หายใจไม่อิ่ม (Shortness of Breath, Dyspnea) คือ อาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก โดยมักจะเกิดเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง อย่างขณะออกกำลังกายหรือเดินขึ้นบันได บางครั้งอาจเป็นผลกระทบจากอารมณ์ความกลัวหรือความเครียด นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น อากาศที่ไม่ถ่ายเท มลพิษทางอากาศ อากาศร้อน หรืออยู่ในที่สูง
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหายใจไม่อิ่มสูงกว่าและรุนแรงกว่าคนทั่วไป บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะอาการนี้มักจะเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง เช่น โรคหอบหืด แพ้อาหาร โรคอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเลือดจาง ภาวะเส้นเลือดปอดอุดตัน หรือโรคปอดบวม ดังนั้น เราควรเรียนรู้ถึงสัญญาณอันตรายและไม่ควรละเลยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม
สัญญาณอันตรายจากอาการหายใจไม่อิ่ม
แม้ว่าอาการหายใจไม่อิ่มโดยทั่วไปอาจบรรเทาและหายได้เองจากการตัดปัจจัยกระตุ้นที่ไม่เหมาะสมออกไป ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ภาวะทางอารมณ์ หรือสิ่งแวดล้อม แต่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการในลักษณะต่อไปนี้
- มีอาการแบบฉับพลันรุนแรง
- อาการไม่ทุเลาหลังจากตัดปัจจัยกระตุ้นออกไปแล้ว
- เท้าและข้อเท้าบวม
- นิ้วมือและริมฝีปากเป็นสีม่วงหรือเขียว
- หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก
- หายใจมีเสียงหวีดหรือแหบพร่า
- มีไข้สูง หนาวสั่น ไอ
- อาการรุนแรงขึ้นหลังจากใช้ยาพ่น
- คลื่นไส้
- เป็นลม
สำหรับผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่มเป็นบางครั้งบางคราว อาการอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและป้องกันอาการในอนาคต
รับมืออาการหายใจไม่อิ่มด้วยเทคนิคการหายใจ
เทคนิคการหายใจเป็นอีกวิธีง่าย ๆ ที่อาจช่วยปรับการหายใจให้ปกติและบรรเทาอาการหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่อิ่ม โดยสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เมื่อเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม ควรนั่งพักบนเก้าอี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเป็นลม
- พยายามผ่อนคลายร่างกายให้มากที่สุด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอและไหล่
- วางมือไว้บนหน้าท้องและหายใจเข้าผ่านทางจมูกช้า ๆ หากทำถูกต้องจะสังเกตเห็นได้ว่าหน้าท้องนั้นจะพองออก
- เมื่อหายใจเข้าจนสุด ให้หายใจออกผ่านทางปากช้า ๆ จนหน้าท้องยุบ
- ทำซ้ำจนอาการดีขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรโทรเรียกรถพยาบาล
ป้องกันอันตรายจากอาการหายใจไม่อิ่ม
อาการหายใจไม่อิ่มอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกันควรมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างที่อาจช่วยลดการเกิดอาการนี้ได้ เช่น
- ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมและรักษาอาการของโรคที่เป็นอยู่
- ฝึกการควบคุมอารมณ์ด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างการนั่งสมาธิหรือการทำงานอดิเรก
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยให้ปอดแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้น
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ส่งผลเสียต่อปอดโดยตรงและทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการ อย่างอากาศร้อนและฝุ่นควัน
- ผู้ป่วยที่ใช้ออกซิเจนสำรอง ควรตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
นอกจากนี้ การศึกษาบางส่วนยังพบว่าน้ำหนักตัวที่มากเกินส่งผลให้ปอดและระบบทางเดินหายใจทำงานหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม ดังนั้น ควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการนี้ได้