อาการตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อบริเวณเปลือกตาที่พบได้บ่อย โดยจะพบตุ่มบวมแดง อาจมีหนองอยู่ด้านใน และมักรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส บางคนอาจคันบริเวณเปลือกตา มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ และมีขุยลอกที่ขอบเปลือกตาร่วมด้วย โดยอาการตากุ้งยิงนั้นอาจเกิดขึ้นบริเวณโคนขนตาด้านนอกหรือด้านในเปลือกตาก็ได้
อาการตากุ้งยิงมักเริ่มดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน โดยตุ่มหนองอาจแห้งและยุบไปเอง หรือตุ่มหนองอาจแตกออกและค่อย ๆ ยุบไป การดูแลดวงตาด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่ดวงตาจะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น หากสงสัยว่าสาเหตุของอาการตากุ้งยิงคืออะไร และมีวิธีรักษาอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
สาเหตุของอาการตากุ้งยิง
อาการตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา โดยแบคทีเรียที่พบบ่อยคือ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus)
โดยปกติแล้วเปลือกตาจะมีต่อมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณโคนขนตา หากมีน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือสิ่งสกปรกสะสมบริเวณดังกล่าว อาจทำให้ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตภายในรูขุมขนดวงตาและเกิดอาการตากุ้งยิงตามมา
อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการตากุ้งยิงมักเกิดจากพฤติกรรมและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
- ใช้มือสัมผัสหรือขยี้ตาบ่อย โดยเฉพาะมือที่สกปรก
- ไม่ล้างเครื่องสำอางบริเวณดวงตาให้สะอาด
- ใช้เครื่องสำอางหมดอายุหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น มาสคาร่าและอายไลน์เนอร์ที่ใช้กับดวงตา
- สวมคอนแทคเลนส์
- มีอาการเคืองตาจากภูมิแพ้และไข้ละอองฟาง (Hay Fever)
- เคยเป็นตากุ้งยิงมาก่อน
- เป็นโรคเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเกิดบริเวณเปลือกตา
- มีผิวแห้งหรือเป็นโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) และโรคเซบเดิม (Seborrheic Dermatitis)
- มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น โรคเบาหวาน
- ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ มีอาการอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดตุ่มนูนแดงที่เปลือกตาคล้ายกับตากุ้งยิง นั่นคือ คาลาเซียน (Chalazion) ซึ่งเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตาเกิดเป็นก้อนถุงน้ำ แต่คาลาเซียนมักเกิดที่ด้านในเปลือกตาและมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ หลายคนจึงเรียกคาลาเซียนว่าโรคตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ
ดูแลอาการตากุ้งยิงให้หายด้วยตัวเอง
อาการตากุ้งยิงสามารถหายดีได้เองภายในประมาณ 3–7 วัน โดยคนที่เป็นตากุ้งยิงจะมีอาการบวมอยู่ราว 3 วัน จากนั้นตุ่มนูนอาจจะแตกออก เมื่อหนองด้านในระบายออกมา จะทำให้ตุ่มนูนจะค่อย ๆ แห้งลง หากตุ่มหนองไม่แตกออกเอง ไม่ควรพยายามบีบเค้นหนองออกมา เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลามได้
วิธีดูแลอาการตากุ้งยิงให้หายเร็วขึ้นมีดังนี้
- ประคบอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำอุ่นหรือถุงชาประคบบริเวณดวงตาประมาณ 5–10 นาที และนวดเบา ๆ บริเวณนั้น ทำซ้ำวันละ 3–5 ครั้ง อุณหภูมิของน้ำอุ่นจะช่วยขับให้หนองในตากุ้งยิงไหลออกมา และไม่ควรใช้น้ำร้อนเกินไปเพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับดวงตาหรือแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยนของเด็กผสมกับน้ำทำความสะอาดดวงตา ซึ่งจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกที่อุดตันต่อมไขมันที่เปลือกตา ลดการสะสมของแบคทีเรีย และช่วยรักษาโรคเปลือกตาอักเสบ
- ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์หรือใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาจนกว่าตากุ้งยิงจะหายดี
หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจเจาะระบายหนองจากตากุ้งยิงให้ และจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือยาหยอดตา หากอาการติดเชื้อที่ตากุ้งยิงลุกลามไปในดวงตาอาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ
ป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดอาการตากุ้งยิง
อาการตากุ้งยิงสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตา ดังนี้
- ไม่ใช้มือสัมผัสหรือขยี้ตา
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำ
- ตรวจเช็กวันหมดอายุของเครื่องสำอาง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณดวงตา หากหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ
- ล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน
- ไม่ใช้ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว และเครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการตากุ้งยิง เพราะอาจเสี่ยงก่อการได้รับเชื้อและทำให้เป็นตากุ้งยิงได้
- ล้างมือและทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ก่อนสวมใส่เสมอ หากใช้คอนแทคเลนส์ชนิดรายวันไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
- หากมีอาการเจ็บป่วยอื่นอยู่ เช่น เปลือกตาอักเสบ โรคผิวหนัง และโรคเบาหวาน ควรดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
โดยทั่วไปอาการตากุ้งยิงมักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตา และอาการจะหายดีได้เองโดยไม่ต้องพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากอาการตากุ้งยิงเกิดด้านในเปลือกตา ไม่ทุเลาลงภายใน 48 ชั่วโมงหลังการดูแลตัวเอง หรือตุ่มนูนมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับวินิจฉัยและการรักษาต่อไป