ในช่วงตั้งท้อง 1 เดือนแรก คุณแม่อาจไม่เห็นเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองมากนัก แม้ว่าทารกตัวน้อยกำลังเริ่มเติบโตในท้องของคุณแม่แล้วก็ตาม คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจใจจดใจจ่อกับช่วงเวลานี้ พร้อมกับเกิดคำถามมากมายว่าลูกน้อยจะเป็นอย่างไร จะเกิดอาการอะไรบ้าง และควรดูแลตนเองอย่างไรดี
การสังเกตการตั้งท้อง 1 เดือนแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่ควรเริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเจ้าตัวน้อยในครรภ์
โดยบทความนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งท้อง 1 เดือน คุณแม่ที่สงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง และคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อย
อาการคนท้อง 1 เดือนเป็นอย่างไร?
อาการคนท้อง 1 เดือนแรกสังเกตค่อนข้างยาก แน่นอนว่าในช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะยังไม่ขยายใหญ่หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ในทางการแพทย์จะนับการตั้งท้อง 1 เดือนเป็น 4 สัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่หนึ่งและสองจะเป็นช่วงการปฏิสนธิโดยนับจากประจำเดือนรอบสุดท้ายก่อนที่ประจำเดือนขาด
คู่รักหลายคนจึงอาจสับสนได้เกี่ยวกับวิธีการนับ ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 1‒2 สัปดาห์แรกคุณแม่จึงยังไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น หากไปพบแพทย์ แพทย์จะช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับระยะเวลาการตั้งท้อง
ภายหลังการปฏิสนธิ ร่างกายของคุณแม่จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและอาจทำให้เกิดอาการในช่วงครึ่งหลังของการท้อง 1 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 3 และ 4 โดยคุณแม่อาจสังเกตเห็นอาการ เช่น
- เลือดล้างหน้าเด็กจากการลอกตัวของผนังมดลูก โดยคุณแม่อาจพบเป็นรอยเลือดเล็ก ๆ เป็นจุด ๆ ปริมาณน้อยกว่าประจำเดือน คุณแม่บางคนอาจมีเลือดล้างหน้าเด็กปริมาณน้อยมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้
- ปวดเกร็งตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หลังส่วนล่าง และอุ้งเชิงกราน
- ท้องอืด ท้องผูก
- เจ็บเต้านม หัวนมมีสีเข้มขึ้น
- ประจำเดือนไม่มาหลังจากสัปดาห์ที่เกิดการปฏิสนธิ หรือตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป
- แพ้ท้อง หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนอาจพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4
- เหนื่อยล้าอ่อนเพลียมากกว่าปกติ อาการนี้พบได้บ่อยในสัปดาห์ที่ 4 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างต่อเนื่อง
อาการคนท้องระยะแรกอาจคล้ายกับอาการในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS (Premenstral Syndrome) คุณแม่ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการนับสัปดาห์ที่ปฏิสนธิ โดยอาการในช่วงตั้งท้อง 1 เดือนอาจแตกต่างกันในคุณแม่แต่ละคน
หากคุณแม่ไม่แน่ใจและคาดว่าตนเองอาจตั้งท้อง ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของการตั้งท้อง คุณแม่อาจลองซื้อที่ตรวจครรภ์จากร้านขายยาทั่วไป และสอบถามเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้และวิธีอ่านค่าที่ถูกต้อง หรืออีกวิธี คือ การปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
เมื่อคุณแม่ตั้งท้อง 1 เดือน หน้าตาของเจ้าตัวน้อยเป็นอย่างไร?
ในช่วง 1‒2 สัปดาห์แรก เจ้าตัวน้อยยังไม่ก่อตัวขึ้นเพราะเป็นช่วงปฏิสนธิ แต่ภายหลังการปฏิสนธิ หากแพทย์ยืนยันว่าคุณแม่ตั้งท้อง คุณแม่สามารถเข้ารับการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อดูรูปร่างหน้าตาของทารก
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ภาพอัลตราซาวด์จะแสดงให้เห็นจุดเล็ก ๆ เป็นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิที่เรียกว่ามอรูลา (Morula) ในสัปดาห์ที่ 4 มอรูลาจะเปลี่ยนไปเป็นถุงการตั้งครรภ์ (Gestational Sac) ที่มีลักษณะกลมและขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพืช ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป ภายในถุงการตั้งครรภ์นี้จะเกิดตัวอ่อนและพัฒนาต่อไปตามช่วงเวลาจนกลายเป็นทารก
ในช่วงครึ่งหลังของการท้อง 1 เดือน ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3‒4 รวมถึงสัปดาห์ที่ 5 เป็นระยะที่ตัวอ่อนสร้างสมอง ระบบทางเดินประสาท หัวใจ ไขสันหลัง และกระดูกสันหลังขึ้นมาแล้ว และจะเริ่มพัฒนาอวัยวะอื่น ๆ อย่าง แขน ขา ตา และหูตามพัฒนาการทารก
ท้อง 1 เดือน คุณแม่ควรดูแลตนเองอย่างไร?
ไม่ว่าคุณแม่จะทราบแน่ชัดว่าตนเองตั้งท้อง คาดว่าตนเองตั้งท้อง หรือวางแผนที่จะมีเจ้าตัวน้อยอยู่แล้ว ในช่วงก่อนหน้าและในช่วงท้อง 1 เดือน คุณแม่ควรดูแลตนเองเป็นอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งท้อง ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวคุณแม่และเจ้าตัวน้อยด้วย
โดยวิธีการดูแลตนเองในช่วงดังกล่าวสามารถทำได้ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์จะช่วยให้คุณแม่และทารกแข็งแรง รวมทั้งลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งท้องได้ด้วย
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ทำได้ 2 แบบหลัก ๆ ด้วยกัน แบบแรก คือ การตัดและลดปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ลดปริมาณคาเฟอีนต่อวัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี สารพิษ เชื้อโรค และฝุ่นควัน
แบบที่สอง คือ การสร้างสุขภาพที่ดี อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างเหมาะเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ และทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้คุณแม่และทารกแข็งแรง แต่ยังอาจช่วยบรรเทาอาการในช่วงท้อง 1 เดือนแรกด้วย
2. เตรียมสารอาหารให้กับลูกน้อย
ว่าที่คุณแม่อาจต้องเตรียมสารอาหารไว้สำหรับอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งพลังงานที่ต้องใช้ในการอุ้มท้อง คุณแม่ควรคัดสรรและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่หลากหลายและให้พลังงานที่เหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ในช่วงท้อง 1 เดือนและในช่วงเดือนอื่น ๆ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์และสารอาหารสูง ไฟเบอร์จากพืชและการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องผูก และช่วยในการขับถ่าย ซึ่งเป็นอาการที่อาจกวนใจคุณแม่ได้
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายอาหารเสริมวิตามินชนิดต่าง ๆ และกรดโฟลิกเพื่อบำรุงร่างกายของคุณแม่ รวมทั้งบำรุงครรภ์ด้วย ซึ่งคุณแม่ควรใช้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเหมาะสม
3. ปรึกษาแพทย์
หากคุณแม่คิดว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง สามารถเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำและแน่นอนกว่าการตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์ หรือหากคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งท้อง แต่สงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกินหรือการใช้ชีวิต คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน
การไปพบแพทย์ตามนัดจะช่วยให้คุณแม่ทราบการเปลี่ยนของร่างกายและการเติบโตของทารกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจครรภ์ตามเวลานัดยังช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งท้อง หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับทารก โดยแพทย์จะช่วยให้คำแนะนำ คำปรึกษา และวิธีรักษาที่เหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัยให้กับคุณแม่ได้
ในช่วงของการท้อง 1 เดือน อาการและสัญญาณอาจสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้น ซึ่งระหว่างนี้ คุณแม่ควรทำตามการดูแลตนเองในข้างต้น ร่วมกับการทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยอาการที่กล่าวมาเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปในคุณแม่ที่ตั้งท้อง แต่หากพบว่าอาการรุนแรงขึ้น ส่งผลรบกวนการใช้ชีวิต รบกวนการนอนหลับ หรือพบอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดหรือของเหลวออกมาจากช่องคลอดหลังจากประจำเดือนหยุดไปแล้ว เป็นไข้ หนาวสั่น ตาพร่ามัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรืออาเจียนติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์