทำให้อาเจียนอย่างรุนแรงได้
ผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แม้ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอเกี่ยวกับอันตรายจากการรับประทานสับปะรดในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แต่ผู้บริโภคควรระมัดระวังและรับประทานสับปะรดในปริมาณที่พอดีเท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่อตนเองและทารก
- ผู้ป่วยภูมิแพ้หรือมีภาวะภูมิไวเกิน หากเป็นผู้ที่แพ้สารประกอบใด ๆ ในสับปะรด ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสับปะรดและอาหารบางชนิด หรือหลีกเลี่ยงสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะเดียวกันได้ เช่น แครอท ข้าวสาลี ผักชีฝรั่ง ผักชีล้อม สารลาเท็กซ์ ละอองเรณูของต้นหญ้า เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยไม่แน่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง
- ผู้ป่วยผ่าตัด สารโบรมีเลนในสับปะรดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกทั้งในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด ดังนั้น ควรหยุดบริโภคสับปะรดและสารโบรมีเลนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด