หัวใจเต้นช้า (Bradycardia) เป็นภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที โดยภาวะนี้เป็นภาวะอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกายได้ โดยเฉพาะสมองและหัวใจ เนื่องจากการที่อัตราการเต้นหัวใจที่ต่ำผิดปกติอาจส่งผลให้อวัยวะในร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อย่างไรก็ตาม การที่หัวใจเต้นช้าหรือการมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำไม่ได้ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเสมอไป เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นในคนที่อายุยังน้อย หรือคนที่เป็นนักกีฬา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักมีแนวโน้มหัวใจเต้นช้าแต่อาจยังไม่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงใด ๆ
ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับอาการหัวใจเต้นช้ามาให้ทุกคนได้ลองศึกษากัน เพื่อที่ทุกคนจะได้พอสังเกตได้ว่าหัวใจเต้นช้าแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติและควรจะรับมือกับมันอย่างไร
สิ่งที่ควรรู้เมื่อมีภาวะหัวใจเต้นช้า
หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปยังที่ต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ หรืออวัยวะทุกส่วน โดยสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อัตราการเต้นของหัวใจควรจะอยู่ที่ระหว่าง 60–100 ครั้ง/นาที
ส่วนภาวะหัวใจเต้นช้าจะเป็นภาวะที่หัวใจเต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งอาจส่งผลให้อวัยวะในร่างกายได้รับผลกระทบจากการมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลงได้ โดยสาเหตุก็อาจเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น
- เนื้อเยื่อหัวใจเสื่อมตามอายุ
- กลุ่มเซลล์ Sinus Node ในหัวใจที่มีหน้าที่คอยกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจมีความผิดปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
- ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
- ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ระดับสารเคมีในเลือดบางชนิดขาดความสมดุล เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาสำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นอกจากการเจ็บป่วยแล้ว ภาวะหัวใจเต้นช้ายังอาจเกิดได้จากสาเหตุทั่วไปได้เช่นกัน เช่น เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงนอนหลับ เกิดขึ้นในคนที่อายุยังน้อย หรือเกิดในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกกรณีที่ภาวะหัวใจเต้นช้าจะส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างเช่นกรณีที่ภาวะหัวใจเต้นช้ามีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายเป็นประจำ การที่อายุยังน้อยอยู่ หรือเกิดขึ้นในช่วงนอนหลับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักไม่ทำให้เกิดความผิดปกติ
โดยกรณีที่หัวใจเต้นช้าและทำให้เกิดความผิดปกติมักจะมีอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
- รู้สึกหายใจไม่อิ่ม
- รู้สึกสับสน หรือไม่ค่อยมีสมาธิ
- เจ็บหน้าอก
- อ่อนเพลีย
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
คำแนะนำในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นช้า
โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาหัวใจเต้นช้าที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแบบนาน ๆ ครั้ง มักไม่ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงอาจจะต้องหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้แพทย์คอยติดตามอาการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ยังควรหมั่นติดตามอัตราการเต้นหัวใจของตัวเองและคอยสังเกตอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากรู้สึกเป็นกังวล หรือพบว่าปัญหาหัวใจเต้นช้าไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออาการเริ่มเกิดขึ้นบ่อยหรือเริ่มมีอาการทางร่างกายเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ หรือเป็นลม
ส่วนผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นช้าที่มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกสับสน ไม่มีสมาธิ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือเวียนศีรษะบ่อย ๆ ในกรณีนี้ ผู้ที่มีอาการควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าอาการหัวใจเต้นช้าจะมีสาเหตุมาจากสาเหตุทั่วไปอย่างเกิดขึ้นตอนนอน การออกกำลังกายเป็นประจำ หรือสาเหตุใด ๆ ก็ตาม
และสำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นช้าจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ หรือการใช้ยารักษาโรค ในกรณีนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัวอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมหรือการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์