อนุมูลอิสระ รู้ทันอันตรายและวิธีจัดการเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

อนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุลที่อิสระที่ไม่เสถียร และจำเป็นต้องจับคู่หรือทำปฏิกิริยากับอะตอมอื่น ๆ ในร่างกายหรือเซลล์เพื่อให้เสถียร แต่ถ้าหากสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป อนุมูลอิสระอาจสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของเซลล์ต่าง ๆ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ ริ้วรอย 

ร่างกายสามารถผลิตอนุมูลอิสระได้เองตามธรรมชาติ หรืออาจได้รับจากปัจจัยต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งการมีอนุมูลอิสระมากเกินไปในร่างกายอาจส่งผลเสียได้ ดังนั้น ร่างกายจึงต้องการสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อยับยั้งและลดความเสียหายของเซลล์ในร่างกายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อีกด้วย

Free Radicals

แหล่งที่มาของอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระในร่างกายอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเผาผลาญน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน การปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร หรือการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ ปัจจัยจากภายนอกก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน โดยร่างกายอาจได้รับสารที่ประกอบด้วยอนุมูลอิสระจำนวนมากหรือสารดังกล่าวอาจไปกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายผลิตอนุมูลอิสระมากขึ้นก็ได้ เช่น

  • การเผชิญรังสีต่าง ๆ เช่น รังสียูวี รังสีเอกซเรย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง
  • การสูดดมควันบุหรี่
  • มลพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนัก
  • การรับประทานอาหารที่ปิ้งหรือย่างจนไหม้เกรียม
  • สารเคมีจากอุตสาหกรรม
  • ก๊าซโอโซนที่ถูกนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ในบ้าน
  • ยาฆ่าแมลง 

วิธีจัดการกับอนุมูลอิสระเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

การจัดการกับอนุมูลอิสระอาจจำเป็นต้องพึ่งสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งร่างกายของคนเราสามารถผลิตสารต้านอนุมูลอิสระขึ้นมาได้เอง หรืออาจรับประทานอาหารต้านอนุมูลอิสระเพิ่ม 

โดยอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้อาจมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น

  • เบตาแคโรทีน (Beta-carotene) และวิตามินเอ พบมากในผัก ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น แคร์รอต ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก มะเขือเทศ ผักคะน้า ผักตำลึง
  • ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) อาหารที่พบได้ เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง บรอกโคลี่ ข้าวโพด ถั่วลันเตา
  • ไลโคปีน (Lycopene) พบในผักผลไม้ที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม 
  • ซีลีเนียม (Selenium) พบได้ในอาหาร เช่น เนื้อแดง ทูน่า ตับ ไข่ ผักโขม
  • วิตามินซี พบมากในผลไม้จำพวกฝรั่ง และส้ม  
  • วิตามินอี พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ถั่ว เมล็ดพันธุ์ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลชนิดโฮลเกรน

นอกจากนี้ การลดปริมาณสารอนุมูลอิสระในร่างกายอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ จากภายนอก เช่น หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดและมลพิษต่าง ๆ ไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงโดยวิธีปิ้ง ย่าง หรือเผาจนไหม้เกรียม