หญ้าดอกขาว หมอน้อย หรือหญ้าละออง เป็นชื่อเรียกของพืชต้นเล็กแต่มีสรรพคุณมากมาย เพราะประกอบด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างสารต้านอนุมูลอิสระและแร่ธาตุต่าง ๆ จึงได้รับการกล่าวขานว่ามีคุณสมบัติรักษาโรคหลายชนิด เช่น ไข้หวัด โรคเบาหวาน โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น และอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ด้วย
ในหญ้าดอกขาว (Vernonia Cinerea Less.) มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารประกอบฟีนอลอย่างกรดแกลลิค (Gallic Acid) รูติน (Lutin) ควอซีทิน (Quercetin) กรดคาเฟอิก (Caffeic) และกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) โดยสารเหล่านี้จะช่วยปกป้องหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ อย่างโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือด นอกจากนั้น หญ้าดอกขาวยังมีแร่ธาตุหลากชนิด เช่น ธาตุเหล็ก แมงกานีส โคบอลต์ และซีลีเนียม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรรพคุณของหญ้าดอกขาว
ลดความอยากบุหรี่
ภาวะติดบุหรี่เกิดจากการเสพติดสารนิโคตินในบุหรี่ โดยสารนี้จะกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง หนึ่งในนั้น คือ สารโดพามีน (Dopamine) ที่มีคุณสมบัติช่วยให้อารมณ์ดีและรู้สึกมีความสุข ความรู้สึกดังกล่าวทำให้ผู้สูบไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ หากพยายามเลิกสูบก็อาจเกิดอาการขาดยา เช่น รู้สึกอยากสูบบุหรี่อย่างมาก วิตกกังวล หงุดหงิด กระสับกระส่าย เป็นต้น
มีงานวิจัยหนึ่งทำการแยกสารประกอบภายในหญ้าดอกขาว พบว่าสารประกอบบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบเอนไซม์ที่ย่อยสลายนิโคตินกับโดพามีน ดังนั้น พืชชนิดนี้จึงอาจมีคุณสมบัติช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่เปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ของบุคคล 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมหญ้าดอกขาว กลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมหญ้าดอกขาวควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ กลุ่มที่ออกกำลังกาย และกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารเสริมหญ้าดอกขาวและไม่ได้ออกกำลังกาย เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือนพบว่ากลุ่มที่รับประทานหญ้าดอกขาวในรูปอาหารเสริมควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 62.7 รองลงมาเป็นกลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมหญ้าดอกขาวที่มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 59.52 ส่วนกลุ่มที่ออกกำลังกายและกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารเสริมหญ้าดอกขาวและไม่ได้ออกกำลังกายมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 53.57 และ 14.04 ตามลำดับ
เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหญ้าดอกขาวในด้านนี้มีค่อนข้างมาก และผลการวิจัยส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก จึงอาจยืนยันได้ว่าการรับประทานหญ้าดอกขาวช่วยลดความอยากบุหรี่ได้จริง โดยปัจจุบันมีการนำหญ้าดอกขาวมาแปรรูปเป็นยาผงที่ใช้ชงกับน้ำร้อนแล้วดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้งเพื่อลดความอยากบุหรี่ ซึ่งยาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหมวดยาพัฒนาจากสมุนไพรเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
ลดไข้
โดยปกติอุณหภูมิร่างกายคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติจะถือว่าเป็นไข้ หญ้าดอกขาวจัดเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนทั่วไปเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยลดไข้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาคุณสมบัติของหญ้าดอกขาวในด้านนี้ โดยทดลองฉีดสารที่ทำให้หนูมีไข้แล้วให้กินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 250 และ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าอุณหภูมิในร่างกายของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ยังพบว่าสารสกัดจากหญ้าดอกขาวปริมาณ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมมีฤทธิ์ลดไข้คล้ายกับยาพาราเซตามอลด้วย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวศึกษาถึงคุณสมบัติของหญ้าดอกขาวด้านการลดไข้ในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการทดลองกับมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของหญ้าดอกขาวก่อนนำมารักษาอาการในคน
ต้านการอักเสบ
การอักเสบเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันพยายามต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารเคมี รวมทั้งร่างกายเกิดการบาดเจ็บและระบบภูมิคุ้มกันอาจทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เป็นต้น ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการรับประทานพืชชนิดนี้อาจช่วยต้านอาการอักเสบได้ จึงมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพด้านนี้ของหญ้าดอกขาวอยู่บ้าง
โดยงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองฉีดสารเข้าชั้นผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าเพื่อทำให้หนูเกิดอาการข้ออักเสบ จากนั้นให้หนูกินสารสกัดจากดอกของหญ้าดอกขาว 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยลดอาการบวมที่อุ้งเท้าและบรรเทาอาการอักเสบได้ เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่นำหนูที่มีอาการบวมบริเวณอุ้งเท้ามาศึกษาโดยให้กินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 250 หรือ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าการอักเสบก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
แม้ผลการทดลองจะเป็นไปในเชิงบวก แต่คุณสมบัติของหญ้าดอกขาวด้านการต้านการอักเสบจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไป จนกว่าจะสามารถยืนยันประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หากนำไปใช้กับมนุษย์
รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในทางเดินปัสสาวะ คือ ก้อนของแร่ธาตุที่ตกผลึกจากปัสสาวะในระบบทางเดินปัสสาวะ แม้ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กจะถูกขับออกมากับปัสสาวะและไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย แต่ก้อนนิ่วที่ติดค้างอยู่ในทางเดินปัสสาวะอาจทำให้ปวดท้องหรือปัสสาวะเป็นเลือด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาก็อาจเกิดการติดเชื้อและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้
มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาคุณสมบัติของหญ้าดอกขาวด้านการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ โดยให้หนูที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะกินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีส่วนช่วยขับปัสสาวะ และลดระดับความเข้มข้นของสารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่วอย่างแคลเซียม ออกซาเลต และฟอสเฟต
หญ้าดอกขาวอาจมีคุณสมบัติรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะของหนูทดลองได้ แต่ก็เป็นเพียงการทดลองกับสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าหญ้าดอกขาวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคดังกล่าวได้จริง
ข้อควรระวังในการบริโภคหญ้าดอกขาว
หากต้องการรับประทานหญ้าดอกขาวเป็นสมุนไพร ผู้บริโภคไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเพียงการทดลองระยะสั้น จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าการรับประทานหญ้าดอกขาวติดต่อกันเป็นเวลานานจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
ส่วนผู้ที่รับประทานหญ้าดอกขาวในรูปแบบยาลดความอยากบุหรี่ ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยยาชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ปากแห้งและคอแห้งได้ นอกจากนั้น สมุนไพรชนิดนี้ยังมีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไตวายควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทานเสมอ