แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดมือ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดได้ โดยแอลกอฮอล์ล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค และเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินชีวิต
การใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสมจะช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสีย ตาแดง และโรคโควิด-19 (Covid-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ก่อนการเลือกซื้อควรทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ล้างมือ และวิธีใช้ให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ล้างมือ
แอลกอฮอล์ล้างมือมีหลายรูปแบบ โดยรูปแบบที่ได้รับความนิยมคือแบบเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์ล้างมือที่วางขายทั่วไปมักส่วนประกอบ ดังนี้
1. แอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลักในแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายพื้นผิวโปรตีนที่หุ้มเชื้อโรค และทำให้เชื้อโรค เช่น ไวรัส และแบคทีเรีย ตายลงในที่สุด โดยแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในแอลกอฮอล์ล้างมือมี 3 ชนิด ซึ่งในผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือผสมกันหลายชนิด ได้แก่
- เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือเอทานอล (Ethanol)
- ไอโซโพพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol) หรือไอโซโพพานอล (Isopropanol)
- เอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์ (N-propyl alcohol) หรือ เอ็น-โพรพานอล (N-propanol)
ทั้งนี้ ฤทธิ์ในการทำลายเชื้อของแอลกอฮอล์จะลดลงหากมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำ โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยกำหนดให้ปริมาณแอลกอฮอล์ทั้งรูปแบบเจลและสเปรย์ต้องมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์มากกว่า 70% โดยปริมาตร (Volume by Volume: v/v) จึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) หรือเมทานอล (Methanol) เนื่องจากเป็นพิษต่อร่างกาย โดยอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ หากเผลอดื่มเมทานอลอาจทำให้ผู้ใช้ตาบอด ชัก ระบบประสาทถูกทำลาย หรือเสียชีวิตได้
2. สารให้ความชุ่มชื้น และสารแต่งกลิ่น
นอกเหนือจากส่วนผสมหลักอย่างแอลกอฮอล์แล้ว แอลกอฮอล์ล้างมืออาจมีส่วนผสมอื่น ๆ เช่น
- สารเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว เช่น กลีเซอรอล (Glycerol) และเจลว่านหางจระเข้ ประมาณ 3-5% ซึ่งผสมในแอลกอฮอล์ล้างมือทั้งชนิดเจลและสเปรย์ เพื่อช่วยทำให้ผิวไม่แห้งภายหลังการทำความสะอาด
- สารเพิ่มกลิ่นหอม เช่น น้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ อย่างทีทรีออยล์หรือลาเวนเดอร์ออยล์
ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ล้างมือในการทำความสะอาด
แม้แอลกอฮอล์ล้างมือจะเป็นเกราะป้องกันสุขภาพที่พกพาได้สะดวกสบายและหยิบใช้ได้ง่าย แต่การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก็ยังเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และควรปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร
แอลกอฮอล์ล้างมือสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสบางชนิดได้หากใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสม เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสโคโรนา เชื้อไวรัสโรต้า และเชื้อก่อโรคเริม แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อคริพโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) และเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile)
นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ล้างมือยังไม่สามารถทำความสะอาดมือที่เลอะคราบสกปรก เปื้อนน้ำมัน หรือสารเคมีอันตราย เช่น ยากำจัดศัตรูพืชและโลหะหนักได้ ผู้ใช้จึงต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่แทนทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคหรือสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย
วิธีใช้แอลกอฮอล์ล้างมือให้ถูกต้อง
เพื่อประสิทธิภาพในการล้างมือ ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. บีบเจลล้างมือหรือพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ลงบนฝ่ามือในปริมาณที่เพียงพอทั่วทั้งฝ่ามือและนิ้วมือ
2. ลูบให้ทั่วฝ่ามือหลังมือและนิ้วมือ
3. ทิ้งไว้ 20–30 วินาทีจนแอลกอฮอล์ระเหยแห้ง โดยไม่ล้างมือหรือเช็ดแอลกอฮอล์ล้างมือออกก่อนที่จะแห้ง เพราะจะเสียประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค
ทั้งนี้ ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ทุกครั้งหลังไอ จาม และสั่งน้ำมูก รวมทั้งก่อนและหลังไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา และไม่ลืมล้างมือให้สะอาดอีกครั้งด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที่ที่กลับถึงบ้าน หรือแวะล้างมือในห้องน้ำสาธารณะ
ทั้งนี้ การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยครั้งอาจทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ระคายเคือง ขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงฝ่ามือร่วมด้วย
ข้อควรระวังในการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ
การกลืนเอทานอลในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ส่วนการกลืนไอโซโพพานอลอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ และเกิดภาวะช็อกได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ ในแอลกอฮอล์ล้างมือที่หากกลืนเข้าไปแล้วอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน
นอกจากนี้ ข้อควรระวังในการใช้แอลกอฮอล์ล้างมืออย่างปลอดภัย มีดังนี้
- แอลกอฮอล์ล้างมือสามารถติดไฟได้ง่าย จึงไม่ควรวางหรือใช้ใกล้เปลวไฟหรือความร้อนสูง โดยควรเก็บให้ห่างจากแสงแดดหรืออากาศที่ร้อนจัด และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือภายใต้การดูของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เพราะการกลืนแอลกอฮอล์ล้างมือเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หากทราบว่าเด็กรับประทานแอลกอฮอล์ล้างมือ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- หากแอลกอฮอล์เข้าตา อาจทำให้ตาแดง แสบ ตาพร่า น้ำตาไหล และอาจทำลายเยื่อบุตาได้ ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 20 นาที เพื่อชะล้างสารพิษออกจากดวงตา แต่กรณีที่เจ็บตาอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
- ไม่ควรใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา และบริเวณที่มีบาดแผล เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง
- ไม่ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ในที่แคบ เพราะแอลกอฮอล์อาจฟุ้งโดนใบหน้า เข้าตา และหายใจเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคือง และแสบร้อน
- หากใช้แอลกอฮอล์ล้างมือในรูปแบบต่าง ๆ แล้วมีอาการแพ้ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ล้างมือ เช่น ผิวแห้งแตก เป็นขุย มีผื่นแดง คัน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที
อายุการใช้งานและการเก็บแอลกอฮอล์ล้างมือ
แอลกอฮอล์เป็นสารที่ระเหยง่ายในอุณหภูมิห้อง จึงควรดูแลเรื่องการจัดเก็บและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม แอลกอฮอล์ล้างมือส่วนใหญ่จะเก็บได้นาน 2–3 ปี แต่อายุของแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่ใช้
ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดแน่นสนิท ไม่เปิดฝาทิ้งไว้หรือทิ้งไว้กลางแดด เพราะอาจทำให้แอลกอฮอล์ระเหยและประสิทธิภาพลดลงจนไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ หากเปิดใช้งานแล้วหรือแบ่งบรรจุใส่ภาชนะอื่น อาจทำให้วันหมดอายุเปลี่ยนไป
แอลกอฮอล์ที่หมดอายุอาจไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดอาจลดลง ผู้ใช้จึงควรตรวจดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุก่อนการซื้อใช้เสมอ หากใช้แอลกอฮอล์ล้างมือแล้วพบว่าไม่มีความเย็น หรือแอลกอฮอล์มีลักษณะผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม แยกชั้น จับตัวเป็นก้อน และตกตะกอน ไม่ควรใช้ต่อ
ทั้งนี้ ควรเลือกซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีคุณภาพ ไม่มีส่วนผสมเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิท ระบุวันเดือนปีหมดอายุ และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ วิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างชัดเจน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน