อาการคันคอที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมักทำให้รู้สึกหงุดหงิด เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุย การกินอาหาร และรบกวนเวลานอนหลับ ซึ่งอาการคันคอนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการสูดดมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ไปจนถึงโรคกรดไหลย้อน
ผู้ที่มีอาการคันคอมักรู้สึกคอแห้ง ระคายคอ และเจ็บคอ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ระยะเวลาหายดีก็อาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากทราบสาเหตุของอาการคันคอและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมก็จะช่วยให้อาการคันคอหายเร็วยิ่งขึ้น
อาการคันคอเกิดจากอะไรบ้าง
อาการคันคอมักเป็นสัญญาณบ่งบอกอาการเจ็บป่วย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้
โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการคันคอ โดยเกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อาทิ ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช เชื้อรา ขนและรังแคจากสัตว์ อาหารบางชนิด อย่างไข่ ถั่ว และนม รวมทั้งยาบางชนิด เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำว่าเป็นสารที่อันตรายต่อร่างกาย จึงพยายามที่จะกำจัดสารนั้นออก
โดยอาการแพ้อาจเกิดได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ได้แก่ อาการระคายคอ รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในลำคอ และไอแห้ง ร่วมกับน้ำมูกไหล จาม เคืองตา ใบหน้าบวม และอาการทางผิวหนัง อย่างผื่นแดงและคัน บางคนอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การสูดดมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองพบได้ทั่วไปทั้งในบ้านและนอกบ้าน อาทิ สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านและยาฆ่าแมลง น้ำหอม ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ และควันจากท่อไอเสียรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายคอ ไอ จาม และเคืองตา หากหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเหล่านี้จะช่วยลดอาการคันคอได้
โรคระบบทางเดินหายใจ
อาการคันคออาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
- โรคหวัด เกิดจากการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งไอมีเสมหะและไอแห้ง ซึ่งอาการไอมักดีขึ้นหลังหายจากหวัดภายใน 7–10 วัน แต่บางคนอาจมีอาการไอได้นานถึง 2 เดือนหลังจากหายหวัด
- โรคหืด หรือหลายคนเรียกว่าหอบหืด เกิดจากการที่หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสิ่งแปลกปลอมจะทำให้หลอดลมเกิดการหดตัวหรือตีบแคบ จึงมักมีอาการไอเรื้อรังต่อเนื่อง 2–3 สัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงเช้าและกลางคืน
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลม และอาจมีอาการคันคอและไอตามมา โรคนี้จะมีทั้งหลอดลมอักเสบเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด และหลอดลมอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน และการสูดดมสารเคมีเป็นประจำ
กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารหย่อนตัวผิดปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จึงเกิดอาการคันคอและไอเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการไอหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัว การยกของหนัก และการนอนหงาย
คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนมักรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หน้าอก และลำคอ บางคนอาจรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ จึงพยายามกระแอมบ่อย ๆ เสียงแหบ และเจ็บคอร่วมด้วย
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคันคอหรือระคายเคืองคอ เช่น การอยู่ในสภาพอากาศแห้งและเย็น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และผลข้างเคียงของยาบางชนิดอย่าง ยาในกลุ่ม ACEI (Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitor) ซึ่งเป็นยารักษาความดันโลหิตสูง เป็นต้น
บรรเทาอาการคันคออย่างไรดี
การดูแลตัวเองจะช่วยลดอาการคันคอและอาการไอได้ โดยดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันตามเพศ อายุ และกิจกรรมที่ทำ แต่โดยเฉลี่ยควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน ในวันที่สภาพอากาศเย็นหรืออยู่ในห้องที่มีอากาศแห้งควรดื่มน้ำให้มากขึ้น และใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (Humidifier) ซึ่งจะช่วยลดอาการคันคอได้
ผู้ที่มีอาการคันคอและไอจากหวัด ควรดื่มน้ำอุ่น ชาสมุนไพร หรือซุปอุ่น ๆ อมลูกอมแก้เจ็บคอหรือใช้สเปรย์ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือใช้น้ำเกลือบรรจุขวดแบบสำเร็จรูปตามร้านขายยา ซึ่งจะช่วยให้คอชุ่มชื้นและลดอาการระคายคอ
คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น จำกัดปริมาณอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะมื้อเย็น ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเปรี้ยวและเผ็ดจัด และงดดื่มเคื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม เป็นต้น
คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หมั่นทำความสะอาดบ้านและปิดประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ในอากาศลอยเข้ามาในบ้าน และใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งอาจช่วยลดอาการคันคอที่เป็นหนึ่งในอาการของโรคภูมิแพ้ได้
แม้อาการคันคอจะไม่ใช่อาการรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เป็นอาการที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการคันคอเป็นเวลาหลายวันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษา และหากอาการคันคอแย่ลง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจหรือกลืนลำบาก ควรไปพบแพทย์ทันที