สิว กับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

สิวเป็นปัญหาผิวหนังที่รบกวนใจหนุ่มสาวหลายคน ซึ่งก็มีวิธีรักษาหลากหลายรวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย ทว่าจะต้องใช้ยาชนิดนี้เมื่อไรและควรใช้อย่างไร ผู้ที่เป็นสิวควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจนำยามาใช้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและประสิทธิภาพสูงสุดทางการรักษา

1564 สิว ยาปฏิชีวนะ Resized

ทำไมต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิว ?

ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่มักถูกนำมาใช้รักษาสิวเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ซึ่งควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเป็นยาอันตรายหากใช้อย่างไม่เหมาะสม

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสิวมีอะไรบ้าง ?

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสิวจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

ยาทา ใช้ในกรณีที่สิวมีอาการไม่รุนแรง โดยยาที่มักใช้ ได้แก่ คลินดามัยซิน เอรีโทรมัยซิน เตตราไซคลิน เมโทรนิดาโซล เป็นต้น

ยารับประทาน หากสิวมีอาการรุนแรง หรือการรักษาด้วยยาทาและวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาฏิชีวนะควบคู่กันไปด้วย โดยยาที่มักใช้ ได้แก่ เอรีโทรมัยซิน ไตรเมโทรพริม โคไตรโมซาโซล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสิวบางชนิดก็ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีด้วย เช่น เตตราไซคลีน ไมโนไซคลิน เป็นต้น

ใครบ้างไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิว ?

ยาปฏิชีวนะถือเป็นยาอันตรายชนิดหนึ่ง ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้รักษาสิวในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยจึงควรปรึกษาแพทย์หากต้องการรักษาสิว ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวอื่นเพื่อรักษาสิวแทน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิว

การใช้ยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ได้เช่นเดียวกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ดังนี้

ยาปฏิชีวนะชนิดทา

  • ผิวแห้ง การใช้ยาปฏิชีวนะแบบยาทาอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังบริเวณที่ใช้ยาได้ หากเกิดอาการนี้ควรใช้ครีมบำรุงที่ไม่มีน้ำมันทาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวบริเวณนั้น
  • ผิวหนังระคายเคือง แม้เป็นผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยรุนแรง แต่หากเกิดอาการขึ้นก็ควรหยุดใช้ยา
  • โรคผื่นแพ้สัมผัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอาการแพ้ที่ผิวหนังได้
  • ภาวะเชื้อดื้อยา การใช้ยาอย่างไม่ต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดภาวะเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาได้ และอาจทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง และอาจใช้ยาร่วมกับยาเบนโซล เพอร็อกไซด์ หรือเรตินอยด์ด้วย

ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

  • เชื้อรา อาการติดเชื้อราอาจเกิดขึ้นภายในช่องปาก หรืออาจพบเชื้อราในช่องคลอดและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ แต่มักพบได้ในผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มเตตรามัยซินมากกว่าผู้ที่ใช้ยาเอริโทรมัยซิน
  • ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร การรับประทานยาปฏิชีวนะอาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้องบิด หรือท้องเสียได้
  • อาการแพ้ ผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้ยาตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงอาการที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเป็นผื่นแพ้ หรือมีสัญญาณอาการแพ้อื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ตาบวม ใบหน้าบวม ปากบวม และลิ้นบวม เป็นต้น
  • ผิวหนังแพ้แสง เป็นผลข้างเคียงมักเกิดขึ้นจากการใช้ยาด็อกซีไซคลิน ดังนั้น หากต้องใช้ยาดังกล่าวควรใช้หลังอาหารเย็น หรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันผิวหนังจากการไหม้แดด
  • เชื้อดื้อยา เกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งเสมอเพื่อความปลอดภัย
  • ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาสิวควบคู่กับการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง ซึ่งหากผู้ใช้ยาเป็นกังวลก็ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ห่วงอนามัย หรือการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงในด้านนี้ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการรักษาสิวต่อไป

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิวอย่างปลอดภัย

การรักษาสิวมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดสิวขึ้นใหม่ รวมทั้งลดการอักเสบของสิวที่มีอยู่เดิม โดยไม่สามารถรักษาสิวให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว และการใช้ยานี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสิวและการติดเชื้อของสิวด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาสิว แพทย์มักให้ใช้ยาชนิดทาก่อน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีท่าทีรุนแรงกว่าเดิม แพทย์จึงจะสั่งยาชนิดรับประทานให้ใช้แทน โดยควรใช้ยาชนิดทาเพียง 6-8 สัปดาห์เพื่อความปลอดภัย และไม่ควรใช้ยาชนิดรับประทานติดต่อกันนานกว่า 4-6 เดือน เนื่องจากหากรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยา ซึ่งจะส่งผลให้รักษาอาการของสิวหรือการติดเชื้อในอนาคตได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ระหว่างที่รักษาสิวด้วยยาปฏิชีวนะ ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นสิวให้ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้