หูฟัง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและไม่เสี่ยงหูหนวก ?

หูฟัง เป็นอุปกรณ์ยอดฮิตที่หลายคนพกพาติดตัวตลอดเวลา เพราะช่วยให้ฟังเสียงและดื่มด่ำกับความบันเทิงตรงหน้าโดยไม่รบกวนผู้อื่น แต่การใช้หูฟังติดต่อกันเป็นเวลานานหรือการปรับระดับเสียงให้ดังจนเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการได้ยินและอาจร้ายแรงจนทำให้หูหนวก ซึ่งการใช้หูฟังอย่างถูกวิธีสามารถช่วยป้องกันผลกระทบเหล่านั้นได้

1537 หูฟัง Resized

ข้อดีและข้อเสียของหูฟังแต่ละประเภท

หูฟังที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ซึ่งมีลักษณะ ข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนี้

  • หูฟังครอบหู มีวัสดุที่ทำไว้สำหรับคาดบนศีรษะ สามารถป้องกันเสียงรบกวนภายนอกได้ดี ผู้ใช้อาจไม่จำเป็นต้องฟังเสียงในระดับที่ดังจนเกินไป แต่หูฟังชนิดนี้มักมีขนาดใหญ่ จึงพกพาได้ไม่สะดวก
  • หูฟังเอียร์บัด จำเป็นต้องใส่ไว้นอกรูหู จึงป้องกันเสียงรบกวนภายนอกได้ไม่ดีนัก หากเร่งระดับเสียงให้ดังขึ้นเพื่อกลบเสียงจากภายนอกก็อาจส่งผลเสียต่อระบบการได้ยิน อย่างไรก็ตาม หูฟังชนิดนี้เหมาะกับการใช้ระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะขณะวิ่งหรือขี่จักรยาน เพราะผู้ใช้ยังสามารถได้ยินเสียงจากภายนอก จึงอาจรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ง่ายกว่าการใช้หูฟังชนิดอื่น
  • หูฟังเสียบหู ถูกออกแบบมาให้ใส่ไว้ในรูหู มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก จึงอาจไม่จำเป็นต้องฟังเสียงในระดับที่ดังจนเกินไป อีกทั้งยังมีขนาดเล็กแลหะพกพาได้สะดวก ทว่าไม่เหมาะสำหรับการใช้ในขณะเดินทาง เพราะผู้ใช้จะไม่ค่อยได้ยินเสียงภายนอกและอาจเกิดอุบัติเหตุอันตรายได้

หูฟังส่งผลกระทบต่อระบบการได้ยินอย่างไร ?

ในทางการแพทย์ การฟังเสียงที่ดังเกิน 90 เดซิเบล อาจส่งผลกระทบต่อระบบการได้ยินในระยะยาวได้ โดยการใช้หูฟังและปรับระดับเสียงให้อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของระดับเสียงดังสุดอาจทำให้เกิดเสียงดังประมาน 85 เดซิเบล และหากปรับระดับเสียงให้สูงขึ้นก็อาจให้เสียงดังถึง 104 เดซิเบล ซึ่งเมื่อฟังเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเสี่ยงต่อภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียง และอาจทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรหรือหูหนวกได้

ทำไมเสียงดังจึงทำให้สูญเสียการได้ยิน ?

เสียงจากภายนอกจะเดินทางผ่านตัวกลางและเข้าสู่หูในรูปคลื่นเสียง ภายในหูชั้นในจะมีขนเส้นเล็ก ๆ ทำหน้าที่แปลงคลื่นเสียงไปยังสมอง จากนั้นสมองจึงประมวลผลเสียงที่เราได้ยิน การฟังเสียงดังทำให้เส้นขนดังกล่าวเกิดความเสียหาย หากฟังเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เส้นขนเกิดความเสียหายอย่างถาวร และส่งผลให้สูญเสียการได้ยินได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระบบการได้ยินเกิดความผิดปกติ

  • ได้ยินเสียงหวีด เสียงหึ่ง หรือเสียงดังก้อง หลังจากฟังเสียงดัง หรือที่เรียกว่าอาการหูอื้อ
  • ได้ยินเสียงเบาหรือเพี้ยนไปจากปกติ

วิธีการใช้หูฟังอย่างถูกต้อง

โดยทั่วไป การใช้หูฟังนั้นปลอดภัยและไม่เป็นอันตราย ทว่าการฟังเสียงดังนานจนเกินไปอาจส่งผลให้ประสาทหูเสื่อม อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ปรับระดับเสียงให้ดังไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของระดับเสียงที่ดังสุด
  • ไม่ควรใช้หูฟังติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง โดยควรหยุดใช้ประมาณ 5 นาทีเมื่อฟังครบ 1 ชั่วโมง
  • เลือกใช้หูฟังที่ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มระดับเสียงให้ดังขึ้นเพื่อกลบเสียงดังกล่าว