สิวหัวขาว สาเหตุและแนวทางการรักษา

สิวหัวขาว (Whiteheads)  มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งขนาดเล็กสีขาวบนผิวหนัง เกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ไขมัน และแบคทีเรียในรูขุมขน สาเหตุของการเกิดสิวหัวขาวมีหลายปัจจัย เช่น การมีน้ำมันส่วนเกินบนผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต

สิวหัวขาวพบมากบริเวณทีโซน (T-Zone) คือหน้าผาก จมูก และคาง บางครั้งอาจขึ้นบริเวณแก้มและรอบริมฝีปาก รวมทั้งบริเวณอื่น เช่น หน้าอก หลัง ไหล่ แขน การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว โดยทั่วไป การรักษาความสะอาดและใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เองจะช่วยให้สิวหัวขาวหายได้ แต่หากมีจำนวนมากหรือดูแลตนเองแล้วไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์

สิวหัวขาว

สาเหตุของการเกิดสิวหัวขาว

สิวหัวขาวเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ประเภทหนึ่งที่เป็นการอุดตันแบบรูขุมขนปิด ทำให้รูขุมขนที่อุดตันไม่ได้สัมผัสอากาศ จึงไม่มีการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนและเปลี่ยนเป็นสีดำเหมือนสิวหัวดำ (Blackheads) และยังคงมองเห็นเป็นจุดสีขาวที่อุดตันอยู่บนผิวหนัง 

สิวหัวขาวมักเกิดจากการที่รูขุมขนผลิตไขมัน (Sebum) ออกมามากผิดปกติ การสร้างเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนบนผิวหนังมากผิดปกติ หรือการมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮฮร์โมนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งช่วงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • ความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผิวมัน ผู้มีผิวมันจะมีน้ำมันส่วนเกินบนผิวมาก ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวหัวขาวตามมาได้ง่าย
  • การใช้ครีมบำรุงผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • การกินอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวานหรือเค็มจัด
  • การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progesterone-only Pills)
  • การเสียดสี เช่น การสวมหมวกกันน็อกที่มีสายรัดใต้คางบ่อย ๆ
  • กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นสิว จะมีแนวโน้มเป็นสิวมากขึ้น

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิวหัวขาว

เทคนิคการดูแลผิวเมื่อเป็นสิวหัวขาวสามารถทำได้ดังนี้

1. ไม่บีบหรือแกะสิว

การใช้มือบีบ แกะ หรือกดบริเวณที่เป็นสิวทุกชนิด รวมถึงสิวหัวขาว อาจทำให้ระคายเคืองผิว กระตุ้นการอักเสบ เกิดแผลเป็น และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่รูขุมขน จึงไม่ควรพยายามกดสิวด้วยตัวเอง เว้นแต่จะให้แพทย์ผิวหนังใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและทำด้วยขั้นตอนที่ถูกต้องกดหัวสิวออกให้

2. ดูแลความสะอาดของใบหน้า

ล้างหน้าให้สะอาดทุกวันตอนเช้าและก่อนนอน หรือหลังจากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก หากแต่งหน้าควรล้างเครื่องสำอางออกก่อน โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าและมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่อ่อนโยน ผ่านการทดสอบการแพ้ (Non-Comedogenic) ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซึ่งจะช่วยป้องกันการอุดตันของรูขุมขน เพราะการอุดตันของรูขุมขนอาจให้อาการสิวหัวขาวแย่ลง

นอกจากนี้ ควรผลัดเซลล์ผิวด้วยการสครับผิวหรือใช้สารเคมี เช่น กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids: AHAs) และกรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acids: BHAs) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1–3 ครั้งตามความเหมาะสมของสภาพผิว เพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน

3. ดูแลความสะอาดของเส้นผม

สระผมให้สะอาดทุกวัน เพื่อกำจัดเหงื่อและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนเส้นผม โดยเฉพาะคนที่ทำผมหน้าม้าหรือมีผมปรกหน้า หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์หรือผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมใกล้กับผิวหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันและเกิดสิวหัวขาวขึ้นได้

4. หลีกเลี่ยงการถูกรังสียูวี (UV)

รังสียูวีจากแสงแดดและการทำผิวแทนอาจทำลายผิวได้ โดยเฉพาะผิวที่เป็นสิว ผู้ที่มีสิวหัวขาวควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีแสงแดดจัด และควรใช้ครีมกันแดดที่ปกป้องผิวได้ทั้งรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และไม่ทำให้อุดตันรูขุมขนทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) ซึ่งทำให้ผิวไวต่อแดด

5. ทายาแต้มสิว

ยาทาสำหรับรักษาสิวหัวขาวที่หาซื้อได้เองมีหลายรูปแบบ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีและระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสม 

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี ที่ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวหัวขาว
  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และลดอาการบวมอักเสบของผิว
  • เรตินอล (Retinol) เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว และลดการอุดตันของรูขุมขน แต่ยานี้ไม่ควรใช้เวลาเดียวกับยาทาสิวชนิดอื่น และไม่ควรใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

6. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการเกิดสิว

พฤติกรรมบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ผู้ที่เป็นสิวหัวขาวควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด รวมทั้งอาหารที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย เล่นโยคะ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ

7. การรักษาสิวหัวขาวโดยแพทย์

หากดูแลตัวเองแล้ว อาการสิวหัวขาวยังไม่ดีขึ้นภายใน 4–6 สัปดาห์ หรืออาการแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น เกิดความเครียด ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจและรับการรักษา 

แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาสิวที่เหมาะสมกับอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดทาผิวและชนิดรับประทานหากมีสิวอักเสบร่วมด้วย และยาคุมกำเนิด สำหรับผู้หญิงที่มีสิวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งอาจรักษาสิวหัวขาวด้วยวิธีอื่น เช่น การกดสิว และการเลเซอร์ผิวหนัง เพื่อช่วยรักษาสิวควบคู่กับการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ

สิวหัวขาวเป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนซึ่งพบได้ในคนทุกวัย โดยทั่วไป การดูแลผิวให้สะอาด ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการพักผ่อน และการใช้ยาทาสิวที่หาซื้อได้เองอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สิวหัวขาวยุบลงได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นด้วยการดูแลตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม