อะดรีนาลีน คือฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไตหลั่งออกมาเพื่อตอบสนองปฏิกิริยาของร่างกายที่สั่งให้ต่อสู้หรือหนีเมื่อตกอยู่ในเหตุการณ์อันตราย ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว บีบตัวแรง และหลอดลมในปอดขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ยังนำอะดรีนาลีนสังเคราะห์หรือที่เรียกว่าเอพิเนฟริน (Epinephrine) มาใช้รักษาภาวะ Anaphylaxis ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน หรือกระทั่งใช้ในระหว่างการผ่าตัดตาและรักษาผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น
Anaphylaxis เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและมีอันตรายถึงชีวิต ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ทางเดินหายใจแคบลง ชีพจรเต้นอ่อน หายใจไม่ออก คลื่นไส้ และอาเจียน อาจมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร ยา สารบางชนิด หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอะดรีนาลีนอย่างเร่งด่วน โดยยานี้จะช่วยให้หลอดเลือดหดตัวและทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตไม่ลดต่ำและหายใจได้สะดวก อาการของผู้ป่วยจึงไม่แย่ลงระหว่างรอเข้ารับการรักษาจากแพทย์ต่อไป
ใช้อะดรีนาลีนรักษา Anaphylaxis อย่างไรให้ปลอดภัย
แพทย์จะสั่งจ่ายอะดรีนาลีนแบบฉีดให้ผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรงเฉียบพลันพกติดตัวไว้ ผู้ป่วยจึงควรเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีใช้ การเก็บรักษา ข้อควรระวังต่าง ๆ และผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาอย่างสูงสุด
วิธีใช้อะดรีนาลีน
- ก่อนฉีดอะดรีนาลีน
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาและปัญหาสุขภาพของตนเอง รวมทั้งสอบถามวิธีการใช้อะดรีนาลีนอย่างถูกต้อง เนื่องจากอะดรีนาลีนอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางตัวหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการได้ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ ปัญหาเกี่ยวกับไตหรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น
- อ่านเอกสารกำกับยาที่แนบมาด้วยให้ละเอียดเพื่อทำความเข้าใจวิธีการใช้
- ควรพกอะดรีนาลีนสำหรับฉีดในกรณีฉุกเฉินติดตัวไว้ 2 เข็ม เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับถึง 2 เข็ม จึงจะควบคุมอาการแพ้ได้
- ตรวจดูให้แน่ใจว่าอุปกรณ์สำหรับฉีดและเอกสารกำกับยาที่พกติดตัวนั้นเป็นยี่ห้อเดียวกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อมีวิธีใช้แตกต่างกันไป
- ขั้นตอนการฉีดอะดรีนาลีน
- ฉีดอะดรีนาลีนเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านนอก โดยสามารถฉีดผ่านเสื้อผ้าที่ไม่หนามากได้ในกรณีที่จำเป็น
- โทรเรียกรถฉุกเฉินเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
- ห้ามฉีดอะดรีนาลีนที่นิ้วมือ มือ หรือเท้า เนื่องจากจะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวน้อยลง หากพลาดไปฉีดยาบริเวณดังกล่าว ควรพาผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
- หลังฉีดอะดรีนาลีน
- เก็บเข็มและอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดอะดรีนาลีนไว้กับตัว
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาขึ้น และควรมีคนคอยเฝ้าดูอาการระหว่างรอรถพยาบาล
- ผู้ป่วยอาจลุกขึ้นนั่งหากหายใจไม่ออก
- ฉีดอะดรีนาลีนเข็มที่ 2 หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5-15 นาที หลังฉีดเข็มแรก
- วิธีเก็บรักษาอะดรีนาลีน
- เก็บอะดรีนาลีนไว้ในที่แห้งและไม่อับชื้น
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เลี่ยงการวางในที่ที่แสงแดดส่องถึงหรือโดนความร้อนได้ง่าย เช่น เตาไฟ ช่องเก็บของในรถ เป็นต้น
- ตรวจดูวันหมดอายุบนฉลากยา รวมทั้งดูว่าตัวยามีลักษณะใสและไร้สีตามปกติหรือไม่ หากยาหมดอายุแล้วหรือมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ควรนำมาใช้ต่อไป
ผู้ที่ควรระวังเมื่อใช้อะดรีนาลีนรักษา Anaphylaxis
การใช้อะดรีนาลีนรักษาอาการแพ้อย่างรุนแรงแบบ Anaphylaxis นั้นมีข้อควรระวังหลายประการ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- มีอาการแพ้อะดรีนาลีน ยาที่มีส่วนผสมบางอย่างเหมือนอะดรีนาลีน หรือซัลไฟต์
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- มีปัญหาสุขภาพหัวใจ
- มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
- มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและการหายใจ
- มีปัญหาสุขภาพจิต หรือสมองได้รับความเสียหาย
- มีปัญหาด้านการมองเห็น หรือมีความดันลูกตาสูง
- มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
- มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ แคลเซียมในเลือดสูง หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับไตขั้นรุนแรง
- มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- เด็กเล็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 30 กิโลกรัม
ผลข้างเคียงจากการใช้อะดรีนาลีนรักษา Anaphylaxis
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะสั่งจ่ายอะดรีนาลีนหลังจากพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยจะได้รับประสิทธิภาพทางการรักษามากกว่าเสี่ยงเกิดผลข้างเคียง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถใช้ยานี้โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีอาการแพ้ยาอะดรีนาลีนได้ เช่น มีผื่นขึ้น หายใจไม่สะดวก ง่วงซึม รู้สึกระคายเคืองหรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก คอ เป็นต้น
นอกจากนี้ อะดรีนาลีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดปกติ เหงื่อออก มีอาการสั่น ผิวซีด รู้สึกอ่อนแรง ท้องปั่นป่วน วิตกกังวล เป็นต้น ผู้ที่มีอาการแพ้หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที