อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) หรือที่เรียกว่า พีเอ็มเอส (PMS) คืออาการทางอารมณ์ ร่างกายและพฤติกรรม เช่น หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือเจ็บเต้านม ซึ่งอาการต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วง 1–2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และมักจะหายไปได้เองเมื่อประจำเดือนมา โดยระดับความรุนแรงของอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
อาการก่อนมีประจำเดือน ต่าง ๆ อาจบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง หากมีอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้เขียนบันทึกอาการในช่วง 2–3 เดือนของรอบประจำเดือน เพื่อดูว่าอาการได้เกิดขึ้นเวลาใด นานเท่าไร หรืออาการในแต่ละเดือนเกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างไร และแนะนำการรักษาที่เหมาะสมต่ออาการ
รู้จักสาเหตุของอาการก่อนมีประจำเดือน
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วงก่อนมีประจำเดือน
นอกจากนี้ อาการก่อนมีประจำเดือนอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง อย่างเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ และอาจกระตุ้นให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้ โดยการขาดเซโรโทนินอาจส่งผลเกิดภาวะซึมเศร้าในช่วงก่อนมีประจำเดือน และทำให้เกิดความอ่อนล้า มีความอยากอาหารมากขึ้น หรือทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับได้
วิธีสังเกตอาการก่อนมีประจำเดือนง่าย ๆ
อาการก่อนมีประจำเดือนมักจะเกิดขึ้น 1–2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน โดยอาการและความรุนแรงของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และอาจมีอาการเกิดขึ้นไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการก่อนมีประจำเดือน อาจมีดังนี้
อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม
อาการก่อนมีประจำเดือนทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม อาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือโกรธง่าย
- เครียด วิตกกังวล และไม่มีสมาธิ
- เศร้า ร้องไห้บ่อย
- หิวบ่อยกว่าปกติ
- มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ (Insomnia)
- มีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติ
อาการทางด้านร่างกาย
อาการก่อนมีประจำเดือนอาจส่งผลต่อร่างกายในลักษณะต่าง ๆ เช่น
- มีสิวขึ้น
- เจ็บเต้านม
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องอืด
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
อาการเจ็บปวดทางร่างกายหรือความเครียดที่เกิดขึ้นกับบางราย อาจมีความรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่โดยปกติอาการต่าง ๆ จะหายไปภายในประมาณ 4 วันหลังจากประจำเดือนมา
วิธีรักษาอาการก่อนมีประจำเดือนด้วยตัวเอง
วิธีบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนมีมากมาย แต่บางวิธีอาจจะไม่ได้ผลสำหรับบางคน ผู้ป่วยจึงต้องพยายามลองปฏิบัติให้หลากหลาย เพื่อให้ได้วิธีที่ได้ผลกับตนเองที่สุด โดยวิธีต่าง ๆ อาจมีดังนี้
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน โดยอาจลองออกกำลังกายด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาจช่วยให้อารมณ์ดี และลดอาการอ่อนเพลียได้
- ออกกำลังกายที่ช่วยฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง เช่น โยคะ อาจช่วยลดอาการปวดศีรษะ ความวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน
- พยายามรับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ เช่น พูดคุยกับเพื่อน เล่นโยคะ นวดผ่อนคลายหรือการบำบัดต่าง ๆ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้รู้สึกเศร้าหรือหดหู่ยิ่งขึ้น
- เลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน วิตามินบี 6 แคลเซียม แมกนีเซียม อาจช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนบางอาการได้ ทั้งนี้ ควรลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เกลือ และน้ำตาลมากจนเกินไป
- ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน ยาแอสไพริน หรืออาจใช้ยาที่ยับยั้งการตกไข่อย่างยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากอาการก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น ตะคริว ปวดหลัง และอาการเจ็บเต้านม
ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์ หากอาการก่อนมีประจำเดือนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาการไม่ดีขึ้น หรือพัฒนาไปจนเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) ซึ่งมีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากกว่าอาการก่อนมีประจำเดือน โดยอาจมีสัญญาณอาการต่าง ๆ เช่น ซึมเศร้าอย่างมาก อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย วิตกกังวลและเครียด