หายใจมีเสียงหวีด เกิดจากอะไรได้บ้าง รับมืออย่างไรให้เหมาะสม

หายใจมีเสียงหวีด (Wheezing) เป็นอาการผิดปกติของผู้ป่วยที่เสียงลมหายใจมีลักษณะแหลมสูง โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งขณะหายใจเข้าและหายใจออก และมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการหายใจลำบาก 

หายใจมีเสียงหวีดเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่อวัยวะบางส่วนในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเกิดการอักเสบและตีบตัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติมากมาย โดยอาการนี้เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในทารกและเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืด (Asthma)

หายใจมีเสียงหวีด เกิดจากอะไรได้บ้าง รับมืออย่างไรให้เหมาะสม

ทั้งนี้ อาการหายใจมีเสียงหวีดอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติได้มากมาย ทั้งในกรณีรุนแรงและไม่รุนแรง บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับอาการหายใจมีเสียงหวีดมาให้ได้ศึกษากัน ทั้งสาเหตุที่พบได้บ่อย วิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้น และสัญญาณผิดปกติที่ควรรีบไปพบแพทย์ 

สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการหายใจมีเสียงหวีด

อาการหายใจมีเสียงหวีดเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากโรคและภาวะผิดปกติมากมาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

1. โรคหืด

โรคหืดเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการหายใจมีเสียงหวีด โดยโรคหืดเป็นโรคที่ส่งผลให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยเกิดการตีบตัน บวม และผลิตเสมหะออกมามากผิดปกติจนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น ไอ และหายใจไม่อิ่ม 

2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจัดเป็นกลุ่มโรคทางปอดชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้หลอดลมของผู้ป่วยเกิดการอุดตันจากการได้รับสารหรือแก๊สบางชนิด โดยเฉพาะควันบุหรี่ เป็นระยะเวลานาน โดยอาการที่มักพบได้ เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย และมีเสมหะเหนียวข้นมากผิดปกติ 

3. ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดบวมเป็นภาวะที่มักพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปอดบวมเป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อของปอดจนนำไปสู่การอักเสบบริเวณถุงลมและอาจทำให้มีของเหลวหรือหนองไปสะสมอยู่ร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเป็นปอดบวมมักจะพบอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ไอมีเสมหะ มีไข้ และหนาวสั่น

4. ภูมิแพ้ (Allergies)

ภูมิแพ้เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ อย่างฝุ่นละออง เกสร เห็บ หรืออาหารบางชนิด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบางชนิด เช่น จาม คัน ผื่นขึ้น หายใจไม่อิ่ม หรือในบางกรณีอาจพบอาการหายใจมีเสียงหวีดร่วมด้วย    

5. โรคติดเชื้อไวรัส RSV

โรคติดเชื้อไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นโรคติดเชื้อไวรัสบริเวณปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงอายุก่อน 2 ปีและ 65 ปีขึ้นไป โดยในระยะแรกที่ติดเชื้อ เชื้อไวรัสจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้อ่อน ๆ เจ็บคอ จาม ปวดศีรษะ 

แต่เมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างจนส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณทางเดินอากาศ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอรุนแรง ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ และหายใจมีเสียงหวีด โดยเฉพาะขณะหายใจออก

นอกจากสาเหตุในข้างต้นแล้ว อาการหายใจมีเสียงหวีดยังอาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง กรดไหลย้อน การติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มะเร็งปอด การใช้ยาบางชนิด หรือการสูบบุหรี่ 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการหายใจมีเสียงหวีด

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการหายใจมีเสียงหวีดอาจลองปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ

  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มระดับความชื้นในอากาศ
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA (High–Efficiency Particulate Absorption Filter) ในตัวเครื่องเพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากสารก่อภูมิแพ้
  • ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
  • ฝึกหายใจ โดยการหายใจเข้าทางจมูก จากนั้นห่อปากเล็กน้อยและค่อย ๆ พ่นลมหายใจออกช้า ๆ 

ทั้งนี้ แม้ในบางกรณีที่อาการหายใจมีเสียงหวีดอาจไม่ส่งผลกระทบรุนแรงใด ๆ หรืออาจค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่ควรไปพบแพทย์หากอาการเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง หรือสังเกตพบอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น หายใจถี่ หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้ เกิดอาการบวมบริเวณเท้าหรือขาโดยไม่ทราบสาเหตุ เสียงแหบ ปากหรือลิ้นบวม หรือผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บมีสีคล้ำลง 

แต่ผู้ที่มีอาการหายใจมีเสียงหวีดหลังจากถูกแมลงบางชนิดกัดต่อย หลังรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด หลังจากสำลักอาหาร หรือพบอาการผิดปกติอย่างหายใจไม่ออกขั้นรุนแรง ผิวหนังคล้ำลง หรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำออกเขียวร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาทันที