ความหมาย หายใจไม่ออก
หายใจไม่ออก (Breathing Difficulty) เป็นอาการบ่งบอกว่าร่ายกายไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ อาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น โรคประจำตัว หรือการรับประทานยารักษาโรค เป็นต้น ผู้ที่มีอาการหายใจไม่ออกจะหายใจเร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อเพิ่มออกซิเจนเข้าไปในปอด เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และบางครั้งอาจรู้สึกแน่นหน้าอกร่วมด้วย อาการหายใจไม่ออกเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากอาการรุนแรงจำเป็นต้องไปพบแพทย์
อาการหายใจไม่ออก
อาการหายใจไม่ออกอาจเป็นสัญญาณเตือนของความเจ็บป่วย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเสมอไป แต่ต้องคอยสังเกตอาการจากรูปแบบการหายใจที่อาจมีลักษณะของการหายใจลำบากหรือหายใจเร็วผิดปกติ รวมถึงอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนี้
- เสียงแหบ
- หายใจมีเสียงหวีด
- หายใจเฮือก ปีกจมูกบาน หน้าอกบุ๋ม
- แน่นจมูกและแน่นหน้าอก
- ไอ
- มีไข้
- ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน รวมถึงริมฝีปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ
หากพบว่ามีอาการหายใจเร็ว มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบและมีเสียงหวีดเกิดขึ้นขณะหายใจออก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปอดบวม ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรงและถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันเวลาอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อที่ปอด และถ้ามีอาการหายใจไม่ออก มีเสียงหวีดหรือมีอาการเหนื่อยหอบอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหอบหืด หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ตัวเขียว เล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง เดินหรือพูดไม่ได้ หรือหน้าอกบุ๋มควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สาเหตุของอาการหายใจไม่ออก
อาการหายใจไม่ออกอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ หายใจไม่ออกระยะสั้นหรือแบบฉับพลัน และหายใจไม่ออกระยะยาวหรือแบบเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
สาเหตุของอาการหายใจไม่ออกระยะสั้นหรือแบบฉับพลัน
- โรคหอบหืด อาจทำให้หายใจไม่ออกหรือหายใจมีเสียงหวีด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอากาศเย็น การติดเชื้อไวรัส หลอดลมอักเสบ หรืออาการแพ้แบบรุนแรง
- โรคปอดบวม ซึ่งเป็นการติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้หายใจไม่ออก อาจมีไข้สูง ไอและมีเสมหะร่วมด้วย
- ความเครียด อาจทำให้ตื่นตระหนก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว และมีเหงื่อออกมาก
- ยาบางชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่รับประทานยาโพรพราโนลอล ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ หรือยาแอสไพริน อาจทำให้หายใจไม่ออกได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น การสำลัก เป็นต้น
- การติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัดคัดจมูก หลอดลมอักเสบ หลอดลมตีบ ทำให้หายใจลำบาก
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น อาการปวด หรือภาวะโลหิตจาง ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หายใจไม่ออกได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการหายใจไม่ออกระยะยาวหรือแบบเรื้อรัง
- โรคอ้วน เพราะไขมันทำให้ผนังทรวงอกและกระบังลมเคลื่อนที่ได้ยากขึ้น อาจทำให้มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง และออกซิเจนในเลือดต่ำ
- โรคหอบหืด ที่ไม่ได้ควบคุมอาการ
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นอาการของโรคปอดชนิดเรื้อรังที่ผู้ป่วยจะมีถุงลมโป่งพอง และ/หรือ หลอดลมอักเสบเป็นเวลานานทำให้ไอมีเสมหะ เหนื่อยและหายใจไม่ออก อาจจะทำให้มีอาการหายใจไม่ออกเป็นระยะ มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้หัวใจสูบฉีดได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถส่งออกซิเจนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเหมาะสม ทำให้หายใจถี่ขึ้นเพื่อส่งออกซิเจนไปที่ปอด ซึ่งการหายใจถี่อาจทำให้รู้สึกหายใจไม่ออกได้
- ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากมีปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และหายใจไม่ออก
การวินิจฉัยอาการหายใจไม่ออก
แพทย์อาจวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกโดยถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่
- ระยะเวลาที่เกิดอาการ เช่น หายใจไม่ออกมาสักระยะแล้วหรือเพิ่งจะมีอาการ
- ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น โรคประจำตัว ยารักษาโรค เป็นต้น
- ลักษณะของเกิดอาการ เช่น หายใจไม่ออกเฉพาะตอนขยับร่างกาย หรือตอนอยู่เฉย ๆ ก็มีอาการด้วย และขณะนอนหงายหายใจไม่ออกมากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
- อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะหายใจไม่ออก เช่น เป็นไข้ น้ำหนักลด ไอ มีเสมหะ หรือเจ็บหน้าอก
- วิถีชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เช่น การโดยสารเครื่องบินที่ใช้เวลาบินนาน นอนนาน ๆ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจหัวใจ การตรวจความดันโลหิต การตรวจความดันในปอด การทดสอบการทำงานของปอด การวัดสมรรถภาพปอดโดยใช้ Peak Flow Meter การเอกซเรย์หน้าอก การตรวจเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
การรักษาอาการหายใจไม่ออก
การรักษาจะขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจน
(Oxygen Therapy) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาหอบหืด ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิต หรืออาจใช้ยาขยายหลอดลมในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจมีเสียงหวีด อีกทั้งหากพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่ออก ผู้ป่วยอาจต้องเลิกสูบบุหรี่ หรือหากมีสาเหตุมาจากโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่มาเกินไป ผู้ป่วยอาจต้องลดน้ำหนักเพื่อทำให้อาการหายใจไม่ออกนั้นดีขึ้น
การป้องกันอาการหายใจไม่ออก
อาการหายใจไม่ออกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคประจำตัว ยารักษาโรค หรือวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้น การป้องกันอาจทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยหรือจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ นอกจากจะลดความเสี่ยงของอาการหายใจไม่ออกแล้ว ยังลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็งได้อีกด้วย
- ลดน้ำหนัก หากโรคอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ออก
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งหากตรวจพบถึงสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ออก
- ปรึกษาแพทย์และวางแผนหรือกำหนดแนวทาง ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากมีอาการหายใจไม่ออกที่แย่ลงกว่าเดิม