กระดูกทับเส้นหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหมอนรองกระดูกชั้นในเคลื่อนตัวผ่านหมอนรองกระดูกชั้นนอกที่หุ้มอยู่ ออกมากดทับเส้นประสาท โดยอาการกระดูกทับเส้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ที่มักพบคือ อาการปวดหลังและชาที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
หมอนรองกระดูกคืออวัยวะที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีหน้าหลักคือช่วยลดการเสียดสีกันของกระดูกสันหลังขณะเคลื่อนไหว โดยอวัยวะนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นในที่มีลักษณะเหลวและนิ่ม และชั้นนอกที่มีลักษณะเหนียวและคอยช่วยหุ้มชั้นในเอาไว้ โดยอาการกระดูกทับเส้นจะเกิดขึ้นเมื่อหมอนรองกระดูกชั้นในเคลื่อนตัวผ่านหมอนรองกระดูกชั้นนอกออกมากดทับเส้นประสาท
กระดูกทับเส้น เกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุหลัก ๆ ของกระดูกทับเส้นคือการเสื่อมของอวัยวะตามวัย เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกมักเริ่มลดน้อยลง จนส่งผลให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดและเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาทได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากด้านอายุก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะกระดูกทับเส้นเช่นกัน เช่น
- การยกของหนัก โดยเฉพาะเมื่อยกของผิดท่า
- การเกิดอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลัง
- การนั่งในท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง
- ภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เยอะจะยิ่งส่งผลให้หมอนรองกระดูกต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
- การเอี้ยวตัวบริเวณเอวในท่าเดิมซ้ำ ๆ
- การออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมาก ๆ
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะกระดูกทับเส้นได้ เนื่องจากควันบุหรี่อาจส่งผลให้ออกซิเจนถูกลำเลียงไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกได้น้อยลง จนหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อมก่อนวัยได้
อาการกระดูกทับเส้นมีอะไรบ้าง
อาการกระดูกทับเส้นมักแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนและตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งบางคนอาจมีภาวะกระดูกทับเส้นแต่ไม่พบอาการใด ๆ ก็ได้เช่นกัน
ในกรณีที่มีอาการ อาจพบว่าอาการเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย และจะยิ่งรุนแรงขึ้นขณะขยับร่างกาย รวมถึงอาการมักจะไม่ดีขึ้นแม้จะพักร่างกาย โดยอาการที่มักพบได้ เช่น
กรณีหมอนรองกระดูกบริเวณเอวเคลื่อนทับเส้น
กรณีนี้เป็นกรณีที่พบได้บ่อย โดยลักษณะอาการที่มักพบ เช่น
- ปวดหลังบริเวณเอว
- ปวดสะโพก ปวดก้น ปวดขา
- น่องและเท้าชา ร่วมกับอาการขาอ่อนแรง
- บางคนอาจมีอาการรุนแรง อย่างอาการควบคุมปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ร่วมด้วย
กรณีหมอนรองกระดูกบริเวณคอเคลื่อนทับเส้น
กรณีนี้ ผู้ป่วยจะมักพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดบริเวณไหล่และแขน ซึ่งอาการมักจะรุนแรงและลามไปยังบริเวณแขนและขาขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือขณะเคลื่อนไหวร่างกายในบางท่า
- บางคนมีอาการชาตั้งแต่บริเวณไหล่ไล่ลงมาจนถึงบริเวณปลายนิ้วร่วมด้วย
ควรทำอย่างไร หากมีอาการกระดูกทับเส้น
กระดูกทับเส้นเป็นภาวะที่อาจส่งผลให้เส้นประสาทถูกทำลายอย่างถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์ หรือในบางกรณี หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนตัวออกมา าจไปกดทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่างและขา จนส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะและการอุจจาระของตนเองได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
ดังนั้น ผู้ที่สังเกตว่าตนเองมีอาการกระดูกทับเส้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่พบว่าอาการเริ่มแย่ลง ผู้ที่มีอาการควบคุมการขับปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ผู้ที่มีอาการชาตามร่างกาย หรือผู้ที่มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง
โดยการรักษาผู้ที่มีอาการกระดูกทับเส้น แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์มักใช้ก็จะมีตั้งแต่การให้ยารับประทาน การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาบริเวณเส้นประสาท ไปจนถึงการผ่าตัดหมอนรองกระดูก