หายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ รับมืออย่างไรดี ?

ภาวะหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์ โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ทำให้ผนังทรวงอกและขนาดของมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนอาจเกิดภาวะหายใจไม่อิ่ม และทำให้คุณแม่หลายคนรู้สึกวิตกกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วยหรือไม่

โดยข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้หญิงตั้งครรภ์เข้าใจภาวะหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น และช่วยให้รับมือกับภาวะดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

Don'ts for Pregnancy

สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์

ภาวะหายใจไม่อิ่มในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์ และระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นให้สมองต้องการออกซิเจนมากขึ้น เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกเหมือนอากาศไม่พอหายใจและต้องสูดหายใจเข้าลึก ๆ เสมอ

คุณแม่บางรายอาจเผชิญภาวะหายใจไม่อิ่มในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์หากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือตั้งครรภ์ลูกแฝด เนื่องจากผนังทรวงอกจะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มความจุของปอด และอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดเมื่อใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปด้วย

ส่วนภาวะหายใจไม่อิ่มในช่วงไตรมาสที่ 3 เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้กระบังลมถูกดันสูงขึ้นจนทำให้คุณแม่หายใจไม่สะดวก

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคหืด และโลหิตจางก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน

หายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไร ?

เคล็ดลับต่อไปนี้อาจช่วยให้บรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ให้ดีขึ้นได้

  • นั่งหลังตรง การนั่งหลังตรงให้อกผายไหล่ผึ่งจะช่วยให้ปอดขยายและมีความจุอากาศภายในปอดมากขึ้น
  • ใช้หมอนหนุนสูงขึ้นขณะนอน การใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้นขณะนอนหลับจะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในขณะที่กระบังลมถูกดันให้สูงขึ้น
  • ใช้ชีวิตให้ช้าลง การใช้ชีวิตให้ช้าลง ไม่เร่งรีบทำกิจกรรมต่าง ๆ และทำอะไรอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ได้
  • ไม่หักโหม การหักโหมทำงานหนักหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไปอาจทำให้หายใจไม่ทัน หากรู้สึกเหนื่อยหรือมีภาวะหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้น ควรหยุดพักสักครู่ก่อนเริ่มทำงานต่อ   
  • ผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวลและความเครียดอาจส่งผลให้รู้สึกหายใจไม่ออกได้ ดังนั้น ควรเรียนรู้การรับมือควบคุมปัญหาและจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม และอาจนอนพักผ่อนหรือทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • ออกกำลังกาย การเล่นโยคะและการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ ช่วยพัฒนาการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อวางแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
  • อดทน ภาวะหายใจไม่อิ่มอาจทำให้รู้สึกอึดอัดและไม่สะดวกสบาย แต่การหายใจของคุณแม่จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหลังคลอดบุตร

หายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม ?

แม้ภาวะหายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ แต่ในบางครั้ง อาการหายใจไม่อิ่มก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ เช่น

  • โรคหืด หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคหืดจะมีปัญหาเรื่องการหายใจที่รุนแรงขึ้นขณะตั้งครรภ์ และอาจร้ายแรงจนกระทบต่อชีวิตมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เนื่องจากภาวะหายใจไม่อิ่มอาจรุนแรงขึ้นได้ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
  • โลหิตจาง ภาวะโลหิตจางอาจเป็นสาเหตุทำให้หายใจไม่อิ่มขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ริมฝีปากและปลายนิ้วซีดหรือมีสีออกม่วงคล้ำร่วมด้วย
  • ปอดบวม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีภาวะหายใจไม่อิ่มที่เกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ปอดบวม
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากรู้สึกเจ็บขณะสูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้น เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดได้ ซึ่งแม้พบการป่วยด้วยโรคไม่บ่อยนัก แต่อาการป่วยอาจรุนแรงถึงชีวิตได้

หายใจไม่อิ่ม และอาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการหายใจไม่อิ่มอย่างรุนแรง หรืออาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • อาการป่วยแย่ลงสำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด
  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นผิดปกติ
  • เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บขณะหายใจ
  • ผิวซีด
  • ไอเรื้อรัง ไอร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น หรือไอเป็นเลือด
  • รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกเหมือนได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ริมฝีปาก นิ้วมือ และนิ้วเท้าซีดหรือมีสีออกม่วง