อาการคันของคนท้อง เป็นอาการที่คุณแม่รู้สึกคันตามร่างกายบ่อยผิดปกติในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง เต้านม และหัวนม โดยอาการนี้อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดความไม่สบายตัว และเป็นกังวลไม่น้อยว่าจะมีอันตรายใด ๆ ต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เป็นปัญหาที่คุณสามารถรับมือได้ เพียงแค่ต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง
อาการคันของคนท้องเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย เนื่องจากช่วงที่กำลังตั้งครรภ์จะเป็นช่วงที่คุณแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้อาการนี้จะส่งผลให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว หรือเป็นกังวล แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการคันในคนท้องมักไม่ได้ส่งผลรุนแรงใด ๆ ต่อร่างกายคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
สาเหตุของอาการคันของคนท้อง
อาการคันของคนท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยคุณแม่หลายคนอาจจะยิ่งรู้สึกคันมากเป็นพิเศษบริเวณหน้าท้อง เต้านม และหัวนม เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่ผิวหนังมักจะมีการขยายตัวตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องก็เช่น
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่ในช่วงกำลังตั้งครรภ์เป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลให้ร่างกายของคุณแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง โดยสิ่งหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ คุณแม่มักจะพบว่าตนเองมักรู้สึกคันตามตัวมากขึ้น อีกทั้งบางคนยังอาจพบว่าตนเองผิวแห้งขึ้น ซึ่งก็จะยิ่งส่งผลให้อาการคันยิ่งรุนแรงขึ้นได้อีก
2. เครื่องแต่งกายที่สวมใส่
เนื้อผ้าบางชนิดของเครื่องแต่งกายที่คุณแม่ตั้งครรภ์สวมใส่อาจจะส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการคันจากการที่ถูกเนื้อผ้าเสียดสีจนเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้
3. สารเคมีบางชนิดจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
สารเคมีบางชนิดจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือสารให้ความหอม อาจส่งผลให้ผิวหนังคุณแม่เกิดการระคายเคือง จนนำไปสู่อาการคันตามผิวหนังได้
4. อาการทางผิวหนังบางชนิด
คุณแม่บางคนในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติบางชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคันได้ เช่น คุณแม่บางคนอาจเกิดภาวะคอเลสเตซิส (Cholestasis) หรือภาวะที่ส่งผลให้น้ำดีไปจับตัวกันอยู่ในกระแสเลือด หรือคุณแม่บางคนก็อาจจะเกิดผื่นบางชนิดในลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ คล้ายสิวบริเวณหน้าท้องในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ได้
วิธีรับมือกับอาการคันของคนท้อง
โดยปกติแล้ว อาการคันของคนท้องมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองหลังจากคลอด แต่การดูแลตัวเองในระหว่างนี้ก็จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น และลดความรู้สึกไม่สบายตัวได้
โดยสิ่งสำคัญสิ่งแรกในการรับมือกับอาการคันของคนท้องคือ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากการเกาอาจยิ่งส่งผลให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาได้อีกด้วย
ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่คุณแม่สามารถทำเพื่อบรรเทาอากาคันได้ก็ได้แก่
- ประคบเย็นที่ผิวหนัง ประมาณครั้งละ 5–10 นาที เพื่อบรรเทาอาการคัน
- พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนจัด เนื่องจากความร้อนอาจยิ่งส่งผลให้อาการคันของคุณแม่ยิ่งแย่ลงได้
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำร้อน
- เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นร่างกายจนเกินไป
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizer) ให้ผิวหนัง แต่ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือน้ำหอมที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการคัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่เสมอ
- ควบคุมความเครียด เนื่องจากอาจมีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าความเครียดอาจจะยิ่งส่งผลให้อาการคันของคนท้องแย่ลง
- ใช้ยาทาแก้คัน เช่น ยาคาลาไมน์ ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
อาการคันของคนท้องในลักษณะที่ควรไปพบแพทย์
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอาการคันของคนท้องจะไม่ได้ส่งผลรุนแรงใด ๆ แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาการคันอาจกำลังบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ ดังนั้น คุณแม่ที่มีอาการเข้าข่ายในลักษณะดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัย
- อาการคันมีความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่ออาการคันเกิดขึ้นที่มือ หรือเท้าร่วมด้วย
- เริ่มมีผื่นขึ้นตามร่างกาย
- พบรอยสะเก็ดร่วมกับอาการคันตามแขน ขา และหน้าท้อง
- คันช่องคลอด
- ผิวหนังและดวงตามีสีออกเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ
- อุจจาระมีสีอ่อน
- คลื่นไส้
- เบื่ออาหาร
- ในกรณีที่คุณแม่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่ก่อนตั้งครรภ์และพบว่าอาการมีความรุนแรงขึ้น
มาถึงตรงนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์คงน่าจะพอทราบถึงสาเหตุ วิธีรับมือ และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ของอาการคันของคนท้องแล้ว ทั้งนี้ วิธีดูแลตัวเองที่ยกตัวอย่างไปนั้นเป็นเพียงวิธีสำหรับดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หากคุณแม่เห็นว่าอาการคันไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยกตัวอย่างไป คุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์รับคำปรึกษา เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และเด็ก