สีประจำเดือนเตือนปัญหาสุขภาพ สีไหนเข้าข่ายผิดปกติ

บางคนอาจเคยสังเกตสีประจำเดือนของตัวเองแล้วพบว่ามีสีแปลกไป ไม่ได้เป็นสีแดงเหมือนทุกครั้ง ทำให้เกิดความกังวลใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ ความจริงแล้วสีประจำเดือนมีได้หลายสีจากปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และสีประจำเดือนที่เปลี่ยนไปก็อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพของร่างกายได้ด้วย 

ประจำเดือนเป็นภาวะปกติที่เกิดในทุกรอบเดือนของผู้หญิง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยร่างกายจะมีการสร้างเยื่อบุภายในโพรงมดลูกขึ้น แต่เมื่อไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุเหล่านั้นจะหลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือดบางส่วนทางช่องคลอดกลายเป็นประจำเดือน ซึ่งสีของเลือดประจำเดือนนั้นมีตั้งแต่สีแดงสดไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ

สีประจำเดือนเตือนปัญหาสุขภาพ สีไหนเข้าข่ายผิดปกติ

สีประจำเดือนบอกอะไรเราบ้าง

สีประจำเดือนเป็นได้ตั้งแต่สีแดงสด สีคล้ำเข้มไปจนถึงเกือบดำ เนื่องจากระยะเวลาที่เลือดประจำเดือนตกค้างภายในมดลูกและช่องคลอด ทำให้สีประจำเดือนเข้มขึ้น บางกรณีสีประจำเดือนที่เปลี่ยนไปก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง 

สีประจำเดือนสีชมพู

สีประจำเดือนสีชมพูเกิดขึ้นได้ในช่วงเริ่มต้นและสิ้นสุดของการมีประจำเดือน เมื่อเลือดประจำเดือนไหลออกจากมดลูกมาผสมกับตกขาวที่อยู่บริเวณช่องคลอด ทำให้เลือดเจือจางกลายเป็นสีชมพู แต่บางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่นได้ เช่น ภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายต่ำ ภาวะโลหิตจาง การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือการที่น้ำหนักลดลงผิดปกติ 

สีประจำเดือนสีแดงสด

สีประจำเดือนสีแดงสดมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลจากมดลูกมายังช่องคลอดอย่างรวดเร็ว เมื่อเลือดไม่ได้ค้างอยู่ภายในร่างกายนานก็จะมีสีแดงสด หรือเกิดขึ้นเมื่อมดลูกหดตัวอย่างรุนแรงส่งผลให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เวลามดลูกหดตัวมักจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย 

ทั้งนี้ สีประจำเดือนสีแดงสดอาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น เนื้องอกภายในมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อของผนังมดลูก (Adenomyosis) หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม 

โดยจะต้องสังเกตความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องมากจนรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน มีไข้ ท้องโตขึ้น เลือดประจำเดือนออกมากระหว่างรอบเดือน มีตกขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ

สีประจำเดือนสีแดงเข้ม

สีประจำเดือนสีแดงเข้มเป็นผลมาจากการที่เลือดประจำเดือนค้างอยู่ภายในร่างกายเป็นเวลานาน และทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเมื่อถูกขับออกจากร่างกาย ทำให้จากสีแดงสดกลายเป็นสีเข้มขึ้น ยิ่งเลือดประจำเดือนค้างอยู่ภายในร่างกายนานมากเท่าไหร่ สีประจำเดือนก็จะยิ่งเข้มขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากการนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน ทำให้เลือดค้างอยู่ภายในร่างกายมาก

เลือดประจำเดือนสีแดงเข้มมักพบร่วมกับลิ่มเลือด เนื่องจากเลือดที่ค้างอยู่ในมดลูกจับตัวกันเป็นก้อน การมีลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับเลือดประจำเดือนเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่หากพบลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 1 นิ้วบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

สีประจำเดือนสีน้ำตาล

สีประจำเดือนสีน้ำตาลเป็นผลมาจากการที่เลือดประจำเดือนค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน และทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนมีสีเข้มขึ้นเช่นเดียวกับประจำเดือนสีแดงเข้ม มักจะพบในช่วงเริ่มต้นหรือสิ้นสุดของการมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ประจำเดือนมีปริมาณน้อยผสมกับตกขาว ทำให้เลือดเจือจางและกลายเป็นสีน้ำตาล

ประจำเดือนสีน้ำตาลอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ด้วย เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) หรือในช่วงวัยหมดประจำเดือนที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สีประจำเดือนกลายเป็นสีน้ำตาล

สีประจำเดือนสีดำ

แม้ว่าสีประจำเดือนสีดำจะเป็นเลือดตกค้างในร่างกายเป็นระยะเวลานานได้ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องไม่ปกติและอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงช่องคลอดอุดตันจากมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่ในช่องคลอด เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด ถ้วยอนามัย หรือถุงยางอนามัย โดยมักพบอาการตกขาวที่ผิดปกติ คัน มีผื่นขึ้น และมีกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย

สีประจำเดือนสีส้ม

สีประจำเดือนสีส้มสามารถพบได้ในช่วงเริ่มต้นหรือสิ้นสุดของการมีประจำเดือนเมื่อเลือดที่ไหลน้อยมาผสมกับตกขาวที่อยู่บริเวณช่องคลอด ทำให้เลือดเจือจางกลายเป็นสีส้ม บางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งต้องสังเกตร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และเจ็บแสบเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์

สีประจำเดือนสีเทาและสีเขียว

สีประจำเดือนสีเทาและสีเขียวมักเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคติดเชื้อในช่องคลอด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด ซึ่งอาจต้องสังเกตร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น อาการตกขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และเจ็บแสบเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกในช่องคลอดอาจไม่ใช่เลือดประจำเดือนเสมอไป บางครั้งอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่เรียกกันว่าเลือดล้างหน้าเด็ก หรือเกิดขึ้นหลังจากการคลอดลูกเมื่อร่างกายขับของเหลวที่คล้ายประจำเดือนออกมาที่เรียกว่ากันทั่วไปว่าน้ำคาวปลา  

นอกจากนี้ หากมีเลือดออกจากช่องคลอดเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของการแท้งได้ โดยสีของเลือดอาจเป็นได้ทั้งสีชมพู สีแดงสด สีน้ำตาล ไปจนถึงสีดำ แต่จะต้องพิจารณาความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการแพ้ท้องหายไป วิงเวียนศีรษะ เป็นตะคริว ปวดท้องรุนแรง หรือมีลิ่มเลือดออกมาจากช่องคลอด ฉะนั้น การมีเลือดออกจากช่องคลอดในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ได้หมายถึงการแท้งเสมอไป 

ถ้าสีประจำเดือนแปลกไป ควรพบแพทย์หรือไม่

สีประจำเดือนสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในแต่ละเดือน และอาจช่วยบอกถึงภาวะสุขภาพที่ควรได้รับการดูแล ฉะนั้น ควรไปพบแพทย์เมื่อสีประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพร้อมกับกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ประจำเดือนมาผิดปกติ หมายถึงรอบของประจำเดือนมีระยะที่สั้นกว่า 28 วันและยาวกว่า 35 วัน หรือประจำเดือนไม่มานานกว่า 3 เดือนในขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมถึงประจำเดือนมาในช่วงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติจนถึงขั้นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 1–2 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือมีภาวะโลหิตจาง
  • มีตกขาวที่ผิดปกติหรือมีกลิ่นคาวในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรือถ้าเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ด้วยก็อาจเป็นสัญญาณของการแท้งได้
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่มากกว่า 1 นิ้วเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก โรคมะเร็ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการแท้ง
  • เกิดตะคริวรุนแรงหรือปวดท้องรุนแรงบ่อยครั้งในช่วงมีประจำเดือน รวมถึงมีไข้สูง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบากในระหว่างที่มีประจำเดือน

แม้ว่าสีประจำเดือนจะไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเสมอไป แต่ก็ควรสังเกตลักษณะของประจำเดือน เช่น สีประจำเดือน ปริมาณและการไหลของประจำเดือน และความผิดปกติอื่น ๆ ของประจำเดือนให้เป็นนิสัย เพราะหากเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ จะช่วยให้เราได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว