อสุจิ ตอบข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้

อสุจิ (Sperm) คือเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณท่อเซมินิเฟอรัส (Seminiferous tubes) ภายในอัณฑะ และถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางอวัยวะเพศ โดยอสุจิจะมีหน้าที่ปฏิสนธิกับไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง หากการปฏิสนธิสมบูรณ์ก็อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

การหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้งจะประกอบด้วยอสุจิ และของเหลวที่ประกอบไปด้วยน้ำ น้ำหล่อลื่น พลาสมา รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ เช่น กรดอะมิโน โปรตีน แคลเซียม กลูโคส ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับพลังงานเพื่อให้อสุจิใช้เดินทางไปยังระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงและปฏิสนธิกับไข่ 

Sperm

ตอบคำถามเกี่ยวกับอสุจิที่หลายคนสงสัย

อสุจิเป็นสิ่งที่หลายคนรู้จักและเคยได้ยินมาก่อน แต่บางคนยังอาจมีคำถามเกี่ยวอสุจิบางอย่างที่หลายคนสงสัย เช่น

1. น้ำอสุจิเป็นอย่างไร

น้ำอสุจิมีสีขาวหรือสีเทา ซึ่งมักจับตัวกันเป็นลิ่มทันทีหลังจากการหลั่งอสุจิ และกลายเป็นของเหลวหลังจากเวลาผ่านไป 5–40 นาที โดยน้ำอสุจิที่ปกติมักมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเยลลี่ แต่ถ้าอสุจิไม่จับตัวกันหรือมีลักษณะเหลว อาจสื่อถึงความผิดปกติของภาวะเจริญพันธุ์ได้

โดยปกติแล้ว ปริมาณของน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะอยู่ที่ประมาณ 2–5 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณของน้ำอสุจิอาจขึ้นอยู่กับความถี่ในการหลั่ง ผู้ที่มีการหลั่งอสุจิบ่อยครั้งอาจมีปริมาณน้ำอสุจิน้อย แต่ถ้าหากไม่มีการหลั่งอสุจิเป็นเวลานานอาจทำให้น้ำอสุจิมีปริมาณมาก

ทั้งนี้ น้ำอสุจิไม่ควรมีปริมาณน้อยกว่า 1.5 มิลลิลิตร หรือมากกว่า 5.5 มิลลิลิตร เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะน้ำอสุจิน้อยกว่าปกติ (Hypospermia) และภาวะน้ำอสุจิมากกว่าปกติ (Hyperspermia) ได้

2. อสุจิอยู่ได้นานแค่ไหน

อสุจิสามารถอยู่ภายในอัณฑะได้นานประมาณ 2 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นอสุจิจะตายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่หากมีการหลั่งอสุจิภายในอวัยวะเพศหญิง อสุจิจะอยู่ได้ประมาณ 5 วันภายในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง

อย่างไรก็ตาม หากหลั่งน้ำอสุจิออกมานอกร่างกายแล้ว อสุจิจะมีชีวิตอยู่นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และตำแหน่งที่อสุจิอยู่ เช่น บนพื้นผิวแห้ง เสื้อผ้าหรือเครื่องนอน อสุจิอาจแห้งตาย แต่อสุจิมักมีชีวิตยาวนานมากขึ้นในน้ำหรืออ่างน้ำร้อน เนื่องจากอสุจิมักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณอุ่นและชื้นแฉะ

3. สีของน้ำอสุจิบอกอะไรได้บ้าง

น้ำอสุจิปกติมีจะสีเทาหรือสีขาว แต่ในบางครั้ง สีของอสุจิที่เปลี่ยนแปลงไปอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น

  • อสุจิมีสีชมพูหรือน้ำตาลแดง อาจเกิดจากการอักเสบหรือการปะปนของเลือดในต่อมลูกหมากหรือต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicles) หรือการเพิ่งเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก 
  • อสุจิมีสีเหลือง อาจมีเกิดจากการปะปนของปัสสาวะในน้ำอสุจิ ดีซ่าน (Jaundice) หรือภาวะการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวในระดับสูงกว่าปกติ (Leukocytospermia)
  • อสุจิมีสีเหลืองเขียว อาจแสดงถึงการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก

ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษา หากสีของน้ำอสุจิเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 1–2 สัปดาห์ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดอวัยวะเพศ มีไข้ หรือปัสสาวะเป็นเลือด

4. การหลั่งน้ำอสุจิเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้นทางเพศ ท่อนำอสุจิ (Vas Deferens) จะทำหน้าที่ขับน้ำอสุจิจากอัณฑะไปยังท่อปัสสาวะ (Urethra) จากนั้นต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicles) จะปล่อยของเหลวเพื่อผสมเข้ากับน้ำอสุจิที่ท่อปัสสาวะ

เมื่อการเร้าอารมณ์ทางเพศสูงขึ้น ท่อปัสสาวะจะส่งสัญญาณไปยังไขสันหลัง (Spinal Cord) ซึ่งทำหน้าที่ออกคำสั่งให้กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะเพศทำงาน และหลั่งน้ำอสุจิออกจากอวัยวะเพศเมื่อได้รับการกระตุ้นจนถึงจุดสุดยอด

5. น้ำอสุจิกินได้หรือไม่

ส่วนประกอบหลักของอสุจิคือน้ำ ซึ่งมีกรดอะมิโนและโปรตีน น้ำตาลประเภทฟรุกโตสและกลูโคส แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ซิงค์ แคลเซียม วิตามินซี และสารอาหารอื่น ๆ ดังนั้น น้ำอสุจิจึงอาจกินได้ 

ถึงแม้น้ำอสุจิอาจไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจมีเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections: STIs) ปะปนมาได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือใช้อุปกรณ์สำหรับออรัลเซ็กส์ เช่น ถุงยางอนามัย หรือแผ่นอนามัยสำหรับออรัลเซ็กส์ (Dental Dam) และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอสุจิด้วยปากโดยตรง

6. น้ำอสุจิมีรสชาติอย่างไร

น้ำอสุจิมีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสุขภาพและอาหารที่รับประทาน เช่น หากรับประทานผลไม้หรืออาหารที่มีรสหวานอาจทำให้น้ำอสุจิมีรสหวานได้ โดยรสชาติของน้ำอสุจิอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • รสฉุน เกิดจากการรับประทานผลิตภัณฑ์นม เนื้อแดง หน่อไม้ฝรั่ง ช็อกโกแลต อาหารที่มีไขมัน ผักโขม หรือบรอกโคลี
  • รสขม มีผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในต่อมลูกหมากหรือระบบทางเดินปัสสาวะ
  • รสหวาน มักเกิดในผู้ที่มีโรคเบาหวาน หรือจากเครื่องดื่มที่เกิดจากการหมัก เช่น เบียร์ 
  • รสอ่อน มีผลจากอาหารมังสวิรัติ ผลไม้ โดยเฉพาะแอปเปิลและสับปะรด หรือผักที่มีกลิ่นหอม เช่น ขึ้นฉ่าย ผักชีฝรั่ง หรือสะระแหน่

7. น้ำอสุจิมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่

น้ำอสุจิอาจไม่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการมากนัก เนื่องจากการหลั่งในแต่ละครั้งมีปริมาณแคลอรี่และโปรตีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การกลืนน้ำอสุจิขึ้นอยู่กับบุคคลและอาจส่งผลต่อความพึงพอใจ ซึ่งคล้ายกับการมีเพศสัมพันธ์ทั่วไป

8. ต้องใช้อสุจิมากเท่าไหร่ในการตั้งครรภ์

โดยเฉลี่ยแล้วการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้งมักมีจำนวนอสุจิราว 100 ล้านตัว แต่อสุจิเพียง 1 ตัวที่เดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงผ่านทางช่องคลอดและท่อนำไข่หรือปีกมดลูก และสามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ จึงเชื่อกันว่ากระบวนการดังกล่าวคือวิธีการทางธรรมชาติในการคัดเลือกอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุดสำหรับการปฏิสนธิ ซึ่งอาจส่งผลต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง

9. อสุจิแข็งแรงสร้างได้อย่างไร

วิธีการง่าย ๆ ที่ช่วยให้สร้างความแข็งแรงให้กับอสุจิมีดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงอสุจิ
  • จัดการกับความเครียด ความเครียดอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนที่ใช้ในการผลิตอสุจิได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเลือกรับประทานผักหรือผลไม้ ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้กับอสุจิ
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักอาจมีผลต่อการลดลงของปริมาณและประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของอสุจิ
  • ป้องกันการติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หนองในแท้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีลูกยากในผู้ชาย 

ทั้งนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้อสุจิอ่อนแอ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ความร้อน หรือสารเคมี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และการสร้างอสุจิลดลง อีกทั้งยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
  • งดสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่มักมีแนวโน้มที่ร่างกายจะสร้างอสุจิในปริมาณน้อย ทั้งยังอาจมีผลต่อลักษณะรูปร่างและการเคลื่อนไหวของอสุจิอีกด้วย 
  • ระมัดระวังการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารพิษต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของอสุจิ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยอาจสวมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันตนเอง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง
  • รักษาระดับอุณหภูมิบริเวณอัณฑะ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นบริเวณถุงอัณฑะอาจกระทบต่อการผลิตอสุจิ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการเลือกใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ หลีกเลี่ยงการแช่อ่างน้ำร้อน หรือวางคอมพิวเตอร์บนหน้าตัก 
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ เช่น ยากลุ่มปิดกั้นแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgens) ยาอนาโบลิคเสตียรอยด์ (Anabolic Steroids) 
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษาโรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉายรังสี เพราะวิธีการรักษาดังกล่าวอาจส่งผลต่อการผลิตอสุจิ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะไม่เจริญพันธุ์อย่างถาวรด้วย 

10. อายุที่เพิ่มขึ้นมีผลต่ออสุจิหรือไม่

เพศชายสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดชีวิต โดยปริมาณของอสุจิอาจลดลงเมื่ออายุเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังสามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้หากอสุจิมีความแข็งแรงมากพอ