สาเหตุของตะคริวตอนนอนและวิธีบรรเทาอาการ

ตะคริวตอนนอนเป็นปัญหาที่มักพบได้เมื่อคนเราอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปที่อาจต้องเผชิญกับตะคริวหลายครั้งต่อสัปดาห์หรือบางรายอาจมีอาการทุกวัน ซึ่งตะคริวตอนนอนกลางคืนนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการปวด แต่ยังอาจส่งผลถึงคุณภาพการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

โดยทั่วไป ผู้ที่เป็นตะคริวตอนนอนจะรู้สึกถึงกล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นก้อนแข็งหรือเกิดการกระตุกอย่างกะทันหันและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน โดยตะคริวมักเกิดขึ้นที่ขาบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหลังของขาแต่ละข้างตั้งแต่หัวเข่าจรดข้อเท้า และอาจมีผลต่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps) และต้นขาด้านหลังหรือแฮมสตริง (Hamstrings) ด้วย โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงอายุเดียวกัน

สาเหตุของตะคริวตอนนอนและวิธีบรรเทาอาการ

ตะคริวตอนนอนเกิดจากอะไร?

จริง ๆ แล้ว สาเหตุของตะคริวนอนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพกล้ามเนื้อและปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

นอนในท่าที่ผิด 

ลักษณะของเท้าที่ไม่ถูกต้องในขณะนอนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตะคริวตอนนอน โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุนอนอยู่ในท่าเหยียดขาตรง ข้อเท้างองุ้ม และปลายเท้าชี้ลงพื้น ซึ่งคล้ายกับท่ายืนด้วยปลายเท้า อาจทำให้กล้ามเนื้อน่องหดเกร็งและเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ง่ายกว่าปกติ 

เคลื่อนไหวร่างกายน้อยและไม่ยืดกล้ามเนื้อ 

ยิ่งคนที่มีพฤติกรรมการนั่งและยืนไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ หรือนั่งในท่าไขว่ห้าง ร่วมกับอุปนิสัยไม่ชอบขยับตัวหรือไม่ค่อยยืดกล้ามเนื้ก่อนการทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำก็อาจเผชิญปัญหาตะคริวตอนนอนที่ขาเช่นกัน 

กล้ามเนื้อทำงานหนักเกินไป 

การออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขาหนักมาก อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและนำไปสู่ตะคริวตอนนอนได้ 

เส้นเอ็นหดตัว 

เส้นเอ็นนั้นเป็นเนื้อเยื่อที่ช่วยเชื่อมกล้ามเนื้อกับกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน หากเส้นเอ็นหดตัวสั้นลงเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว

ปัญหาสุขภาพในด้านต่าง ๆ

ปัญหานี้อาจเป็นสาเหตุของตะคริวตอนนอนได้ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เท้าแบน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือภาะขาดน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพราะจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต้นเหตุและเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น 

การใช้ยาบางชนิด 

เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statins) หรือยาแก้ปวดอย่างยานาพรอกเซน (Naproxen) อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการตะคริวได้ ผู้ป่วยจึงอาจต้องปรึกษาแพทย์ในการบรรเทาอาการหรือปรับแผนการใช้ยา เพื่อให้ลดความเสี่ยงของการเกิดตะคริวให้น้อยลง 

วิธีบรรเทาตะคริวตอนนอนในเบื้องต้น

ส่วนใหญ่แล้วตะคริวตอนนอนมักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือขอความช่วยเหลือมากนัก เคล็ดลับที่นำไปปฏิบัติตามกันได้ง่าย ๆ เช่น 

  • คลายกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวด้วยการนวดคลึงเบา ๆ 
  • ยืดกล้ามเนื้อ โดยเหยียดขาให้ตรง ค่อย ๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
  • ลุกขึ้นยืนแล้วเดินด้วยส้นเท้า 
  • ประคบร้อนในบริเวณที่เป็นตะคริวด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อน หรือประคบเย็นด้วยผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูอีกหนึ่งชั้น
  • ทานยาแก้ปวดที่หาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังเกิดตะคริว

อย่างไรก็ตาม หากตะคริวเกิดขึ้นถี่จนส่งผลต่อการนอนหลับ ตะคริวตอนนอนเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพใดๆ หรืออาการของผู้ป่วยทวีความรุนแรงและเป็นนานหลายวัน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและตรงจุดมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นตะคริวหลังได้รับสารพิษอย่างตะกั่วเข้าสู่ร่างกายซึ่งควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายได้