อยากสูง ต้องทำอย่างไร ?

คนส่วนใหญ่ต่างใฝ่ฝันอยากสูง ไม่ว่าจะเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจหรือเพิ่มโอกาสในหน้าที่การงาน ซึ่งความสูงของแต่ละคนที่แตกต่างกันนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น พันธุกรรม เพศ โภชนาการ ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น

โดยปกติร่างกายคนเราจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุประมาณ 18-20 ปี หลังจากนี้ความสูงจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมากหรือไม่เพิ่มขึ้นเลย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือการออกกำลังกายบางชนิดเพื่อเพิ่มความสูงในช่วงนี้มักไม่ได้ผล ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ขณะอายุยังน้อย อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสูงได้ 

Get Higher

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูง

ความสูงที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน เป็นผลมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

  • พันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสูง โดยคิดเป็น 60-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ แนวโน้มความสูงของบุตรจึงมักขึ้นอยู่กับยีนส์ของพ่อและแม่
  • เพศ ชายและหญิงมีช่วงที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth Spurt) แตกต่างกัน ในเพศชาย ช่วงนี้มักเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 11 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 13 ปี ส่วนเพศหญิงมักเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 11-12 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เพศชายจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4 นิ้วต่อปี และเพศหญิงสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3 นิ้วต่อปี อัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เพศชายมีความสูงมากกว่าเพศหญิงโดยเฉลี่ย 5 นิ้ว
  • โภชนาการ อาหารมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก การได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอ อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าและตัวเตี้ยกว่าเด็กที่มีโภชนาการดี
  • ปัญหาสุขภาพ โรคหรือความผิดปกติบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและส่วนสูง เช่น
    • กลุ่มอาการเทอเนอร์ (Turner syndrome) เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง ผู้ป่วยอาจมีรูปร่างเตี้ยและมีพัฒนาการทางเพศช้ากว่าปกติ
    • โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว ซึ่งผิดไปจากเม็ดเลือดแดงปกติที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมและบุ๋มตรงกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มเจริญเติบโตช้า และเข้าสู่วัยแรกรุ่นช้ากว่าคนทั่วไป
    • ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมนี้อาจส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าคนทั่วไป เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone Deficiency) เป็นต้น

ทำไมคนเราจึงหยุดสูง

การเจริญเติบโตของร่างกายบางด้านนั้นมีข้อจำกัด รวมถึงความสูงที่จะไม่เพิ่มขึ้นอีกเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง โดยทั่วไปคนเรามักสูงขึ้นในอัตราที่น้อยมากในช่วงอายุ 18-20 ปี และจะหยุดสูงในที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการหยุดเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะบริเวณแผ่นการเจริญเติบโต (Growth Plate) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนพิเศษบริเวณส่วนปลายของกระดูกยาว ในวัยเด็กกระดูกส่วนนี้ยังเจริญเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้กระดูกตามส่วนต่าง ๆ ยาวขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้กระดูกอ่อนดังกล่าวกลายเป็นส่วนของกระดูกแข็ง และไม่สามารถเติบโตได้อีก

อย่างไรก็ตาม ความสูงของแต่ละคนอาจเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยในแต่ละวันแม้กระดูกจะหยุดเจริญเติบโตไปแล้ว เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันนั้นส่งผลต่อการยุบตัวและคลายตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ ความสูงในระหว่างวันของคนเราจึงไม่คงที่ โดยอาจลดลงได้มากที่สุดประมาณ 1.5 เซนติเมตร

เคล็ดลับสำหรับคนอยากสูง

การเพิ่มความสูงในช่วงที่หยุดสูงไปแล้วเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การสร้างพฤติกรรมและทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่ยังเด็ก จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่อยากสูง โดยปฏิบัติได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้สด อาหารจำพวกธัญพืช โปรตีน และนม หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลและไขมัน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพบางชนิดที่ส่งผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก จนทำให้ความสูงลดลง ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เช่น ปลา นม ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารที่ให้วิตามินดี เช่น ปลาทูน่า ไข่แดง ก็มีส่วนช่วยสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้เช่นกัน
  • หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยเร่งการผลิตโกรทฮอร์โมนที่ร่างกายต้องใช้ในการเจริญเติบโต เด็ก ๆ ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ร่างกายหยุดสูงแล้ว การออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ซึ่งเกิดจากการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูกและอาจทำให้ความสูงลดลงได้
  • นอนหลับให้เพียงพอ ในวัยเด็กที่ร่างกายยังเจริญเติบโตอยู่นั้น ควรนอนอย่างน้อย 9-11 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนขึ้นขณะนอนหลับ หากนอนไม่เพียงพออาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนชนิดนี้และฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ น้อยลง ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
  • จัดระเบียบท่าทางให้ถูกต้อง การยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาแล้ว ยังอาจกระทบต่อส่วนสูงด้วย เช่น การงอหลังตลอดเวลาอาจทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป รู้สึกปวดคอ ปวดหลัง และดูเตี้ยกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาด้านนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้หลักการยศาสตร์ (Ergonomics) คือการปรับสภาพการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน บรรยากาศในที่ทำงาน หรือลักษณะท่าทางการทำงาน ให้เหมาะสมกับโครงสร้างและข้อจำกัดของร่างกาย หรืออาจใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยจัดระเบียบร่างกายให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง
  • เล่นโยคะ เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยการเล่นโยคะนั้นช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เพิ่มความอ่อนตัวและความยืดหยุ่นของร่างกาย ปรับสรีระให้เหมาะสม เสริมสร้างบุคลิกที่ดี และอาจทำให้ดูสูงขึ้นได้
  • รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แพทย์มักไม่แนะนำให้เด็กที่ต้องการเพิ่มความสูงหรือผู้สูงอายุที่มีส่วนสูงลดลงใช้วิธีนี้ แต่มักใช้กับผู้มีการเจริญเติบโตผิดปกติหรือผู้ที่ต้องการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงเท่านั้น โดยจะแนะนำให้ผู้ที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนผิดปกติรับประทานโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือแนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้ การรับประทานอาหารเสริมไม่อาจช่วยให้สูงขึ้นได้ หากร่างกายหยุดเจริญเติบโตไปแล้ว