สุนัขกัดและการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี

สุนัขกัดเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดขึ้นขณะเล่นกับสุนัขที่คุ้นเคย หรือกำลังเดินอยู่บนถนนแล้วโดนสุนัขจรจัดกัดโดยไม่ทันระวังตัว ทำให้คุณอาจรู้สึกตกใจกลัวและไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

สาเหตุที่สุนัขกัดอาจมาจากการที่สุนัขตกใจ โกรธ กลัว หิวหรือถูกคุกคาม ซึ่งความรุนแรงของอาการก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจเป็นเพียงรอยงับ แต่บางรายอาจต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องผ่าตัดเพื่อรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทราบวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัดก่อนจะไปพบแพทย์

A,Male,German,Shepherd,Bites,A,Man,By,The,Hand.

สุนัขกัดอันตรายอย่างไร

ฟันของสุนัขมีลักษณะมน แต่เมื่อสุนัขกัดจะใช้แรงบริเวณกรามบดก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กระดูก หลอดเลือด หรือเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ภายในปากของสุนัขเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น เชื้อสเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) เชื้อพาสทูเรลลา (Pasteurella) หรือเชื้อแคปโนไซโตฟากา (Capnocytophaga) อีกทั้งเชื้อโรคเหล่านี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อ บาดทะยัก หรือโรคพิษสุนัขบ้า 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัด

เมื่อถูกสุนัขกัดอาจทำให้เกิดบาดแผลได้หลายลักษณะ โดยอาจเป็นแผลฉีกขาด เป็นรูคล้ายถูกแทง ผิวหนังหลุดหายหรือเนื้อเยื่อถูกบดขยี้รวมกันในแผลเดียว ในขั้นแรกของการปฐมพยาบาลให้เริ่มจากสังเกตลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล หากไม่มีแผลเปิดสามารถปฐมพยาบาลโดยการทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่ ก่อนจะทายาต้านเชื้อแบคทีเรียในบริเวณโดยรอบ แต่หากมีแผลเปิดจากสุนัขกัด ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. ปล่อยให้เลือดไหลออกตามธรรมชาติ ห้ามเค้นหรือบีบบาดแผลเพราะอาจทำให้เชื้อโรคกระจายตัวได้
  2. ล้างแผลอย่างเบามือให้สะอาดด้วยน้ำปริมาณมาก ฟอกสบู่ให้ทั่วและลึกลงไปในบาดแผลเป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นล้างน้ำเปล่าออกให้สะอาดและซับด้วยผ้าก็อซให้แห้ง
  3. เมื่อซับแผลจนแห้งแล้ว เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างโพวิโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) หากไม่มีสามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แต่ห้ามใช้เกลือหรือยาฉุนทาลงบนแผล
  4. นำตัวส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยบริเวณใกล้เคียงโดยเร็ว เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนบาดทะยัก พร้อมทั้งรับยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวด หากมีบาดแผลลึก มีขนาดใหญ่หรือถูกกัดในอวัยวะสำคัญที่เส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) 
  5. กักสุนัขไว้เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 10–15 วันโดยจะต้องให้อาหารและน้ำตามปกติ ห้ามฆ่าให้ตายยกเว้นที่สุนัขดุร้ายหรือไม่สามารถกักตัวไว้ได้ หากสุนัขหลุดหายให้นับว่าสุนัขตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าไว้ก่อน และหากสุนัขตายระหว่างกักขัง ให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ โดยทั้ง 2 กรณีนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับวัคซีนพิษสุนัขบ้าทันที
  6. หากครบระยะเวลากักตัวแล้วสุนัขยังไม่ตาย ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า

สุนัขกัดกับอาการที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัดควรไปพบแพทย์โดยเร็วหากสุนัขที่กัดยังไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือผู้ป่วยไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนดังกล่าวของสุนัข สุนัขที่กัดมีท่าทีผิดปกติหรือมีอาการป่วย รวมทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดไหลออกจากบาดแผลไม่หยุด มีอาการของภาวะติดเชื้อ เจ็บแผลอย่างรุนแรง ถูกกัดบริเวณหัว มีฟันของสุนัขติดอยู่ในบาดแผล เป็นแผลลึกจนเห็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นหรือกระดูก รู้สึกชาและไม่สามารถขยับร่างกายบางส่วนได้

อย่างไรก็ตาม เราอาจป้องกันการถูกสุนัขกัดได้ด้วยการสอบถามเจ้าของว่าสามารถลูบหรือจับสุนัขได้หรือไม่ ให้สุนัขดมหรือเห็นก่อนเข้าไปเล่น ไม่ควรทำให้สุนัขตกใจ ไม่แกล้งด้วยการดึงหูหรือหาง ไม่ควรเข้าไปเล่นหากสุนัขกำลังหลับหรือกิน ไม่เล่นกับสุนัขแรงจนเกินไป และหากถูกสุนัขจรจัดคุกคาม ไม่ควรตื่นตระหนก จ้องตาสุนัขโดยตรง หรือวิ่งหนี แต่ควรยืนนิ่งสักพักหนึ่งก่อนจะค่อย ๆ ถอยหลังหนีออกมา