สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweetener) เป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่ใช้เพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล มีทั้งแบบให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน โดยนิยมใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก
สารให้ความหวานส่วนใหญ่มักใช้ในปริมาณที่เล็กน้อยเนื่องจากให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่าและยังช่วยลดพลังงานที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารให้ความหวานที่หลายคนอาจเคยได้ยิน อย่างแอสปาร์แตม ขัณฑสกร และน้ำตาลหญ้าหวาน โดยบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลให้มากขึ้น ทั้งชนิด ประโยชน์ และข้อจำกัดในการใช้
ชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ในปัจจุบัน สารให้ความหวานที่นิยมนำมาทดแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบให้พลังงาน
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกลุ่มนี้มักเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Polyols) เป็นสารให้ความหวานที่ยังคงให้พลังงานอยู่ แต่ให้ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำและดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลปกติ จึงอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงฉับพลันหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์ยังไม่ทำให้เกิดฟันผุอีกด้วย โดยทั่วไป พบได้ในวัตถุดิบธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้น ทั้งในอาหารและของใช้ เช่น หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล ลูกอม ไอศกรีม แยม ยาน้ำ ยาอม ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น
ตัวอย่างของสารให้ความหวานในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่
- ซอร์บิทอล (Sorbitol)
- ไซลิทอล (Xylitol)
- ไอโซมอลท์ (Isomalt)
- แมนนิทอล (Mannitol)
- มอลทิทอล (Maltitol)
- อิริทริทอล (Erythritol)
2. น้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners)
น้ำตาลเทียมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่สังเคราะห์ขึ้น มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะการใช้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายร้อยเท่า จึงใช้ในปริมาณที่น้อยมากและทำให้เครื่องดื่มหรืออาหารนั้นมีพลังงานต่ำ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 0.5 กรัม คณะกรรมการอาหารและยาอาจอนุญาตให้ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ให้พลังงานหรือศูนย์แคลอรี่
ตัวอย่างของสารให้ความหวานกลุ่มน้ำตาลเทียม ได้แก่
- แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 180–200 เท่า เมื่อโดนความร้อนอาจมีรสขม และห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ซึ่งเป็นโรคระบบเผาผลาญชนิดหนึ่ง
- ขัณฑสกรหรือแซคคาริน (Saccharin) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200–700 เท่า และอาจมีรสขมเล็กน้อย
- ซูคราโรส (Sucralose) ให้ความหวานมากกว่าน้ำ 600 เท่า รสชาติคล้ายน้ำตาล มักใช้ปรุงในอาหารร้อนได้ ไม่มีรสขมเฝื่อน
- สตีวิโอไซด์ (Stevioside) หรือน้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 150–300 เท่า ทนความร้อนได้ดี
แม้ว่าน้ำตาลเทียมจะไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำมาก แต่ควรรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้
การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มคนที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลภายในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการได้รับน้ำตาลและแป้งที่อยู่กลุ่มคาร์โบไฮเดรตสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้น เพื่อจำกัดการได้รับสารอาหารในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางคนอาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้พลังงานต่ำในการปรุงอาหารเพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ ซึ่งอาจช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดในการใช้สารให้ความหวานที่แตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับชนิดของสารให้ความหวานและปริมาณที่เหมาะสม ความเสี่ยงและข้อควรระวัง นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรคำนึงถึงคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่นในมื้ออาหารด้วย
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลปลอดภัยหรือไม่ ?
จากการศึกษาในผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่เป็นอันตราย โดยผลการทดลองของกลุ่มผู้ผลิตกล่าวว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่สะสมในร่างกาย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเป็นผลเสียต่อร่างกาย ไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ไม่ทำให้เกิดโรคหรือผลข้างเคียงต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ผลิตจะกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ส่งผลเสีย แต่เพื่อความปลอดภัย ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการรักษาโรค เพราะมีรายงานว่าการได้รับซอร์บิทอลและแมนนิทอลในปริมาณมากอาจทำให้ท้องอืดและท้องเสียได้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินอาจทำให้เกิดผลเสียได้
ในแง่ของการบริโภค แน่นอนว่าอาหารหรือเครื่องดื่มพลังงานต่ำจากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจดีกว่าการได้รับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปกติในปริมาณเดียวกัน แต่ด้วยข้อดีนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมการรับประทาน อย่างกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพบางอย่างที่การศึกษายังไม่ค้นพบก็ได้
นอกจากนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจไม่ได้ให้รสชาติเหมือนกับน้ำตาลเสมอไป บางชนิดเมื่อเจอกับความร้อนอาจมีรสขมเฝื่อนและให้รสที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์บางอย่างมีการผสมของสารให้ความหวานหลายชนิด จึงควรศึกษาข้อมูลและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นก่อนเลือกซื้อและรับประทาน รวมทั้งเลือกสารให้ความหวานให้เหมาะกับอาหารที่จะปรุงเพื่อหลีกเลี่ยงรสชาติที่ไม่พึงประสงค์
กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า ในแต่ละวันผู้ใหญ่ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมหรือเทียบเท่า 6 ช้อนชา เด็กและผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัมหรือเทียบเท่าน้ำตาล 4 ช้อนชา สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว กำลังใช้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะร่างกาย หากเป็นผู้ที่ชื่นชอบรับประทานของหวานหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ควรจำกัดการได้รับน้ำตาลในแต่ละวัน เลือกใช้สารให้ความหวานพลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะการบริโภคน้ำตาลมากเกินอาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังได้หลายโรค
สุดท้ายนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นเพียงตัวเลือกที่อาจช่วยให้การควบคุมน้ำตาลและพลังงานทำได้ง่ายขึ้น แต่หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในแต่ละวันได้ด้วยตนเอง วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้อาจไม่มีความจำเป็น