สารหนู คือสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง การบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้ในปริมาณมากเกินไป ตลอดจนการสูดหายใจหรือสัมผัสทางผิวหนัง อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สารหนูเป็นธาตุเคมีชนิดหนึ่งที่พบได้ตามธรรมชาติหรือเป็นสารที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนใหญ่พบในกระบวนการทำเหมืองแร่ การหลอมแร่ รวมทั้งการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยสารหนูแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- สารประกอบอนินทรีย์ เป็นชนิดที่มักพบในวงการอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุต่าง ๆ และอาจพบในน้ำที่ปนเปื้อนสารหนูด้วย ซึ่งสารหนูชนิดนี้มีความเป็นพิษสูงและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
- สารประกอบอินทรีย์ เป็นสารหนูที่พบได้ตามธรรมชาติ และอาจปนเปื้อนในอาหารบางชนิด เช่น ปลา สัตว์น้ำที่มีเปลือก เป็นต้น เป็นพิษน้อยกว่าสารหนูชนิดสารประกอบอนินทรีย์
วัตถุประสงค์ของการใช้สารหนู
สารหนูเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม ได้แก่
- รักษาเนื้อไม้ในอุตสาหกรรมไม้อัด
- กำจัดศัตรูพืช
- ถนอมหนังสัตว์
- เติมแต่งสารตะกั่วในแบตเตอรี่และทองแดง
- เป็นส่วนประกอบในการผลิตแก้วบางชนิด
- เป็นก๊าซอาร์ซีนในสารกึ่งตัวนำของการเชื่อมกระแสไฟฟ้า
อันตรายของสารหนูต่อมนุษย์
สารหนูเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว โดยเฉพาะสารหนูชนิดสารประกอบอนินทรีย์นั้นเป็นอันตรายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สารหนูทั้ง 2 ชนิดส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้
ผลกระทบแบบเฉียบพลัน
การได้รับสารหนูปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะสารหนูเป็นพิษต่อร่างกายแบบเฉียบพลันและถึงแก่เสียชีวิตได้ หากหายใจเอาสารหนูเข้าปอดมากเกินไปจะทำให้มีอาการเจ็บคอและระคายเคืองที่ปอด ส่วนในกรณีที่ผิวหนังสัมผัสกับสารหนูจะก่อให้เกิดอาการบวมแดง หากลืนสารหนูเกินปริมาณที่กำหนดอาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้อง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นตะคริว
- คลื่นไส้ และอาเจียน
- ท้องเสีย
- เป็นเหน็บตามมือและเท้า
- เกิดรอยฟกช้ำเนื่องจากหลอดเลือดเสียหาย
ผลกระทบในระยะยาว
การได้รับสารหนูในปริมาณเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน จะส่งผลเรื้อรังและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้ หากได้รับติดต่อกัน 5 ปี อาจเริ่มแสดงอาการให้เห็นทางผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังเปลี่ยนสี เกิดแผลที่ผิวหนัง ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและส้นเท้าแข็ง และอาจเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง หากได้รับเป็นเวลานานกว่านี้อาจก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะเร็งปอดได้
นอกจากนี้ การได้รับสารหนูชนิดสารประกอบอนินทรีย์เข้าสู่ร่างกายในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าสารหนูชนิดสารประกอบอินทรีย์ เช่น เป็นพิษต่อระบบประสาท เป็นโรคเบาหวาน โรคปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดความเสียหายที่ปอดและไต และอาจทำให้มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือภาวะขาดแคลนเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจนมีอาการอ่อนเพลียและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ สารหนูอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการตั้งครรภ์ ทารกเสียชีวิต หรือกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น
สารหนูเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?
สารหนูพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องปกติที่คนเราอาจได้รับสารหนูในปริมาณน้อยมาก ๆ เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว
- อาหาร เป็นแหล่งที่พบสารหนูได้มากที่สุด แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาหารที่มักพบสารหนู เช่น อาหารทะเล ข้าว เห็ด สัตว์ปีก เป็นต้น
- น้ำดื่ม พบการปนเปื้อนของสารหนูได้มากเช่นกัน ในหลาย ๆ ประเทศในน้ำดื่มมักมีสารหนูปริมาณสูง ซึ่งแหล่งน้ำที่พบการปนเปื้อนบ่อยคือแหล่งน้ำใต้ดิน เช่น บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ผิวดินอย่างทะเลทรายหรืออ่างเก็บน้ำ อย่างไรก็ตาม สารหนูจากแหล่งน้ำนั้นควบคุมปริมาณการปนเปื้อนได้
ทั้งนี้ คนบางกลุ่มมีโอกาสได้รับสารหนูในปริมาณสูงกว่าปกติ เช่น ผู้ที่ทำงานอุตสาหกรรมที่มีสารหนูเป็นส่วนประกอบ ทำงานด้านการเกษตรที่ใช้สารหนูในการกำจัดศัตรูพืช หรืออาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนู นอกจากนี้ การใช้ยาสูบยังทำให้ได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะยาสูบที่ปลูกในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในดิน ซึ่งจะยิ่งทำให้ได้รับสารหนูในปริมาณมากขึ้น
ได้รับสารหนูปริมาณเท่าใดจึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ?
ปกติแล้วคนเรามักได้รับสารหนูจากธรรมชาติในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกาย กระบวนการขับถ่ายจะช่วยขับสารหนูเหล่านั้นออกมาทางปัสสาวะภายใน 2 วัน แต่หากได้รับปริมาณมากเกินไปจนขับออกมาไม่หมดจะเป็นพิษต่อร่างกายได้
ทั้งนี้ ปริมาณสารหนูที่ถือว่าอันตรายสำหรับร่างกายคนเราคือปริมาณ 1.5-500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่หากได้รับในปริมาณ 130 มิลลิกรัมก็ทำลายระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ลำไส้ และตับได้ หรือหากได้รับในปริมาณเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี อาจทำให้เกิดโรคพิษสารหนูเรื้อรังที่ส่งผลร้ายต่อผิวหนังและก่อให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารหนู
เมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ผู้ป่วยควรปฐมพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิษของสารหนูทำลายระบบการทำงานของร่างกายได้ การช่วยเหลือในเบื้องต้นควรสังเกตลักษณะอาการของผู้ป่วยให้ละเอียด และรีบปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ได้รับสารหนูผ่านการรับประทานหรือดื่ม หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวควรพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว เพื่อเจือจางสารพิษ
- ได้รับสารหนูทางการหายใจ ควรพาผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้หายใจนำอากาศที่ดีเข้าร่างกายมากขึ้น ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย จึงควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อความปลอดภัย
- สัมผัสสารหนูทางผิวหนัง ควรรีบถอดเสื้อผ้าที่มีการปนเปื้อนออกเพื่อไม่ให้ผิวหนังของผู้ป่วยสัมผัสกับสารหนูเป็นเวลานาน จากนั้นล้างบริเวณที่สัมผัสกับสารหนูด้วยน้ำสะอาด
- สารหนูเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดติดต่อกันครู่หนึ่ง หากสวมคอนแทคเลนส์และถอดออกได้ ควรถอดออกเพื่อความปลอดภัย จากนั้นรีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ควรเก็บตัวอย่างสารที่ต้องสงสัยหรือภาชนะที่ใส่สิ่งที่ต้องสงสัยว่าจะมีการปนเปื้อนของสารหนูเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจรักษาของแพทย์ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาได้ทันท่วงที
วิธีป้องกันสารหนูเข้าสู่ร่างกาย
วิธีป้องกันตนเองที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้รับอันตรายจากสารหนู คือการระมัดระวังในเรื่องการดื่มน้ำและการรับประทานอาหาร โดยควรดื่มน้ำที่สะอาดและผ่านการกรอง ต้องล้างทำความสะอาดอาหารหรือวัตถุดิบใด ๆ ก่อนนำไปปรุงหรือรับประทาน นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องทำงานหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากสารหนู ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่เพาะปลูกในพื้นที่ รวมทั้งสวมใส่หน้ากากกันสารพิษเพื่อป้องกันการได้รับสารหนูจากการหายใจ