อันตรายจากยาดองที่ควรระวังก่อนดื่ม

ยาดองอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยมาช้านาน โดยกล่าวกันว่าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายในหลายด้าน แต่จริง ๆ แล้ว การดื่มยาดองนั้นมีความเสี่ยงและอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะยาดองที่ใช้ส่วนผสมไม่เหมาะสม หรือเมื่อดื่มยาดองในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน

ยาดองเป็นการนำแอลกอฮอล์และสมุนไพรบางชนิดมาผ่านกรรมวิธีการหมัก ต้ม หรือกลั่นภายในครัวเรือน เพื่อดึงสารออกฤทธิ์ของตัวยาในสมุนไพรออกมา โดยสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ก็เช่น ม้ากระทืบโรง กำลังเสือโคร่ง โด่ไม่รู้ล้ม หรือกำลังช้างสาร และในบางสูตรยังอาจผสมสัตว์มีพิษหรือสารเคมีบางชนิดเข้าไปด้วย  

อันตรายจากยาดองที่ควรระวังก่อนดื่ม

โดยมีความเชื่อว่า การดื่มยาดองที่มีส่วนผสมดังกล่าวช่วยให้มีเรี่ยวแรง แก้ปวดเมื่อย บำรุงเลือด หรือช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทว่าการผลิตยาดองที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้ส่วนผสมที่มีพิษหรือเป็นอันตราย หรือพฤติกรรมการดื่มยาดองในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นโทษต่อร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือการทำงานได้

อันตรายจากยาดองที่ควรรู้

การดื่มยาดองอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายอันเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1. เมทานอล (Methanol)

แม้แอลกอฮอล์จะเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตยาดอง แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทุกชนิดที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยแอลกฮอล์ชนิดที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องดื่ม อาหาร ยา หรือเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ได้คือ เอทานอล (Ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง 

ด้วยปัญหาเรื่องต้นทุนนี้เอง ทำให้ผู้ผลิตยาดองอาจเลือกใช้แอลกอฮอล์ชนิดอื่นที่มีราคาต่ำกว่า นั่นก็คือ เมทานอลหรือเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ที่ใช้เป็นตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยอาจไม่รู้เลยว่าแอลกอฮอล์ชนิดนี้เป็นพิษต่อร่างกายอย่างมาก

เพียงดื่มเมทานอลในปริมาณ 30–240 มิลลิลิตร ก็อาจต้องเผชิญกับภาวะพิษจากเมทานอล (Methanol Poisoning) ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร หรือการมองเห็น ทำให้มีอาการ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นเป็นภาพเบลอ สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมด หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ ชัก โคม่า และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

2. สัตว์มีพิษและสารอันตราย

หลายคนอาจไม่ทราบว่าผู้ผลิตยาดองบางรายนำสัตว์มีพิษ เช่น แมงป่อง คางคก และสารเคมี เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือผงซักฟอก มาใช้ในการผลิตยาดองด้วย โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายหรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 

โดยยาดองสูตรเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายและอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ รู้สึกสับสน ง่วงซึม แขนขาอ่อนแรง ชัก หัวใจเต้นผิดปกติ หมดสติ ไปจนถึงเสียชีวิต โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ

3. การติดยาดอง

พฤติกรรมการดื่มยาดองอย่างไม่เหมาะสมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภค เพราะหากดื่มยาดองในปริมาณมากและดื่มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ แม้จะเลือกใช้แอลกอฮอล์ชนิดที่ปลอดภัยอย่างเอทานอล ก็อาจเสี่ยงต่อการติดยาดองหรือป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง   

เมื่อการดื่มยาดองกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคม ผู้ป่วยก็ควรเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามโรงพยาบาลใกล้บ้าน สถานบำบัดของภาครัฐบาล หรือติดต่อสายด่วนยาเสพติด 1165 เพื่อฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง และเลิกดื่มยาดองรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ให้ได้ถาวร  

ยาดองส่วนใหญ่มักถูกจำหน่ายผ่านซุ้มยาดองหรือผลิตภายในครัวเรือน บางส่วนไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต หรือผู้ผลิตปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร และไม่มีใบประกอบโรคศิลปะในด้านนี้โดยตรง ยาดองเหล่านี้จึงมักไม่ได้มาตรฐานและอาจปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การดื่มยาดองอย่างปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้หากผู้บริโภคดื่มจากแหล่งผลิตที่ถูกต้องได้มาตรฐาน รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทยหรือผู้มีใบประกอบโรคศิลปะอย่างเคร่งครัด ซึ่งควรดื่มตามปริมาณที่ได้รับคำแนะนำเท่านั้น หากดื่มมากเกินไปอาจทำให้ทรงตัวไม่ได้ สับสน พูดไม่รู้เรื่อง ขาดสติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การใช้ความรุนแรง หรือการทะเลาะวิวาท และไม่ควรดื่มหากต้องขับขี่ยานพาหนะ 

สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิต หรือตับ ผู้ที่แพ้เหล้า ผู้ที่ใช้ยาตามแพทย์สั่ง และสตรีมีครรภ์ ห้ามดื่มยาดองทุกสูตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและทารกในครรภ์ได้