หัวนมลอก รู้จักสาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสมด้วยตนเอง

หัวนมลอก เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังบริเวณหัวนมแห้ง และลอกเป็นแผ่นหรือเป็นขุย ซึ่งผู้ที่มีหัวนมแห้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกคันหรือเจ็บ หัวนมมีรอยแดงเกิดขึ้น โดยหัวนมลอกมักเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ผิวแห้ง โรคผื่นระคายสัมผัส การติดเชื้อ โรคพาเจทของหัวนม (Paget's disease of the nipple)

หัวนมเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากเต้านม และมีหน้าที่หลักในการส่งผ่านนมแม่ให้แก่ทารก รวมทั้งช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้อีกด้วย การที่หัวนมลอกหรือหัวนมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งมักพบบ่อยในผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ดังนั้น การสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณหัวนมและเต้านมของตนเอง และทำการรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ

หัวนมลอก

สาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมลอก

หัวนมลอกอาจเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังบริเวณหัวนมแห้ง ซึ่งอาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น 

1. ผิวแห้ง

ผิวแห้งเป็นอาการที่ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นและส่งผลให้ผิวแห้ง แตก หรือลอกได้ ซึ่งผิวแห้งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำ การอยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้งและเย็นอย่างห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยผิวหนังบริเวณหัวนมอาจแห้ง และทำให้เกิดหัวนมลอกได้

2. โรคเต้านมอักเสบ

เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อบริเวณเต้านมและหัวนมเกิดการอักเสบ เนื่องจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ท่อน้ำนมอุดตัน หรือการสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบ และทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น สัมผัสเต้านมแล้วเจ็บแสบ เต้านมบวม แดง หัวนมลอก 

3. โรคผื่นระคายสัมผัส

โรคผื่นระคายสัมผัสเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย รวมไปถึงหัวนม ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการสัมผัสสิ่งของหรือสารที่ทำให้ผิวหนังบริเวณหัวนมระคายเคือง เช่น แผ่นปิดหัวนม ครีมทาหัวนม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผ้า สบู่ น้ำหอม หรือเหงื่อที่สะสมอยู่ตามชุดชั้นในหรือเสื้อผ้า โดยโรคผื่นระคายสัมผัสอาจทำให้หัวนมลอก และทำให้รู้สึกเจ็บหรือคันหัวนมได้ 

4. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังบริเวณหัวนมอาจทำให้หัวนมลอก แห้ง คัน และอักเสบได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความเครียด หรืออาการระคายเคืองทางผิวหนัง 

5. การติดเชื้อราบริเวณหัวนม

การติดเชื้อราบริเวณหัวนมอาจเกิดขึ้นเมื่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียดีและเชื้อราบนผิวหนังขาดสมดุล ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อรามีจำนวนเพิ่มขึ้นและเกิดการติดเชื้อราได้ นอกจากนี้ หากทารกมีเชื้อราในปากก็อาจทำให้หัวนมติดเชื้อราจากการให้นมแม่ได้เช่นเดียวกัน 

โดยอาการของการติดเชื้อราบริเวณหัวนมอาจสังเกตได้จากลักษณะต่าง ๆ เช่น หัวนมลอก แห้ง และมีรอยแดง หัวนมแตก ผิวหนังบริเวณหัวนมและเต้านมดูมันวาว รู้สึกคันและเจ็บหัวนม

6. โรคพาเจทของหัวนม (Paget's Disease of the Nipple)

โรคพาเจทของหัวนมอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมลอก โดยโรคพาเจทของหัวนมเป็นมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคอาจยังไม่ชัดเจน โดยผู้ที่มีหัวนมลอกจากโรคพาเจทของหัวนมอาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น หัวนมเป็นแผลและเกิดอักเสบ แสบหัวนม คันหัวนม มีก้อนอยู่ในเต้านม หากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการมะเร็งเต้านมได้

 วิธีรับมือหัวนมลอกอย่างถูกวิธี 

หัวนมลอกเป็นอาการที่สามารถรับมือในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยอาจใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการหัวนมลอก เช่น 

  • หลีกเลี่ยงสิ่งของหรือสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณเต้านม
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแห้งและลอก
  • อาบน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ เพราะการอาบน้ำร้อนอาจทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น และอาจทำให้หัวนมลอกมีอาการรุนแรงขึ้นได้
  • ลดความเครียด เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และหัวนมลอกตามมา โดยสามารถลดความเครียดได้หลายวิธี เช่น ออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก 
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรหยุดหรือปล่อยให้น้ำนมค้างเต้าเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้โรคเต้านมอักเสบที่เกิดจากท่อน้ำนมอุดตันรุนแรงขึ้น ควรให้นมบุตรตามปกติ และประคบอุ่นบริเวณเต้านมเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดียิ่งขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการเกา โดยหัวนมลอกมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการคัน แต่การเกาเพื่อบรรเทาอาการคันอาจทำให้ผิวหนังได้รับความเสียหาย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ อาจลองใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุให้เกิดหัวนมลอก เช่น การใช้ยาต้านเชื้อราเพื่อรักษาหัวนมลอกที่เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้ ควรรักษาเชื้อราในปากของลูกควบคู่กันไปด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหัวนมลอกของคุณแม่ หรืออาจใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับหัวนมลอก เช่น การใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและคันของผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม หากหัวนมลอกมีอาการไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น หัวนมหรือเต้านมมีอาการเจ็บ บวม หรือแดงอย่างรุนแรง หัวนมมีหนองหรือของเหลวไหลออกมา ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป