หัวแตกแล้วรับมืออย่างไรให้ถูกต้อง

หัวแตก คืออาการแตกร้าวของกะโหลกศีรษะ ซึ่งมักเกิดจากการกระทบกระเทือนของศีรษะกับของที่แข็งกว่ากระโหลกศีรษะอย่างรุนแรง บางกรณีอาจถึงขั้นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่สมองได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีอาจส่งผลร้ายต่อผู้ป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

หัวแตก

ทั้งนี้ ลักษณะของกระโหลกศีรษะแตกนั้น แบ่งออกเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ ตามลักษณะบาดแผลที่เกิดขึ้น ดังนี้

 

  • กะโหลกศีรษะแตกร้าวเป็นแนว (Linear Skull Fractures) คือลักษณะการแตกของศีรษะซึ่งพบได้บ่อยที่สุด คือจะเป็นเพียงรอยแตกร้าว แต่ไม่ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะเคลื่อนออกจากที่เดิม ถือว่าไม่อันตราย และสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ในเวลาไม่กี่วัน
  • กะโหลกศีรษะแตกยุบ (Depressed Skull Fractures) การแตกของกะโหลกศีรษะที่อาจไม่ก่อให้เกิดบาดแผลภายนอก แต่ถือว่าค่อนข้างรุนแรง เพราะการแตกชนิดนี้จะทำให้เศษกระดูกที่แตกหักนั้นไปโดนสมองจนเกิดการกระทบกระเทือนได้ ลักษณะแตกชนิดนี้อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมด้วยเพื่อช่วยสมานกะโหลกศีรษะที่แตกร้าว
  • กะโหลกศีรษะแตกร้าวบริเวณฐาน (Basilar Skull Fracture) การแตกของกะโหลกศีรษะชนิดนี้รุนแรงมากที่สุด เพราะเป็นการแตกที่ทำให้เกิดรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะหรือบริเวณดวงตา บางครั้งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มสมอง และมีเลือดไหลออกมาตามจมูกและปากได้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • กะโหลกศีรษะแตกร้าวบริเวณรอยประสานของกระโหลกศีรษะ (Diastatic Skull Fractures) เป็นการแตกของกะโหลกศีรษะที่มักพบในเด็กทารกและเด็กเล็ก บริเวณที่ศีรษะแตกจะอยู่ตรงรอยประสานของกระโหลกศีรษะ ทำให้รอยประสานมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

หัวแตกมีอาการอย่างไร ?

โดยส่วนใหญ่แล้วหากหัวแตกมีบาดแผลเปิดให้เห็นอย่างชัดเจนก็จะสามารถระบุชนิดอาการของบาดแผลได้ แต่ในบางกรณีที่กะโหลกศีรษะแตกแต่มีลักษณะไม่ชัดเจนก็อาจทำให้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ คือ

  • มีเลือดไหลออกมาจากบาดแผล รอบดวงตา จมูก ปาก
  • มีรอยฟกช้ำ หรือบวม บวมบริเวณแผล ดวงตา หรือหลังใบหู
  • มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงที่บาดแผล
  • บาดแผลแดงหรือจับแล้วรู้สึกอุ่น

นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ที่คล้ายกับอาการที่เกิดจากการหัวแตก แต่เป็นเพียงแค่อาการบาดเจ็บที่ศีรษะเท่านั้น ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตาเบลอ รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย
  • เสียการทรงตัว คอแข็ง ขยับไม่ได้
  • รู้สึกมึนงง มีอาการซึมลง หรือนอนหลับมากผิดปกติ
  • เป็นลม
  • มีอาการชัก

แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการหัวแตกได้อย่างไร ?

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการหัวแตกจะสามารถระบุได้จากการตรวจร่างกายภายนอก แต่หากไม่มีบาดแผลภายนอกให้เห็น หรือแพทย์ต้องการเห็นลักษณะการแตกของกะโหลกศีรษะชัดขึ้นก็อาจใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการตรวจที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้แพทย์เห็นความเสียหายของกะโหลกศีรษะและอาการบาดเจ็บของศีรษะและสมองได้ชัดเจนที่สุด
  • เอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยอาการหัวแตก แต่แพทย์มักใช้น้อยกว่าวิธีแรกเนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  • เอกซเรย์ (X-Ray) จะใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการเห็นความเสียหายของกระดูกกะโหลกศีรษะเพียงอย่างเดียว โดยการเอกซเรย์จะทำให้เห็นชัดเจนขึ้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อหัวแตก

เมื่อพบผู้ประสบอุบัติเหตุศีรษะแตก ควรรีบเข้าไปช่วยเพราะหากทิ้งไว้อาจยิ่งทำให้อาการแย่ลง โดยผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรปฏิบัติดังนี้

  • ตรวจการหายใจ จับชีพจร หากผู้ป่วยไม่ได้สติ หายใจไม่สะดวกหรือไม่สามารถหายใจเองได้ควรทำซีพีอาร์ (CPR) และช่วยการหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากไม่จำเป็นจนกว่าการช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง เพราะอาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น หากต้องทำการเคลื่อนย้าย ควรระมัดระวังบริเวณศีรษะและคอให้มากที่สุด โดยการสอดมือทั้งสองข้างเข้าไปประคองศีรษะและด้านหลังของไหล่ หรือใช้แผ่นไม้กระดานรองบริเวณลำตัวและศีรษะของผู้ป่วย พยายามอย่าให้ศีรษะของผู้ป่วยขยับเขยื้อน
  • ตรวจดูบริเวณบาดแผล แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งแปลกปลอมเพื่อตรวจบริเวณแผล เพราะอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้ยากขึ้น
  • หากมีเลือดไหลออกมาจากแผล ควรหาผ้าสะอาดปิดบริเวณแผลเพื่อควบคุมการไหลของเลือด หากเลือดยังไหลออกมาไม่หยุด ควรเปลี่ยนผ้าปิดแผลแล้วทำการกดเพื่อหยุดเลือด
  • หากผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ให้ผู้ช่วยเหลือพยุงศีรษะและคอของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ศีรษะและลำคอของผู้ป่วยขยับเขยื้อน จากนั้นพลิกตัวผู้ป่วยไปด้านข้าง วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสำลักอาเจียนของตัวเองได้

ทั้งนี้หากแผลศีรษะแตกไม่รุนแรง และผู้ป่วยยังคงมีสติ ควรรีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อจัดการกับบาดแผล และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด แต่ถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินโดยทันที เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเองอาจเป็นอันตรายได้

  • ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือผู้ป่วยหมดสติ
  • มีเลือดไหลออกมาจากจมูก หู และบาดแผลไม่หยุด
  • มีของเหลวไหลออกมาจากจมูก และหู
  • ใบหน้ามีอาการบวม มีเลือดไหล หรือมีอาการฟกช้ำรุนแรง
  • มีสิ่งแปลกปลอมยื่นออกมาจากกระโหลกศีรษะ

การรักษาอาการหัวแตก

กระโหลกศีรษะแตก หากเป็นการแตกชนิดรอยร้าวจะสามารถสมานตัวได้เองและหายได้ในเวลาหลายเดือน ส่วนบาดแผลภายนอก หรืออาการเจ็บปวดก็จะค่อย ๆ หายไปภายในเวลา 5-10 วัน ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีกะโหลกศีรษะแตกแบบแผลเปิด แพทย์อาจต้องสั่งยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระหว่างที่แผลยังไม่หายดี

ส่วนผู้ป่วยที่ศีรษะแตกในลักษณะยุบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกระโหลกศีรษะ และป้องกันความเสียหายของสมอง หรือหากแผลไม่รุนแรงแต่มีอาการบาดเจ็บที่สมองเกิดขึ้น แพทย์ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน และจำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการภายในห้องไอซียู (ICU) จนกว่าแพทย์จะเห็นว่าอาการเข้าสู่ภาวะปลอดภัย

ทั้งนี้ ในการผ่าตัดแพทย์จะใช้ยาสลบเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ จากนั้นจะค่อย ๆ นำเศษของกะโหลกศีรษะที่แตกหักออกมา และใส่กลับไปยังบริเวณเดิม แล้วใช้ลวดเล็กยึดชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะไว้ด้วยกัน เพื่อรอให้ร่างกายซ่อมแซมเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่ง

หลังจากแพทย์เฝ้าระวังจนมั่นใจว่าผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นแล้วแพทย์อาจย้ายผู้ป่วยไปพักในห้องพักฟื้น และหากอาการของผู้ป่วยดีขึ้นจนเป็นที่น่าพึงพอใจ แพทย์ก็อาจให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้

สิ่งที่ผู้ป่วยหัวแตกควรหลีกเลี่ยง

เพื่อป้องกันอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังต่อไปนี้ ได้แก่

  • การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังได้
  • การนำสิ่งแปลกปลอมออกจากบาดแผล เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรืออาจเผลอหยิบเศษกระโหลกศีรษะออกมาได้
  • การขยับเขยื้อนร่างกาย เพราะอาจทำให้อาการเลวร้ายลง
  • การอยู่ห่างจากผู้ป่วย ผู้เข้าช่วยเหลือควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงมือแพทย์
  • การใช้ยา ห้ามผู้ป่วยที่มีอาการศีรษะแตกใช้ยาทุกชนิดจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนจากหัวแตกที่ควรระวัง

ความเสี่ยงจากอาการศีรษะแตกที่อันตรายที่สุดคืออาการบาดเจ็บที่สมอง โดยเฉพาะภาวะเลือดคั่งในสมอง นอกจากนี้ แผลศีรษะแตกแบบเปิด อาจทำให้เชื้อโรคซึ่งเป็นอันตรายเข้าสู่บาดแผลและอาจเข้าสู่สมองได้ หากไม่รีบรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ อาการหัวแตกยังอาจส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มสมองทำให้เกิดการฉีกขาด ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น หากแพทย์สั่งใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การป้องกันอาการหัวแตก

หัวแตกเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งป้องกันได้ด้วยการสวมอุปกรณ์ป้องกันศีรษะในบางกรณี เช่น ใส่หมวกกันน็อกเมื่อขับขี่หรือซ้อนรถจักรยานยนต์ หรือเมื่อต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ และควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่อย่างประมาท หรือการดื่มแล้วขับ เป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กอาจมีโอกาสหัวแตกได้ง่าย ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการวางเด็กทิ้งไว้บนเตียง หรือโต๊ะตามลำพัง เพราะเด็กอาจเคลื่อนที่หรือกลิ้งตกจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ปกครองควรใช้ที่กั้นบริเวณบันไดเพื่อป้องกันเด็กเล็กปีนขึ้นไปเล่นบนบันได ซึ่งอาจตกลงมาจนเกิดอุบัติเหตุได้