สาเหตุของแพ้ผ้าอนามัย และวิธีดูแลจุดซ่อนเร้นอย่างเหมาะสม

แพ้ผ้าอนามัย (Pad Rash) คือการเป็นผื่นแพ้บริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอนามัยในช่วงที่มีประจำเดือน อาจมีอาการบวม แดง คันที่ผิวหนังในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความกังวลและความไม่สบายตัวได้ไม่น้อย บทความนี้อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับการแพ้ผ้าอนามัยให้มากขึ้น พร้อมเรียนรู้วิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้น

เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ผ้าอนามัยได้ เพียงแค่หมั่นสังเกตอาการของตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือน หากพบความผิดปกติที่เข้าข่ายอาการแพ้ผ้าอนามัยก็ไม่ควรละเลยการดูแลรักษา เพราะอาการแพ้อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดหรือภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้ 

Pad rash

แพ้ผ้าอนามัยเกิดจากอะไร

ผื่นแพ้ผ้าอนามัยเป็นลักษณะของผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) ที่มักเกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) และสารก่อการระคายเคือง (Irritant) ซึ่งในที่นี้ก็คือส่วนประกอบต่าง ๆ ของผ้าอนามัย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นซึมซับ แผ่นกันซึม น้ำหอม ไปจนถึงแถบกาว ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ผื่นขึ้น คัน บวม แดง แสบร้อน หรือรู้สึกไม่สบายตัว 

นอกจากนี้ การใส่กางเกงหรือกางเกงชั้นในที่รัดแน่น รวมทั้งการสวมผ้าอนามัยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ยังอาจทำให้จุดซ่อนเร้นอับชื้น และเมื่อผิวหนังเสียดสีกับผ้าอนามัยขณะขยับตัวอาจก่อให้เกิดผื่น คัน รวมถึงอาการอักเสบตามมาได้ 

วิธีบรรเทาอาการแพ้ผ้าอนามัยด้วยตัวเอง

ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ผ้าอนามัยสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเองในระหว่างที่มีประจำเดือน ระมัดระวังหรือเพิ่มความละเอียดในการเลือกซื้อและใช้ผ้าอนามัยให้มากขึ้น หรืออาจไปปรึกษาเภสัชกรถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ได้ เช่น 

  • ลองเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอนามัย เพื่อหาผ้าอนามัยแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและอาการแพ้ขณะสวม โดยอาจเลือกผ้าอนามัยที่ระบุว่าปราศจากน้ำหอมหรือเหมาะสำหรับผิวบอบบาง แพ้ง่าย
  • ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมงในระหว่างวัน และไม่ควรสวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่หนาหรือรัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้อากาศได้ถ่ายเทมากขึ้น ป้องกันการเสียดสีและความอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้น 
  • ทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นทุกวันด้วยน้ำอุ่นหรือสบู่อ่อนที่ปราศจากน้ำหอม โดยควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นทุกรูปแบบที่อาจมีส่วนผสมของน้ำหอมและสารก่อการระคายเคือง หลังทำความสะอาดเสร็จแล้วควรซับให้แห้งอย่างเบามือ 
  • หลีกเลี่ยงการเกาในบริเวณที่มีอาการคัน เพราะอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้ 
  • นั่งแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 5–10 นาที เพื่อบรรเทาอาการคันและระคายเคือง แต่ควรระวังไม่ใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป และควรซับจุดซ่อนเร้นให้แห้งหลังแช่น้ำอุ่นด้วย 
  • ใช้ยาลดอาการคันที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะยาบางชนิดอาจมีข้อจำกัดและใช้สำหรับทาผิวหนังภายนอกเท่านั้น เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)

หากอาการยังไม่ดีภายใน 1–2 สัปดาห์ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากผื่นระคายสัมผัส ภายใน 2–3 วันในกรณีที่เกิดจากการเสียดสีของผ้าอนามัยกับผิวหนัง หรือพบสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ดูรุนแรงอย่างมีไข้ สั่น ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ ปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นปวดบวมยิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแพ้ผ้าอนามัยนั้นป้องกันได้ โดยอาจลองเปลี่ยนไปใช้ผ้าอนามัยที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ผ้าอนามัยซักได้ที่ปราศจากส่วนประกอบที่ก่อการแพ้ หรือจะใช้เป็นถ้วยอนามัยก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดผื่นและอาการระคายเคืองที่จุดซ่อนเร้นได้เช่นกัน