หนู พาหะนำโรค อันตรายใกล้ตัวที่ควรระวัง

หนู เป็นสัตว์ที่สามารถแพร่พันธ์ุได้เร็ว และชอบอาศัยอยู่ในที่สกปรกซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค นอกจากจะอาศัยอยู่ตามธรรมชาติแล้ว หนูยังปรับตัวและอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนของมนุษย์ได้ ทำให้หนูสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยหนูเป็นพาหะของโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้หนูกัด และโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งบางโรคอาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

Rats

ตัวอย่างโรคร้าย อันตรายที่มาจากหนู

โรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรค เช่น วัว ควาย ม้า สุนัข และหนู โดยการแพร่เชื้อสู่คนเกิดจากการสัมผัสปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสกับน้ำ ดิน หรืออาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะมีอาการป่วยแตกต่างกันไป เช่น มีไข้ ปวดหัว หนาวสั่น ปวดตามกล้ามเนื้อ อาเจียน ตัวเหลือง ตาแดง ปวดท้อง ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามร่างกาย และผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อจากโรคฉี่หนูที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้ตับและไตเกิดความเสียหาย ตับวาย หายใจลำบาก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮันตาที่พบในสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และกระต่าย เป็นต้น โดยมีอาการทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง หากมีอาการรุนแรง ผู้ติดเชื้ออาจมีกลุ่มอาการ Hantavirus Pulmonary Syndrome (HPS) โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการในเวลา 1-2 สัปดาห์หลังสัมผัสเชื้อไวรัสจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ ในระยะแรกผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย มีไข้ และปวดตามกล้ามเนื้อ บางรายอาจปวดศีรษะ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง ต่อมาอาการจะกำเริบขึ้นจนทำให้หายใจไม่อิ่ม ไอ และเกิดภาวะน้ำในปอด นอกจากนี้ เชื้อไวรัสชนิดนี้อาจทำให้เกิดการป่วยรุนแรงที่จะเริ่มปรากฏอาการหลังได้รับเชื้อภายใน 1-2 สัปดาห์ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง มีไข้ ปัสสาวะผิดปกติ ตาแดง เป็นผื่นตามบริเวณต่าง ๆ และหากอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีเลือดออกที่ไตหรือไตวายได้

โรคติดเชื้อซาลโมเนลโลซิส (Salmonellosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไป โดยเชื้อซาลโมเนลโลซิสมักอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างหนู รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ปีกด้วย เชื้อนี้จะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระ ซึ่งผู้ป่วยมักติดเชื้อจากการรับประทานไข่ เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หรือการดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวปนเปื้อนอยู่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการของโรคออกมาให้เห็น แต่บางรายอาจมีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ปวดศีรษะ และอุจจาระเป็นเลือดภายใน 8-72 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ แต่ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจหายจากโรคได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา

โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย เป็นโรคติดต่อที่พบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิสเซลล่า ทูลาเรนซิส (Francisella Tularensis) ที่มักพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย กระรอก และอาจพบในสัตว์ชนิดอื่น เช่น แกะ สุนัข แมว โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้จากการถูกหมัดหรือเห็บกัด และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวโดยตรง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีไข้อย่างเฉียบพลันหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-5 วัน นอกจากนี้ อาจมีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีแผลจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคทูลารีเมียได้ดีขึ้น

โรคไข้หนูกัด เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้น้อยมาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตบาซิลลัส โนนิลิฟอร์มิส (Streptobacillus Moniliformis) และสไปริลลัม ไมนัส (Spirillum Minus) ซึ่งพบได้มากในประเทศแถบทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยมีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก เพียงพอน (Weasel) และเฟอร์เร็ท (Ferret) เป็นพาหะของโรค การแพร่เชื้อสู่คนอาจเกิดจากการถูกสัตว์เหล่านี้กัด ขีดข่วน หรือสัมผัสกับปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่งจากปาก ตา และจมูกของสัตว์ที่ป่วย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคไข้หนูกัดที่ติดเชื้อสเตรปโตบาซิลลัส โนนิลิฟอร์มิส จะมีระยะฟักตัวของโรคน้อยกว่า 7 วัน และมีอาการ เช่น มีไข้ มีผดผื่นขึ้นตามร่างกาย และข้ออักเสบ ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียสไปริลลัม ไมนัส จะมีระยะฟักตัวของโรคนาน 14-18 วัน โดยจะมีไข้ มีแผลเปื่อยที่เกิดจากรอยกัดของหนู และต่อมน้ำเหลืองโต

กาฬโรค เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) ที่มักอาศัยอยู่ในหมัดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก เช่น หนูและกระรอก ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อจากการถูกหมัดที่มีเชื้อกาฬโรคกัด หรือการสัมผัสของเหลวและวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ ยังสามารถติดเชื้อได้จากการหายใจเอาอากาศที่มีละอองเสมหะจากผู้ป่วยโรคนี้เข้าไป โดยผู้ป่วยกาฬโรคมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 1-7 วัน ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้อย่างกะทันหัน หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้ และอาเจียน อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยกาฬโรคในประเทศไทยครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 และยังไม่พบรายงานการเกิดกาฬโรคอีกจนถึงปัจจุบัน

การกำจัดหนู และควบคุมการแพร่เชื้อ

เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากหนู ควรรักษาสุขอนามัยของตนเอง ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้ดี ลดการแพร่พันธุ์และกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู เช่น บริโภคอาหารที่สะอาดและปรุงสุกอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหนูหรือสัตว์ตระกูลฟันแทะ ปิดช่องทางการเข้าออกไม่ให้หนูเข้าสุู่อาคาร ที่พักอาศัย และสถานที่ทำงานด้วยการใช้หน้าต่างประตูมุ้งลวดหรือตะแกรงดักบริเวณท่อระบายน้ำ ใช้กรงดัก กาวดัก หรือยาเบื่อหนูบริเวณที่หนูหาอาหารหรือทางผ่านของหนู เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สารเคมีในยาเบื่อหนูนั้นค่อนข้างเป็นอันตราย หากใช้วิธีนี้เพื่อกำจัดหนู จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และเก็บยาเบื่อหนูในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงหลังใช้งาน