หาว เป็นการอ้าปากแล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อนำอากาศเข้าสู่ปอด ก่อนจะหายใจออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของร่างกายที่มักเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ โดยขณะที่หาวอาจมีการหลับตา มีน้ำตาไหล การยืดของกล้ามเนื้อใบหน้าและลำคอ หรือการเกิดเสียงในขณะหาวได้ด้วยเช่นกัน
การหาวมักเป็นสัญญาณของความอ่อนเพลียและง่วงนอน และอาจเกิดขึ้นได้เมื่อรู้สึกเบื่อหน่ายด้วย โดยปกติแล้ว การหาวเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป แต่ในบางครั้ง การหาวบ่อยกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของการหาว
การหาวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสารสื่อประสาทหลายชนิดในสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) สาเหตุของการหาวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่าการหาวอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
บ่งบอกความง่วง
การหาวมักเป็นสัญญาณของความง่วง การหาวก่อนนอนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังเตรียมเข้าสู่การนอนหลับ รวมถึงในตอนเช้าที่เราอาจยังรู้สึกง่วงและเพลีย จึงหาวหลังตื่นนอนด้วยเช่นกัน
ปลุกร่างกายให้ตื่นตัว
การหาวอาจเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเกิดอาการเบื่อ หรือทำกิจกรรมที่ไม่น่าสนใจและชวนง่วง เช่น ขณะนั่งเรียนในห้อง ขับรถ หรือดูรายการโทรทัศน์ที่ไม่น่าตื่นเต้น จะสังเกตได้ว่าเรามักจะไม่ค่อยหาวเมื่อทำกิจกรรมที่ขยับตัวอย่างกระฉับกระเฉง เช่น ทำความสะอาดบ้าน และทำอาหาร
เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย การหาวจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอเคลื่อนไหว ซึ่งอาจกระตุ้นให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้นนั่นเอง
กระตุ้นระบบหายใจ
การหาวอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายและสมองมีออกซิเจนไม่เพียงพอ เพราะการหาวจะช่วยให้เราสามารถหายใจเข้าลึก ๆ นำออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น ในขณะที่การหายใจออกจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระแสเลือดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ลดอาการหูอื้อ
การหาวเป็นวิธีที่ช่วยแก้อาการหูอื้อจากแรงดันอากาศได้ โดยขณะที่เราเดินทางด้วยเครื่องบินหรือขึ้นที่สูงแล้วความกันในหูกับแรงดันอากาศภายนอกไม่เท่ากัน จะทำให้มีอาการหูอื้อ การหาวจะช่วยเปิดท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ที่ช่วยปรับความดันของหู และทำให้หายจากอาการหูอื้อได้
ลดอุณหภูมิสมองและร่างกาย
การหาวอาจช่วยลดอุณหภูมิภายในสมองได้ โดยในขณะที่หาว กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรจะยืดออก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณลำคอและศีรษะ โดยการหายใจเข้าลึก ๆ ในขณะหาวจะนำเอาอากาศเย็นเข้าไปผ่านทางปาก เมื่อรวมกับการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นจากการหาว จะทำให้เลือดและน้ำไขสันหลังไหลเวียนไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น และทำให้อุณหภูมิของสมองเย็นลง
นอกจากนี้ การหาวอาจช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย โดยมีนักวิจัยพบว่าคนมักหาวในฤดูร้อนมากกว่าฤดูหนาว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูง เช่น ไมเกรน ลมชัก และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) อาจมีอาการหาวบ่อย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการของโรคเหล่านี้ด้วย
ผลเสียต่อสุขภาพจากการหาวบ่อย
โดยปกติแล้ว การหาวเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เว้นแต่จะมีอาการหาวบ่อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะที่ต้องการการรักษา เช่น
มีปัญหาในการนอนหลับ
หาวบ่อยอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ หรือโรคลมหลับ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ เนื่องจากไม่สามารถนอนหลับสนิทได้
โรคประจำตัว
ภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการหาวบ่อย ๆ ได้แก่
- โรคหัวใจ เช่น ภาวะเลือดออกภายในหัวใจ หรือเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ไมเกรน
- โรคลมชัก
- ตับวาย
- โรคหลอดเลือดสมอง และเนื้องอกในสมอง
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคพาร์กินสัน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาบางชนิดอาจทำให้บางคนมีผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึม หรือนอนไม่หลับได้ เช่น
- ยาแก้แพ้ เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) และไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
- กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาต้านเศร้า SSRI
- ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs) เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin)
หากมีอาการหาวบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเกิดจากภาวะเจ็บป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการป่วยด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการหาว
หากต้องเผชิญกับอาการหาวจากความง่วง ความเหนื่อยล้า และความเบื่อหน่ายที่ไม่มีสาเหตุปัจจัยจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ อาจบรรเทาอาการง่วงและหาวบ่อยได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พักผ่อนอย่างเพียงพอให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอายุ โดยทั่วไป ผู้ใหญ่ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมง หากกำลังเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หรือไข้หวัด ควรพักผ่อนยาวให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็ว
- ปรับพฤติกรรมก่อนนอน โดยปิดเสียงและแสงที่อาจรบกวนการนอนได้ ไม่รับประทานอาหารก่อนเข้านอน ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะทำให้นอนไม่หลับบนเตียงก่อนเข้านอน เช่น ดูโทรทัศน์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ
- สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากอาการป่วย ควรเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะอ่อนเพลียนานจนเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม และไม่อดอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
- ทำกิจกรรมนอกบ้านและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการอ่อนเพลีย แต่ไม่ควรออกกำลังกายใกล้กับเวลาเข้านอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนหลับยาก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการอ่อนเพลีย หรือง่วงซึม หากจำเป็นต้องใช้ยา สามารถปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาหรือปรับยา
- งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้ยาเสพติด
การตรวจและรักษาอาการหาวบ่อย
หากมีอาการหาวบ่อย หรือง่วงนอนมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับอาการและความถี่ในการหาว พฤติกรรมการนอนว่าผู้ป่วยพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สอบถามประวัติทางการแพทย์และการรักษา รวมทั้งอาจทำการตรวจร่างกายในเบื้องต้นด้วย หากแพทย์มีข้อสงสัยเพิ่มเติมถึงอาการป่วยที่เป็นสาเหตุ อาจส่งตรวจผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น
ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
ตรวจการนอนหลับเป็นวิธีตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือโรคลมหลับ โดยจะมีการตรวจวัดระดับออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ คลื่นไฟฟ้าสมอง การกลอกตา การขยับของหน้าอกและช่องท้อง เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในระหว่างการนอนหลับอย่างไร
ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG)
วิธีนี้เป็นการตรวจปฏิกิริยาและการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ใช้ตรวจในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคลมชัก หรือมีภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่กระทบต่อการทำงานของสมอง
ตรวจเลือด
การตรวจเลือดอาจใช้ตรวจเมื่อแพทย์มีข้อสงสัยถึงอาการชัก โรคลมชัก หรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการหาวบ่อย ๆ โดยแพทย์อาจตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด และตรวจหาระดับสารเคมีต่าง ๆ ในเลือดด้วย เพื่อตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อ หรือตรวจการทำงานของตับและไต เป็นต้น
การฉายภาพด้วยเครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)
เอ็มอาร์ไอคล้ายกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยจะอยู่บนเตียงของเครื่องสแกน ปล่อยให้สนามแม่เหล็กวิ่งผ่านรอบตัวผู้ป่วย แล้วคอมพิวเตอร์จะสร้างภาพฉายอวัยวะภายในบริเวณที่ต้องการตรวจออกมา มักใช้ตรวจหาความผิดปกติในระบบต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง ไขสันหลัง และการทำงานของหัวใจ
หากตรวจพบว่ามีอาการหาวบ่อยจากความผิดปกติในการนอน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งอาจจ่ายยานอนหลับเพื่อช่วยรักษาบรรเทาอาการด้วย
กรณีที่การหาวบ่อยเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ลดปริมาณยารักษาที่ใช้อยู่ เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น หรือหยุดใช้ยาชนิดนั้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และไม่ปรับยาหรือหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันด้วยตนเอง
ส่วนผู้ที่หาวบ่อยจากโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคลมชัก ตับวาย เป็นต้น