สิวที่คอคือสิวต่าง ๆ เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวอักเสบ สิวซีสต์ ที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังของลำคอ โดยสิวที่คอเป็นปัญหาทางผิวหนังที่สามารถพบได้บ่อยและสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งนี้ สิวที่คอเป็นปัญหาทางผิวหนังที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจสร้างความไม่มั่นใจให้กับใครหลาย ๆ คน
ผู้ที่มีสิวที่คออาจรู้สึกเจ็บบริเวณสิวเมื่อสัมผัส เนื่องจากสิวอาจบวม แดง และเกิดการอักเสบได้ ดังนั้น การรักษาสิวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการรักษาสิวที่คออย่างเหมาะสมอาจช่วยป้องกันปัญหาทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น รอยสิว หลุมสิว หรือแผลเป็นคีลอยด์ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวที่คอ
สิวที่คอมักขึ้นเมื่อรูขุมขนเกิดการอุดตันโดยเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และเชื้อแบคทีเรียพี-แอคเน่ (P. acnes) โดยสิวที่คออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ไม่รักษาความสะอาดบริเวณลำคอ โดยเฉพาะหลังจากการออกกำลังกายหรือมีเหงื่อออก
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจอุดตันรูขุมขน เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผมต่าง ๆ
- คอเกิดการเสียดสีจากสิ่งต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้สวมคอ เส้นผม โดยสิ่งเหล่านี้อาจสะสมความอุ่นและความชื้นจากเหงื่อ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเกิดการเสียดสีอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ผิวอุดตัน ระคายเคือง และเกิดสิวที่คอได้
นอกจากนี้ สิวที่คอยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ความเครียด การใช้ยาบางชนิด และพันธุกรรม
วิธีรักษาสิวที่คอให้เห็นผลง่าย ๆ ด้วยตนเอง
วิธีรักษาสิวที่คอมีหลายวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น
- ล้างหน้าและคอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าสูตรอ่อนโยน วันละ 2 ครั้ง และหลังจากที่มีเหงื่อออกมาก
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และน้ำหอม เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้
- เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางบริเวณคอทุกครั้ง
- ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันทาบริเวณคอทุกครั้งหลังจากล้างหน้าและคอ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันลดลง และลดโอกาสในการเกิดสิวที่คอ
- หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ หรือบีบสิว เพราะอาจทำให้เกิดรอยสิวและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
นอกจากนี้ ยังอาจใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมของสารต่าง ๆ เช่น
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ซึ่งจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อุดตันในรูขุมขน
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ซึ่งช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว
- ซัลเฟอร์ (Sulfur) ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขน
หากสิวที่คอมีปริมาณเยอะ ทำให้รู้สึกเจ็บอย่างรุนแรง หรือทำให้หมดความมั่นใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาสิวที่คอ โดยแพทย์อาจจ่ายยารักษาสิว ยาปฏิชีวนะ รวมถึงแนะนำการรักษาสิววิธีอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical peeling)
ถึงแม้ว่าการรักษาสิวที่คอเป็นสิ่งสำคัญ แต่การป้องกันสิวที่คอก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยการป้องกันสิวที่คอสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสิวที่คอ สระผมเป็นประจำ มัดผมเพื่อป้องกันการเสียดสีของผมและคอ หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการเสียดสีที่คอ ด้วยวิธีการเหล่านี้ อาจช่วยลดโอกาสไม่ให้สิวที่คอกลับมาเป็นซ้ำได้