หมัดแมวกัดคนเป็นปัญหาที่คนเลี้ยงแมวอาจเคยเจอ เมื่อถูกหมัดแมวกัดและดูดเลือดไปมักทำให้เกิดตุ่มแดงขนาดเล็กบนผิวหนัง บางคนอาจรู้สึกคันบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งโดยทั่วไป อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากเกาบริเวณที่ถูกหมัดกัดอาจทำให้ตุ่มแดงกลายเป็นแผลติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
หมัด (Flea) เป็นแมลงดูดเลือดขนาดเล็ก ลำตัวแบน มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ มีหลายสายพันธุ์ มักพบในบ้านที่เลี้ยงสัตว์ เช่น แมวและสุนัข โดยหมัดจะอาศัยอยู่ตามใบหู คอ หน้าท้อง และหลังของสัตว์เพื่อดูดเลือด รวมทั้งซ่อนตัวอยู่ตามพื้นดิน และเครื่องใช้ในบ้าน เช่น พรมและที่นอน ซึ่งในบางครั้งอาจกระโดดมากัดคนได้ ทำให้เกิดอาการที่ผิวหนังตามมา
อาการที่พบจากหมัดแมวกัดคน
โดยปกติแล้ว หมัดมักอาศัยดูดเลือดจากสัตว์มากกว่า แต่บางครั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจถูกหมัดแมวกัดคนได้เช่นกัน โดยมักถูกกัดบริเวณเท้า ข้อเท้า และน่อง เนื่องจากหมัดชอบอาศัยอยู่ตามพื้นและจะกระโดดกัดเมื่อคนเดินผ่าน โดยหลังจากหมัดแมวกัดคนอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- รู้สึกคันที่ตุ่มและผิวหนังบริเวณรอบ ๆ อาจรู้สึกเจ็บ
- เกิดตุ่มนูนขนาดเล็กหรือผื่นสีชมพูหรือแดง ซึ่งมักสังเกตเห็นหลังถูกหมัดแมวกัดภายใน 30 นาที
- ตุ่มแดงอาจกลายเป็นแผลหรือตุ่มพอง (Blister) หลังจากถูกกัดประมาณ 1–2 วัน
อันตรายจากหมัดแมวกัดคน
โดยปกติแล้ว หมัดแมวกัดคนมักไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรง แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อ อาการแพ้ และนำไปสู่โรคบางอย่าง เช่น
การติดเชื้อจากการเกา
การเกิดการเกาแรง ๆ บริเวณที่ถูกหมัดกัด อาจทำให้ตุ่มแดงกลายเป็นแผลเปิด ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในบาดแผลและเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการผื่นบวมแดง จับแล้วรู้สึกอุ่น มีหนองและรู้สึกเจ็บผิวหนัง มีไข้ และต่อมน้ำเหลืองบวม
อาการแพ้ (Allergy)
บางคนอาจมีอาการแพ้น้ำลายของหมัด ซึ่งทำให้เกิดผื่นนูนแดงขนาดใหญ่ ลิ้นและริมฝีปากบวม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และเจ็บหน้าอก
พาหะนำโรคอื่น ๆ
หมัดบางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนได้ เช่น ไข้รากสาดใหญ่ พยาธิตัวตืด (Tapeworms) และหมัดแมวกัดคนอาจทำให้เกิดโรคไข้แมวข่วน (Cat Scratch Fever) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bartonella Henselae จากการถูกแมวที่มีเชื้อกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่บาดแผลเปิด ผู้ป่วยจะมีผื่นแดง ตุ่มพอง มีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองบวม
วิธีการรักษาหมัดแมวกัดคน
โดยทั่วไป อาการจากหมัดแมวกัดคนสามารถดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งผู้ที่ถูกหมัดแมวกัดควรดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกหมัดกัดด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antiseptic Soap) และน้ำสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ในเด็กเล็กให้ใช้สบู่ที่อ่อนโยนทำความสะอาดผิว
- ประคบเย็นโดยใช้เจลเย็นสำเร็จรูปหรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง และทาเจลว่านหางจระเข้ที่ผิวหนัง เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม
- ทาครีมหรือโลชั่นแก้คันที่หาซื้อได้เอง เช่น คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) และไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
- ควรตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการเกิดแผลติดเชื้อ
กรณีที่มีอาการคันมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งการรับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้ ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้น้ำลายหมัด แพทย์อาจจ่ายยาต้านฮิสตามีนที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) เพื่อรักษาอาการแพ้
การกำจัดหมัดแมวกัดคนให้พ้นจากบ้าน
การกำจัดหมัดที่อาศัยอยู่บนตัวแมวและในบ้านจะช่วยป้องกันการแพร่พันธุ์ของหมัด และลดโอกาสของการถูกหมัดแมวกัดได้ โดยวิธีกำจัดหมัดแมวกัดคน มีดังนี้
- ดูแลแมวไม่ให้มีตัวหมัด โดยสังเกตตามตัวของแมว เช่น ใบหู คอ หน้าท้อง และหลัง ซึ่งเป็นจุดที่หมัดชอบเกาะ ใช้หวีซี่ถี่สางหมัดออก และใช้แชมพูอาบน้ำแมวที่มีสารกำจัดหมัดเป็นประจำ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันหรือกำจัดเห็บหมัด ซึ่งจะช่วยฆ่าหมัดที่อยู่บนตัวแมวและป้องกันการเกาะของตัวหมัด โดยมีหลายรูปแบบ เช่น ยาหยดบริเวณหลังคอของแมว ยาฉีด และยารับประทาน โดยสอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาที่เหมาะสม
- พาแมวไปถ่ายพยาธิกับสัตวแพทย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อพยาธิตัวตืดจากการถูกหมัดกัด
- ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เช่น ดูดฝุ่น ถูบ้าน ซักทำความสะอาดพรมเช็ดเท้า ผ้าม่าน เครื่องนอนของคนและสัตว์เลี้ยงด้วยน้ำร้อน รวมทั้งตัดหญ้าในสวนให้สั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของตัวหมัด
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้บริการพ่นยากำจัดแมลงที่บ้าน ซึ่งจะช่วยกำจัดตัวหมัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทั่วไป หมัดแมวกัดคนมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย และอาการมักดีขึ้นหลังจากทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกกัดและทายาแก้คัน อย่างไรก็ตาม หากถูกหมัดแมวกัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน มีอาการแพ้ หรืออาการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา