หอยนางรมเป็นอาหารทะเลที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารโภชนาการต่าง ๆ คนจึงเชื่อว่าการรับประทานหอยนางรมอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ รักษาหรือป้องกันโรคภัยบางชนิด และยังมีความเชื่อที่ว่าการบริโภคหอยนางรมดิบอาจช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย
หอยนางรมเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น สังกะสี ทองแดง วิตามินบี 12 วิตามินดี โปรตีน และโอเมก้า 3 เป็นต้น โดยหอยนางรมปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานเพียง 68 แคลอรี่ แต่มีโอเมก้า 3 สูงถึง 672 กรัม ในขณะที่มีสังกะสี วิตามินบี 12 และทองแดงสูงถึง 600, 300 และ 200 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ/วันตามลำดับ
นอกจากนี้ หอยนางรมยังมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลต่ำเมื่อเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ โดยหอยนางรมดิบปริมาณ 85 กรัมมีคอเลสเตอรอลเพียง 21 มิลลิกรัมเท่านั้น ในขณะที่ปลาแซลมอน ปู และกุ้งมีไขมันชนิดนี้สูงถึง 54, 85 และ 166 มิลลิกรัมตามลำดับ
ดังนั้น หอยนางรมจึงทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารอย่างหลากหลายในปริมาณมาก ส่วนสรรพคุณทางยาของหอยนางรมนั้นจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด มีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนพิสูจน์บางแง่มุมไว้ ดังต่อไปนี้
กระตุ้นระบบสืบพันธุ์ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
หอยนางรมขึ้นชื่อด้านเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศตามธรรมชาติ เนื่องจากหอยนางรมอุดมไปด้วยแร่สังกะสีที่ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ดีขึ้น และหากผู้หญิงขาดแร่สังกะสีอาจกระทบต่อระบบสืบพันธุ์โดยอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ชะลอการผลิตไข่ที่มีคุณภาพดี และทำให้ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนลดต่ำลงด้วย
จึงเชื่อว่าการบริโภคหอยนางรมอาจช่วยเพิ่มแร่สังกะสีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบสืบพันธุ์ และยังกระตุ้นอารมณ์ทางเพศหรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง จึงมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ค้นคว้าในด้านนี้
มีงานค้นคว้าหนึ่งในอดีตเปิดเผยว่า การบริโภคหอยนางรม หอยเชลล์ และหอยกาบช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน ซึ่งการเพิ่มระดับของฮอร์โมนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ทดลองหลายรายมีความต้องการทางเพศเพิ่มสูงขึ้น และยังมีงานวิจัยที่พบว่าสารสกัดจากหอยนางรมอาจช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศและเพิ่มความทนทานในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาคุณสมบัติในด้านนี้ของหอยนางรมยังมีจำกัดและล้วนเป็นงานค้นคว้าเก่า ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการรับประทานหอยนางรม และควรรับประทานอาหารอย่างหลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากหอยนางรม ผู้บริโภคยังสามารถได้รับธาตุสังกะสีจากอาหารชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว ไข่ ธัญพืช เนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว เป็นต้น
ลดระดับไขมันในเลือด
ภาวะไขมันในเลือดสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังหรือร้ายแรงตามมาได้ หอยนางรมเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงคาดว่าการบริโภคหอยนางรมอาจช่วยลดหรือควบคุมระดับไขมันในเลือด
จากการค้นคว้าที่ผ่านมา มีการใช้สารสกัดจากหอยนางรมกับหนูทดลองที่มีไขมันในตับแล้วพบว่า สารสกัดจากหอยนางรมมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลง รวมถึงช่วยลดระดับความดันโลหิตลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดนี้
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิผลของเปลือกหอยนางรม พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกหอยนางรมช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ แต่ไม่มีผลต่อการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล และคาดว่าหอยนางรมยังอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาหรือป้องกันภาวะระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติได้ด้วย
แม้มีการศึกษาบางส่วนพิสูจน์ประสิทธิผลของหอยนางรมด้านการลดระดับไขมันในเลือด แต่ยังขาดงานวิจัยสนับสนุนที่ค้นคว้าทดลองในมนุษย์ จึงควรศึกษาด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
ลดระดับความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจึงต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษรวมไปถึงเรื่องอาหารการกินด้วย โดยมีงานค้นคว้าบางส่วนที่คาดว่าหอยนางรมอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้
การวิจัยหนึ่งที่ทดสอบประสิทธิภาพในการลดระดับความดันโลหิตของหอยนางรมในหนูทดลอง พบว่าการใช้สารสกัดโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) จากหอยนางรมช่วยลดระดับความดันโลหิตของหนูทดลองที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยสามารถลดระดับได้ทั้งความดันตัวบน (Systolic) และความดันตัวล่าง (Diastolic) ส่วนอีกการวิจัยหนึ่งที่ทดลองใช้สารสกัดจากหอยนางรมที่มีคุณสมบัติคล้ายยาลดความดันกลุ่ม ACEI กับหนูทดลองที่มีระดับความดันโลหิตสูง ก็พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดระดับความดันโลหิตตัวบนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงงานทดลองในสัตว์ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองในคน เพื่อประยุกต์ใช้หอยนางรมเพื่อรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ต่อไป
รักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเสื่อม เปราะ บาง ผิดรูปและแตกหักได้ง่าย หอยนางรมมีสารอาหารนานาชนิดรวมทั้งแคลเซียมและวิตามินดีที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างกระดูก
หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคหอยนางรมอาจช่วยรักษาหรือป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ด้วย ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยทดลองให้หนูบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ เสริมด้วยหอยนางรม ผลการทดลองพบว่าหอยนางรมอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
นอกจากการรับประทานหอยนางรม คนทั่วไปควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ธัญพืช และพืชผักใบเขียว โดยหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอออล์ เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ส่วนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและบริโภคอาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อไป
รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี
โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) คือ โรคตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่เป็นอันตรายต่อตับจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เช่น ตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับ เนื่องจากหอยนางรมมีสารโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด จึงคาดว่าสารเหล่านั้นอาจช่วยบำรุงและซ่อมแซมความเสียหายของตับได้ด้วย จึงมีการศึกษาประโยชน์ของการบริโภคหอยนางรมในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี
โดยมีงานวิจัยหนึ่งทดลองให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่ป่วยอย่างเรื้อรังบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ ร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัสลามิวูดีน พบว่าอาหารต่าง ๆ ที่ถูกนำมาต้มเป็นยา เช่น เปลือกส้มเขียวหวาน กระดองเต่า กึ๋นไก่ รวมทั้งหอยนางรม ช่วยให้ตับของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรมีการค้นคว้าโดยให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี ทดลองบริโภคหอยนางรมเพียงอย่างเดียว แล้วศึกษาประสิทธิผลทางการรักษาโรคนี้ให้แน่ชัดต่อไป
บำรุงสายตา
หอยนางรมอุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสีซึ่งช่วยนำวิตามินเอจากตับไปสร้างเม็ดสีเมลานินที่จอประสาทตา และจากการศึกษาเกี่ยวกับโรคตาที่สัมพันธ์กับอายุ พบว่าการบริโภคแร่สังกะสีจากอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสีอย่างหอยนางรมและปูอาจช่วยชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องรับประทานหอยนางรมและปูในปริมาณที่ทำให้ได้รับแร่สังกะสี 80 มิลลิกรัม จึงจะมีผลต่อการบำรุงสายตาตามการศึกษาดังกล่าว
ความปลอดภัยในการบริโภคหอยนางรม
แม้คนทั่วไปสามารถบริโภคหอยนางรมได้อย่างปลอดภัย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดีและวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากหลายคนนิยมรับประทานหอยนางรมแบบดิบ ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติหรือมีความเชื่อใด ๆ ก็ตาม ซึ่งหอยนางรมที่ไม่ผ่านการปรุงสุกอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีเป็นพิษ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio Vulnificus) ที่อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตจากแบคทีเรียชนิดนี้ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไต ดังนั้น ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงสูงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอยนางรมดิบ และปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการบริโภคอาหารใด ๆ ก่อนเสมอ
โดยทั่วไป ควรระมัดระวังในการรับประทานหอยนางรมด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- เลือกซื้อหอยนางรมที่สดและสะอาด โดยควรเลือกตัวที่มีเปลือกหอยปิดสนิทเข้าด้วยกัน
- รับประทานหอยนางรมที่ปรุงสุกแล้ว เพื่อให้ความร้อนช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานหอยนางรมหากแพ้อาหารประเภทหอยหรืออาหารทะเล จนกว่าจะผ่านการทดสอบอาการแพ้จนแน่ใจว่าไม่ได้แพ้หอยนางรม
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานหอยนางรมแล้วปรากฏตัวอย่างอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
- สัญญาณการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ตัวสั่น มีผื่นและตุ่มคันขึ้นตามผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือช็อค
- สัญญานอาการแพ้ เช่น ชาในปาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นคันตามผิวหนัง หน้าบวม คอบวม หายใจไม่ออก วิงเวียน หมดสติ หรือช็อค