ห่วงอนามัย ทางเลือกการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิง

ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนที่ไม่เคยใช้ห่วงอนามัยมาก่อนอาจมีข้อสงสัยต่างต่างนานา การศึกษาข้อดี ข้อเสีย และรายละเอียดการใช้ จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ดีหรือไม่

ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) มีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ใช้วิธีใส่เข้าไปให้พอดีกับมดลูก ทำหน้าที่ป้องกันอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ ปัจจุบันห่วงอนามัยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • ห่วงอนามัยชนิดเคลือบสารทองแดง เป็นห่วงอนามัยชนิดมีลวดทองแดงพันอยู่รอบ ๆ อุปกรณ์ ซึ่งจะปล่อยสารทองแดงออกมาเพื่อก่อให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุมดลูก ส่งผลให้ไข่ที่ตกออกมาไม่สามารถปฏิสนธิได้และทำให้มดลูกมีสภาพไม่เหมาะต่อการฝังตัวของไข่ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ห่วงอนามัยชนิดนี้มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี
  • ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนโพรเจสติน เป็นห่วงอนามัยชนิดที่เคลือบฮอร์โมนโพรเจสตินไว้บริเวณส่วนที่เป็นรูปตัวที ฮอร์โมนดังกล่าวจะส่งผลให้ร่างกายผลิตมูกในช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น ทำให้สเปิร์มและไข่ปฏิสนธิกันได้ยากขึ้น  

ห่วงอนามัยใส่อย่างไร ?

ห่วงอนามัยต้องใส่โดยแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน ในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนเริ่มขั้นตอนการใส่ เพราะการใส่ห่วงอนามัยอาจทำให้เกิดอาการปวดเกร็งที่ท้องได้

ผู้ที่เข้ารับการใส่ห่วงอนามัยต้องขึ้นไปนั่งบนขาหยั่งเป็นอันดับแรก จากนั้นแพทย์จะนำท่อขนาดเล็กที่มีห่วงอนามัยสอดเข้าไปในช่องคลอด และดันท่อเข้าไปจนถึงบริเวณมดลูก แล้วค่อย ๆ ดันห่วงอนามัยออกจากท่อ เมื่อเข้าที่ดีแล้วจึงนำท่อออกมา โดยจะมีเชือกที่ยึดติดกับห่วงอนามัยยื่นออกมาจากช่องคลอดประมาณ 1-2 นิ้ว หลังจากใส่แล้วอาจต้องใช้เวลา 1-2 วันกว่าอาการปวดเกร็งหรือเลือดออกทางช่องคลอดจะหายไป

ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้หญิงใส่ห่วงอนามัยในช่วงมีประจำเดือนเพื่อลดอาการเจ็บปวด เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกขยายตัวออกมากที่สุด ทำให้ง่ายต่อการใส่ ห่วงอนามัยจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดทันที แต่ในกรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน อาจต้องรออย่างน้อย 7 วัน สารจากห่วงอนามัยจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ข้อดีและข้อเสียของห่วงอนามัย

การใช้ห่วงอนามัยในการคุมกำเนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

ข้อดี

  • ห่วงอนามัยทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง
  • มีอายุการใช้งานยาวนาน 3-10 ปี
  • ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากนัก เพียงหมั่นสังเกตด้ายที่ต่อออกมาจากห่วงอนามัย หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอย่างสม่ำเสมอ
  • สามารถนำห่วงอนามัยออกได้ตลอด แต่ต้องทำโดยแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกมาเท่านั้น
  • หากต้องการหยุดคุมกำเนิด ก็ทำได้ทันทีหลังนำห่วงอนามัยออกจากร่างกาย
  • โอกาสเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ห่วงอนามัยในการคุมกำเนิด

ข้อเสีย

  • ผู้ใช้ไม่สามารถใส่ห่วงอนามัยด้วยตัวเองได้
  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคุมกำเนิดบางวิธี
  • ผู้ใช้อาจเสี่ยงติดเชื้อภายในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังจากใส่ห่วงอนามัย แต่พบได้น้อย
  • อาจทำให้เกิดรูบริเวณมดลูกได้
  • หากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ ห่วงอนามัยที่อยู่ภายในมดลูกอาจส่งผลให้ครรภ์เกิดภาวะแทรกซ้อน
  • ห่วงอนามัยอาจหลุดออกมานอกช่องคลอด
  • ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ใครใช้ห่วงอนามัยได้บ้าง ?

ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถใช้ห่วงอนามัยในการคุมกำเนิดได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีคู่นอนเพียงคนเดียวและมีความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์น้อย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ห่วงอนามัยในกรณีต่อไปนี้

  • เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเมื่อไม่นานก่อนจะใส่ห่วงอนามัย
  • กำลังตั้งครรภ์
  • เป็นโรคมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก
  • มีเลือดออกผิดปกติบริเวณช่องคลอด
  • ลักษณะของมดลูกไม่เอื้ออำนวยต่อการใส่ห่วงอนามัย

นอกจากนี้ ห่วงอนามัยบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อคนบางกลุ่มได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้สารทองแดง หรือป่วยเป็นโรควิลสัน ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ร่างกายไม่อาจขับทองแดงออกจากร่างกายได้และเกิดการสะสมไว้ที่ตับ ซึ่งหากมีสารทองแดงในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในกรณีดังกล่าว สามารถเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนแทน ยกเว้นผู้ป่วยโรคตับ มะเร็งเต้านม หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้สูง

ความเสี่ยงจากการใช้ห่วงอนามัย

การคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ในบางกรณีอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงทางสุขภาพบางประการ ดังนี้

  • ประจำเดือนลดลง หญิงที่ใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนอาจมีประจำเดือนน้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะส่งผลให้มดลูกสร้างเยื่อบุมดลูกน้อยลง แต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดแต่อย่างใด  
  • เสี่ยงต่อการแท้ง การตั้งครรภ์ในขณะที่มีห่วงอนามัยอยู่ภายในมดลูกอาจทำให้เสี่ยงแท้งบุตรได้ ดังนั้น หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อนำห่วงอนามัยออกทันที
  • เกิดการติดเชื้อ การใช้ห่วงอนามัยไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้ติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจนส่งผลให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในอนาคต

ห่วงอนามัยส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตหรือไม่ ?

การใช้ห่วงอนามัยไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต หากวางแผนมีบุตรสามารถไปพบแพทย์เพื่อนำห่วงอนามัยออกได้เลย โดยร่างกายจะพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ทันทีหลังจากนั้น ไม่ต้องรอให้ตัวยาที่ออกฤทธิ์ในระหว่างใส่ห่วงอนามัยหมดไปแต่อย่างใด

ห่วงอนามัยทำให้ระคายเคืองหรือไม่ ?

โดยปกติแล้ว การใส่ห่วงอนามัยไม่ทำให้รู้สึกระคายเคืองแต่อย่างใด ทว่าผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอยหรือรู้สึกไม่สบายตัวในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังใส่ห่วงแต่อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ หายไปเมื่อร่างกายเกิดความเคยชิน

ห่วงอนามัยกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ?

หญิงที่ใส่ห่วงอนามัยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ เนื่องจากห่วงอนามัยจะถูกใส่เข้าไปภายในมดลูก ฝ่ายชายอาจรู้สึกถึงปลายเชือกของห่วงอนามัยได้ แต่จะไม่รู้สึกถึงตัวอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม หากใส่ห่วงอนามัยแล้วรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม แพทย์จะตรวจดูและขยับห่วงอนามัยให้กลับเข้าที่ แต่ในกรณีที่อาการผิดปกติดังกล่าวไม่ได้เกิดจากห่วงอนามัย แพทย์จะตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ห่วงอนามัยหลุดได้หรือไม่ ?

โดยปกติแล้วห่วงอนามัยจะอยู่ภายในมดลูกได้โดยไม่หลุดหรือเคลื่อนที่ การที่ห่วงอนามัยหลุดออกมาจากช่องคลอดนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจเสี่ยงเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มต่อไปนี้

  • หญิงที่ไม่เคยมีบุตร
  • มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
  • มดลูกมีลักษณะหรือขนาดผิดปกติ
  • ผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยทันทีหลังคลอดบุตรหรือหลังแท้งบุตรในช่วงไตรมาสที่ 2
  • มีเนื้องอกในมดลูก

ทั้งนี้ ห่วงอนามัยมักหลุดออกมาในช่วงมีประจำเดือน จึงควรหมั่นสังเกตที่ผ้าอนามัย และตรวจดูว่ายังมีเชือกอยู่ภายในช่องคลอดหรือไม่ หากสงสัยว่าห่วงอนามัยหลุดไปหรือเคลื่อนตัวออกตำแหน่ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและแก้ไข

การนำห่วงอนามัยออกทำอย่างไร ?

การนำห่วงอนามัยออกจากมดลูกต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเช่นเดียวกับการใส่ ห้ามพยายามนำออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงกับมดลูกหรือช่องคลอดได้ วิธีนำห่วงอนามัยออกมานั้นใช้เวลาไม่นาน หลังจากขึ้นนั่งบนขาหยั่ง แพทย์จะใช้คีมคีบสอดเข้าไปในช่องคลอดแล้วค่อย ๆ คีบห่วงอนามัยออกมา ทั้งนี้ ผู้หญิงอาจมีอาการปวดเกร็งท้องหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 1-2 วัน ก่อนจะหายเป็นปกติ